อีกครั้งหนึ่งที่เราจะมีพูดถึงนักลงทุนผู้ที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งของโลกและได้ทิ้งองค์ความรู้ต่างๆ ถ่ายทอดผ่านหนังสือหลายเล่มให้เราได้ศึกษากัน บุคคลท่านนี้ก็คือ William J. O'Neil (วิลเลียม เจ โอนีล) ชื่อของ William J. O'Neil เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากการที่สำนักพิมพ์ Nsix ได้มีการแปลหนังสือ How to Make Money in Stocks ออกมาเป็นภาษาไทย ถ้าให้พูดถึงผลงานของโอนีลในช่วงที่ผ่านมาช่วงปี 1962 – 1963 เขาสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 4,000% ด้วยเงินลงทุนเพียง 5,000 USD ให้กลายเป็น 200,000 USD ซึ่งในขณะนั้นเขาทำงานเป็นนักวิเคราะห์อยู่ในบริษัทหลักทรัพย์ หลังจากนั้นเข้าได้ลาออกเพื่อมาก่อตั้งบริษัท William O’Neil & Co. และยังเป็นผู้ก่อตั้งและเจ้าของหนังสือพิมพ์ Investor Business Daily (IBD) หนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการลงทุนที่นำเสนอข้อมูลที่อาศัยหลักการของ CANSLIM ซึ่งเป็นแนวคิดที่ William J. O'Neil คิดค้นและพัฒนาต่อยอดขึ้นมาซึ่งในบทความนี้ TerraBKK Research จะพาท่านไปพบกับแนวทางการลงทุนระบบ CANSLIM ที่ทาง William J. O'Neil คิดค้นขึ้น มีรายละเอียดดังนี้

ระบบ CANSLIM เป็นระบบการลงทุนในหุ้นที่อาศัยข้อมูลปัจจัยพื้นฐานและทางเทคนิคเข้ามาช่วยผสมผสานเพื่อใช้ในการคัดเลือกหุ้นที่แข็งแกร่งกว่าตลาด ทำให้รูปแบบการลงทุนที่ William J. O'Neil ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติจะเป็นการลงทุนในรูปแบบ Hybrid Investment ซึ่งต้องผ่านการเรียนรู้และศึกษาประวัติศาสตร์ของหุ้นผู้นำที่เป็นผู้ชนะทียิ่งใหญ่ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ลักษณะเฉพาะทั้งหมดของหุ้นที่ประสบความสำเร็จให้ได้มากที่สุด แนวทางทั้งหมดได้ถูกขมวดและย่อยออกมาเป็นคำสั้นๆ ด้วยตัวอักษรเพียง 7 ตัวได้แก่ C-A-N-S-L-I-M แต่ละตัวอักษรมีความหมายที่ลึกซึ้งซ้อนอยู่ ดังต่อไปนี้

C : Current Big or Accelerating Quarterly Earning per Sales (กำไรและยอดขายต่อหุ้นไตรมาสปัจจุบันที่สูงหรือมีการเติบโตที่มากขึ้น) การเคลื่อนไหวของราคาที่รุนแรงมักจะมาพร้อมกับกำไรที่รุนแรงเสมอ โดยกำไรของไตรมาสล่าสุดเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเปอร์เซ็นต์ที่สูง โดยกำไรที่เราต้องดูคือ กำไรต่อหุ้น(Earning per Share หรือ EPS)เราจะใช้ Quarterly EPS ซึ่งไม่ได้รวมกำไรจากไตรมาสก่อนหน้าและต้องมี EPS Growth อยู่ที่ระดับ 18% ขึ้นไป (25-30% จะดีที่สุด) ถ้าไตรมาสนั้นมีกำไรพิเศษให้ตัดกำไรพิเศษออกไป และให้ระวังปัจจัยเรื่อง Seasonal ด้วย เพราะอาจจะเป็นกำไรที่ไม่แน่นอนนั่นเอง นอกจากนั้นกำไรที่เพิ่มขึ้นต้อง เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มีกว่ายอดขายที่เพิ่มขึ้นด้วย เช่น ถ้ากำไรโต 15% แต่ยอดขายโต 30% แบบนี้ก็น่าสนใจ ดังนั้น ยอดขายต้องรองรับกับกำไรเสมอ การลดลงขอกำไรเพียงไตรมาสเดียวอาจจะไม่ส่งผลมากนัก แต่การลดลงของกำไร 2 ไตรมาสติดต่อกันให้เลี่ยงไว้ก่อน และถ้ามีการลดลงของกำไรมากกว่าครึ่งหนึ่งของกำไรก่อนหน้าให้เลี่ยงเช่นกัน

A : Annual Earning Increase (กำไรประจำปีที่เพิ่มขึ้น) ในส่วนของกำไรในที่นี้ใช้กำไรต่อหุ้น (Earning per Share หรือ EPS) เช่นเดิม โดยกำไรต่อหุ้นจะต้องโตในสามปีหลังสุด และกำไรต่อหุ้นต้องโตมากกว่า 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ถ้าเกิดพบว่ากำไรต่อหุ้นลดลงก็สามารถลดลงได้ แต่ปีต่อไปต้องทำ EPSNew High (กำไรลดลง 1 ปีจาก 5 ปีก็ไม่เป็นไร) การดู EPS อย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ยังต้องมีระดับ ROE มากกว่าตั้งแต่ 17% เป็นต้นไป และต้องดูกระแสเงินสดต่อหุ้นที่บวกค่าเสื่อมราคาคืนเข้าไปด้วยเพื่อให้มันสะท้อนเงินสดที่แท้จริงของบริษัท โดยกระแสเงินสดอาจจะมีกระแสเงินสดสูงกว่ากำไรต่อหุ้นถึง 20% ได้ สำหรับบริษัทที่มีอัตรากำไรต่อหุ้นโตลดลงจากเดิมที่โต 30% เหลือ 10%, 15% ก็ให้เลี่ยงเช่นกัน และโอนีล ยังย้ำว่า PE ไม่สำคัญ สำคัญที่ EPS Growth

N : New Companies, New products, New management, New highs Properly Formed Chart Bases (บริษัทใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ การบริหารจัดการใหม่ จุดสูงสุดใหม่จากฐานราคาที่เหมาะสม) หุ้นผู้นำที่จะเกิดการวิ่งของราคาครั้งใหญ่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวกับ เทคโนโลยีใหม่ๆ สภาวะการณ์ใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของผู้คน นอกจากนั้นสิ่งใหม่ๆ ยังรวมถึง การที่ราคาทำจุดสูงสุดใหม่ด้วย แต่ส่วนใหญ่นักลงทุนจะไม่ชอบซื้อหุ้นราคาสูงๆ ที่ทำจุดสูงสุดใหม่

สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจ คือ William J. O'Neil ได้ทำการซื้อขายหุ้นในตลาดอเมริกาซึ่งอเมริกาทำให้ถือเป็นดินแดนแห่งโอกาส เทคโนโลยีใหม่ๆ มีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ตัว N เข้ามามีส่วนมากในการตัดสินใจซื้อขาย แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีขนาดนั้นอาจจะทำให้หาหุ้นที่เข้าข่ายตัว N ยากซักหน่อย

S : Supply and Demand (อุปทานและอุปสงค์) จำนวนหุ้นมาก กับจำนวนหุ้นน้อยให้ความสำคัญที่แตกต่างกัน หุ้นน้อยๆ ทำราคาได้ง่ายกว่าหุ้นมากๆ การแตกพาร์ทำให้บริษัทกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจาก Supply ในตลาดมากเกินไป ดังนั้น การแตกพาร์ไม่ควรแตกมากเกินไปเพราะจะทำให้หุ้นมากเกินไป ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ 500 ล้านหุ้นกับ 5,000 ล้านหุ้น ตัวไหนทำราคาง่ายกว่าแน่นอน 500 ล้านหุ้น ยิ่งไปกว่านั้นหุ้นที่มีการซื้อหุ้นคืนคือหุ้นที่ดี โอนีลยังบอกอีกว่าบริษัทที่มีหุ้นกู้แปลงสภาพจะทำให้ EPS ลดลงให้ระวัง

ส่วนเรื่องของการประเมิน Demand & Supply เมื่อราคาเพิ่มสูงขึ้น Volume ต้องเพิ่มสูงขึ้นตาม (เป็นแรงซื้อจากสถาบัน) เมื่อราคาลง Volume ลดลงแสดงว่าไม่มีแรงกดดันจากแรงขาย การเพิ่มทะลุขึ้นของราคาต้องมี Volume Support มากกว่า 40% จากช่วงก่อนหน้า นอกจากนั้นอย่าลืมดูด้วยว่าตลาดช่วงนั้นกำลังเล่นหุ้น Small Cap หรือ Big Cap

L : Leaders and Laggard (ผู้นำหรือผู้ตาม) โอนีลแนะนำว่าในช่วงที่ตลาดกระทิงจะมีหุ้นทรงพลังเป็นจำนวนมาก การที่เราใช้อารมณ์เข้ามาตัดสินใจเลือกหุ้นเราจะได้หุ้นคุณต่ำและล้าหลัง และยังไปกว่านั้นยิ่งซื้อหุ้นราคาต่ำๆ ในตลาดกระทิงคุณจะได้หุ้นคุณภาพแย่มาแทน สำหรับแนวคิดที่ว่าซื้อหุ้นในตัวที่ราคายังไม่ไปหรือยังขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับอีกตัวหนึ่งในกลุ่มเดียวกัน สุดท้ายท้ายคุณจะได้หุ้นคุณภาพแย่มา เพราะมันจะมีหุ้นแค่ตัวเดียวเท่านั้นที่ขึ้นอย่างรุนแรง

สิ่งที่พิเศษสำหรับตัว L คือ จะมีการใช้ Relative Strength (RS)ในการดูความแข็งแกร่งของหุ้นตัวนั้นๆ เทียบกับหุ้นทั้งตลาดในช่วงเวลา 1 ปีหรือ 52 สัปดาห์ โดยนำความแข็งแกร่งของหุ้นแต่ละตัวมาจัดทำเป็น Percentile ทำให้ RS มีค่าระหว่างอยู่ 1-99 โดยค่าที่ 99 มีค่าแข็งแกร่งมากที่สุด และ 1 ความแข็งแกร่งต่ำที่สุด ค่าของ RS ไม่ได้บอกว่ามันจะขึ้นไปแต่บอกเพียงโอกาสที่จะขึ้นไป โดยค่า RS ของตลาด S&P500 ในช่วงปี 1950-2008 ค่า RS ต้องมากกว่า 87% จะ OK ที่สุดมัน แปลงว่ามันชนะหุ้น 9 ใน 10 ของทั้งตลาดแล้ว และให้ใส่ใจกับคำๆ นี้ ความแข็งแกร่งที่ผิดปกติในช่วงที่ตลาดอ่อนแอ

I : Institutional Sponsorship (การสนับสนุนจากสถาบัน) ถ้าหุ้นตัวนั้นยังไม่มีการรองรับจากนักลงทุนสถาบัน ราคาของหุ้นก็จะไม่สามารถขึ้นไปได้มาก ทำให้ต้องดูว่าในช่วงที่ผ่านมามีการเพิ่มขึ้นของนักลงทุนสถาบันเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ และหุ้นนั้นจะต้องถูกถือโดยกองทุนที่มีผลงานดีในช่วงที่ผ่านมาด้วย สาเหตุที่ต้องสนใจนักลงทุนจากสถาบันเนื่องจากสถาบันจะเป็นผู้ที่อยู่เบื่องหลังของการขึ้นของราคาครั้งใหญ่และยังทำให้เกิดสภาพคล่องในตลาดซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันราคาให้เพิ่มสูงขึ้น เพราะถ้าตลาดขาดสภาพคล่องเราก็จะไม่รู้จะขายให้ใคร ส่งผลให้ราคาตกต่ำนั่นเอง

M : Market direction (ทิศทางของตลาด) เราพูดไปแล้ว 6 ตัว สุดท้ายมาตกม้าตายตัว M ก็จบเช่นกัน โอนีล บอกว่า การระบุว่าตลาดเป็นขาขึ้นหรือขาลงยังไม่พอ แต่ต้องบอกได้ด้วยว่าตลาดเป็นการตกแบบปกติหรือกำลังแย่ ขาขึ้นครั้งนี้เป็นขาขึ้นต้นๆ หรือปลายๆ แล้ว วิธีที่ดีที่สุดในการระบุทิศทางของตลาด คือ การติดตามตลาดในทุกๆ วัน แล้วแปลผล จากนั้นทำความเข้าใจตลาดในขณะนั้น และดูรายละเอียดของชาร์ทรายวันในแต่ละตลาดประมาณ 3-4 ตลาด ดูแบบนี้ทุกๆ วันคุณสามารถเข้าใจตลาดได้แบบมืออาชีพ สาเหตุที่ต้องให้สำรวจตลาดทุกวันเนื่องจากตลาดเป็น Leading Indicator ที่ถูกสรุปปัจจัยทั้งหมดจากนักลงทุนทุกกลุ่มเข้ามาไว้ในตลาดทั้งหมดแล้วทั้ง รายย่อย สถาบัน กองทุน ต่างชาติ และสาเหตุที่ต้องศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อให้เข้าใจว่าในแต่ละสภาวะเราควรทำอย่างไร

เมื่อเราเข้าใจตลาดแล้ว เราต้องรู้ที่จะปรับพอร์ตการลงทุนของเราให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดนั้นๆ โดยเรียนรู้ที่จะขาย เพิ่มการถือเงินสดขึ้นเมื่อสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลง โอนีลแนะนำว่า เมื่อ Index ถึงจุดกลับตัวบริเวณที่คาดว่าจะเป็นจุดสูงสุด เราต้องขยับตัวทันทีโดยการปรับพอร์ตการลงทุนโดยมาถือเงินสด 25% ของพอร์ต ด้วยการขายณ ราคาตลาดเท่านั้นและไม่ควรตั้งคำสั่งรอเอาไว้ ส่วนสัญญาณที่บอกว่า ตลาดหมีกำลังเคลื่อนเข้ามาหา คือ เริ่มมีหุ้นคุณภาพต่ำเริ่มกลับเข้ามาเล่นมากขึ้น หลังจากนั้นเมื่อตลาดถึงจุดสูงสุดพร้อมกับปริมาณการซื้อขายสูงสุดหุ้นคุณภาพดีและคุณภาพแย่ที่สุดจะไม่สามารถนำตลาดได้ต่อ

สิ่งสำคัญของ คำว่า “อีโก้ความฉลาด” คือ

“การที่ไม่มีอคติอย่างสิ้นเชิงและตระหนักให้ได้ว่าตลาดกำลังบอกอะไรคุณมากกว่าจะไปพยายามพิสูจน์”

ทั้งหมดข้างต้น คือ แนวคิด CANSLIM ของ William J. O'Neil โดยสรุปเท่านั้น เนื้อหาจริงๆ ยังมีอีกพอสมควร รวมทั้งยังมีอีกหลายแนวคิดที่นำหลักการของ CANSLIM ไปต่อยอด ถ้ามีโอกาส TerraBKK Research จะนำมาฝากกันอีกในบทความต่อไป

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก