โครงการบ้านประชารัฐ โครงการภาครัฐที่สนับสนุนประชาชนชาวไทยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งได้ผ่านการอนุมติจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2559ที่ผ่านมา โดยโครงการนี้จะดำเนินต่อไปภายใต้ระยะ 2 ปี TerraBKK ได้สรุปข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ โครง การบ้านประชารัฐ ทั้งในด้าน คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ ,ธนาคารที่เกี่ยวข้อง, ประเภทสินเชื่อ ตลอดจน ผู้ประกอบการอสังหา ภาครัฐเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ รายละเอียดดังนี้

บ้านประชารัฐ คืออะไร

โครงการ บ้านประชารัฐ เป็นโครงการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์จากรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ทั้งรายได้ประจำและอาชีพอิสระ ที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์มาก่อน ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง รวมถึงการซ่อมแซม/ต่อเติมที่อยู่อาศัย ผ่านสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนจากสถาบันการเงินของรัฐ รวม 70,000 ลบ. ออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) จำนวน 30,000 ลบ. แก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชน ผ่าน 3 ธนาคาร คือ ธอส.,ออมสิน,กรุงไทย (ธนาคารละ 10,000 ลบ.)
  • สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) จำนวน 40,000 ลบ. แก่ประชาชนกู้ซื้อบ้าน ผ่าน 2 ธนาคาร คือ ธอส.,ออมสิน (ธนาคารละ 20,000 ล้านบาท)

ซึ่งบ้านหรืออาคารที่เข้าร่วมโครงการ บ้านประชารัฐ ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งลักษณะสร้างบนที่ดินตนเอง, โครงการเอกชน ,โครงการที่สร้างบนที่ดินของรัฐ ทั้งประเภทซ่อมแซม/ต่อเติม , สร้างใหม่, สร้างเสร็จพร้อมอยู่ และทรัพย์สินรอการขาย (Non-Performing Assets: NPAs) ของสถาบันการเงิน,บริษัทบริหารสินทรัพย์ และกรมบังคับคดี ภายใต้ ระยะเวลาโครงการ 2 ปี นับจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีอนุมัติ (วันที่ 22 มีนาคม 2559)

ฝั่งผู้ซื้อ : ประชาชนผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ

โครงการ บ้านประชารัฐ ได้ระบุหลักเกณฑ์ประชาชนที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ หากใครที่ผ่านคุณสมบัติดังกล่าวสามารถยื่นกู้ได้ที่ธนาคารร่วมโครงการ ได้แก่ ธอส. และ ออมสิน โดยหลักเกณฑ์ผู้เข่าร่วมโครงการมีรายละเอียดดังนี้

  • ประสงค์จะ ซื้อบ้าน/ เช่าซื้อ/สร้างใหม่ ราคาไม่เกินหลังละ 1,500,000 บาท และต้องเป็น บ้านหลังแรก เท่านั้น
  • ผู้ขอสินเชื่อ ไม่เคยมีชื่อเป็นเจ้าของบ้านมาก่อน ยกเว้นว่า จะเป็นการซ่อมแซมหรือต่อเติมที่อยู่อาศัย และต้องมีชื่อเป็น "ผู้อยู่อาศัย" ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 3 ปี ยกเว้น มีชื่อเป็นเจ้าบ้านแต่พิสูจน์ได้ว่าไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านนั้น

ทั้งนี้ นอกจากคุณสมบัติผู้กู้ต้องผ่านเกณฑ์ข้างต้นแล้ว จะต้องพิจารณาทรัพย์ที่ซื้อด้วยว่า เข้าหลักเกณฑ์กำหนดหรือไม่? นั้นคือ ผู้ประกอบการรายนั้นจะต้องให้ ส่วนลดพิเศษให้แก่ผู้ซื้อ 2% จากราคาขายสุทธิ ทำให้วงเงินขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้านลดลง, ฟรีค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจำนอง
, ฟรีค่าส่วนกลาง 1 ปี ผู้ซื้อต้องตรวจสอบเอกสารแนบท้ายสัญญาว่าปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวจริง หากไม่เป็นเช่นนั้น ธนาคารจะไม่สามารถปล่อยกู้ได้

ฝั่งสินเชื่อ : ธนาคารผู้อนุมัติสินเชื่อโครงการ

สำหรับธนาคารสนับสนุนสินเชื่อโครงการ บ้านประชารัฐ นี้จะเป็นสถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธอส.,ออมสิน และ กรุงไทย รายละเอียดดังนี้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

  • สินเชื่อพัฒนาโครงการ 10,000 ลบ. คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1-2 เท่ากับ 4 % ต่อปี ปีที่ 3 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า MLR – 1% ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 6.65% ต่อปี)
  • สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 20,000 ลบ. สำหรับประชาชนทั่วไป แบ่งเป็น 2 กรณี
      • กรณี กู้ซื้อ/ก่อสร้าง บ้านไม่เกิน 700,000 บาท และกู้ซ่อมแซม/ต่อเติมวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 1 ปีแรก ปีที่ 2 – 3 อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ปีที่ 4-6 อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี และปีที่ 7 จนถึงตลอดอายุสัญญา อัตราดอกเบี้ย MRR–0.75% ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ 6.75% ต่อปี)
      • กรณี วงเงินกู้มากกว่า 700,000 บาทแต่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1-3 เท่ากับ 3% ต่อปี ปีที่ 4–6 อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี และปีที่ 7 จนถึงตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้าสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR–1% ต่อปี และกรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป อัตราดอกเบี้ย MRR–0.75% ต่อปี โดยผู้กู้ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน ยกเว้นกรณีซ่อมแซมหรือต่อเติมที่อยู่อาศัย
    สัดส่วนความสามารถชำระหนี้ต่อรายได้
      (Debt Service Ratio หรือ DSR) จะพิจารณาเพิ่มสูงสุดไม่เกิน 50% ของรายได้สุทธิต่อเดือน กรณีลูกค้ารายย่อย/ลูกค้าสวัสดิการที่ทำข้อตกลงหักเงินเดือนกับธนาคารจะใช้ DSR ที่ 80% ของรายได้สุทธิ ผ่อนชำระนานสูงสุด 30 ปี สามารถติดต่อยื่นคำขอกู้ได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ

>> รายละเอียดเพิ่มเติ่ม click …

ธนาคารออมสิน

  • จัดสรรวงเงิน 20,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปสำหรับซื้อบ้านใหม่หรือที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่ และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ของสถาบันการเงิน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ หรือบ้านมือสอง ที่เข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐ รวมทั้งต่อเติม/ซ่อมแซมอาคารในที่ดินของตนเอง
  • คุณสมบัติผู้กู้ จะเป็นผู้มีรายได้ประจำ และผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอนหรืออาชีพอิสระ อายุ 20 ปีขึ้นไป สูงสุดไม่เกิน 65 ปี (นับรวมระยะเวลาชำระเงินกู้) ที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ยกเว้น การซ่อมแซม/ต่อเติมที่อยู่อาศัย ไม่เคยเป็น "เจ้าบ้าน" และต้องมีชื่อเป็น "ผู้อยู่อาศัย" ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 3 ปี ยกเว้น มีชื่อเป็นเจ้าบ้านแต่พิสูจน์ได้ว่าไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านนั้น >> ทั้งนี้ มีผู้เสนอสิทธิ์ยื่นกู้โครงการเกินอัตรากำหนด ทางธนาคารปิดรับไปเรียบร้อยแล้ว

ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงไทยสนองนโยบาลสนับสนุน สินเชื่อประเภทพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) จำนวน 10,000 ลบ. สำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาโครงการ 2 ปี โดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนใน ตลท. จะให้กู้ในลักษณะกู้ร่วมของ 3 ธนาคาร (กรุงไทย,ออมสิน และธอส.) โดยธนาคารกรุงไทย จะทำหน้าที่เป็นผู้นำในการปล่อยกู้และเป็นตัวแทนหลักประกัน ส่วนผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นกับการพิจารณาของธนาคาร

ฝั่งผู้ขาย : ผู้ประกอบการอสังหาฯเข้าร่วมโครงการ

สำหรับเงื่อนไขผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการ บ้านประชารัฐ นั้น นอกจากทรัพย์จะต้องมีราคาไม่เกิน 1.5 ลบ.แล้ว ผู้ประกอบการจะต้องรับภาระค่าโอนร้อยละ 2 ของราคาที่อยู่อาศัย ,ค่าจำนองร้อยละ 1 ของมูลค่าจำนอง และรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง 1 ปี รวมทั้งให้ส่วนลดพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 จากราคาขายสุทธิหลังหักส่วนลดปกติด้วย ซึ่งขณะนี้ก็มีองค์กรภาครัฐภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการ บ้านประชารัฐ ไม่น้อยเลยทีเดียว ยกตัวอย่างดังนี้

    • กรมธนารักษ์ : นำร่องที่ดินซอยวัดไผ่ตัน บริเวณใกล้บีทีเอสสะพานควาย สำหรับข้าราชการและพนักงานของรัฐเช่าอาศัย 3,000 บาท/เดือน ด้วยสัญญาเช่าระยะสั้นปีต่อปี
    • การเคหะแห่งชาติ : คัดเลือกกว่า 280 โครงการ 26,704 ยูนิตเข้าร่วมโครงการ เปิดจองโครงการส่วนกลางที่สำนักงานใหญ่คลองจั่น 12-16 พค. 59 และต่างจังหวัด 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ,อยุธยา, บุรีรัมย์, ชลบุรี และกระบี่ วันที่ 12-21 พค. 59 ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่า กรณีทรัพย์ราคาไม่เกิน 7 แสนบาท สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 40,000 บาทเท่านั้น กรณีทรัพย์ราคาตั้งแต่ 700,001-1,500,000 บาท ไม่จำกัดรายได้
    • พฤกษา เรียลเอสเตท : เข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐรวมทั้งสิ้น 16 โครงการ จำนวน 4,488 ยูนิต มูลค่ารวมกว่า 4,700 ลบ. แบ่งเป็นทาวน์เฮาส์กว่า 357 ยูนิต (มูลค่า 485 ลบ.) และคอนโดมิเนียมกว่า 4,131 ยูนิต (มูลค่า 4,215 ลบ.) ดังนี้ >> รายละเอียดเพิ่มเติ่ม click …

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก