ขอบคุณข้อมูล จาก : นิยดา หวังวิวัฒน์ศิลป์ SCG Architect Writer

บ้านชั้นเดียวเมื่ออยู่อาศัยไปสักพัก หากรู้สึกว่าพื้นที่ใช้สอยไม่พอ และคิดจะต่อเติมบ้านให้กลายเป็นบ้าน 2 ชั้น จะทำได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาพโครงสร้างบ้านของเดิมว่าจะสามารถรับน้ำหนักส่วนต่อเติมได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะต้องให้วิศวกรช่วยคำนวณ และควรคำนึงถึงความคุ้มค่าก่อนจะตัดสินใจลงมือต่อเติม

สำหรับครอบครัวขนาดเล็กเมื่อเริ่มคิดปลูกบ้าน บางครั้งอาจเลือกสร้างบ้านชั้นเดียวเพราะเห็นว่าควบคุมงบประมาณและเวลาได้ง่าย ประหยัดโครงสร้างวัสดุ ง่ายต่อการดูแลรักษาและทำความสะอาด ทั้งยังเหมาะกับผู้สูงอายุซึ่งไม่สะดวกขึ้นลงบันได แต่เมื่ออาศัยไปสักระยะหนึ่งอาจมีปัจจัยบางอย่างเปลี่ยนแปลงทำให้ต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้น โดยปกติเรามักเลือกต่อเติมเพิ่มออกมาจากตัวบ้าน แต่ถ้าที่พื้นที่รอบบ้านไม่พอจะมีวิธีอย่างไร จะต่อเติมบ้านชั้นเดียวให้กลายเป็น 2 ชั้นได้หรือไม่ ?

ตัวอย่างบ้านชั้นเดียว (ภาพบน) ที่ต่อเติมเป็นบ้าน 2 ชั้น (ภาพล่าง) (ขอขอบคุณภาพจาก www.banandresort.com)

ต่อเติมบ้านชั้นเดียวเป็นบ้าน 2 ชั้นได้จริงหรือ ?

ในจุดนี้จะต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน โดยเรื่องสำคัญที่สุด คือ “สภาพของโครงสร้างบ้านเดิม” ทั้งเสาเข็มฐานราก เสา คาน ว่าสามารถรับน้ำหนักส่วนต่อเติมชั้น 2 ได้หรือไม่และอย่างไรจึงจะไม่ถล่มพังลงมา ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งวิศวกรโครงสร้างผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์คำนวณเพื่อความปลอดภัย เมื่อเจ้าของบ้านทราบถึงความเป็นไปได้และพิจารณาความคุ้มค่าในการต่อเติม ก็อาจลองมองทางเลือกอื่นประกอบด้วย เช่น กรณีเป็นบ้านที่อยู่อาศัยมานานจนทรุดโทรมมากอยู่แล้ว ถ้าทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่หรือหาซื้อบ้านใหม่ไปเลยจะคุ้มกับระยะเวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่าหรือไม่ เป็นต้น

บ้านชั้นเดียวมักถูกออกแบบโครงสร้างมาเพื่อรับน้ำหนักบ้านเพียง 1 ชั้นเท่านั้น หากต้องการต่อเติมเป็น 2 ชั้น ต้องให้วิศวกรตรวจสอบว่า โครงสร้างจะรับน้ำหนักที่เพิ่มไหวหรือไม่

ต่อเติมบ้านชั้นเดียวเป็นบ้าน 2 ชั้นได้อย่างไร ?

หากวิศวกรคำนวณแล้วพบว่าโครงสร้างบ้านเดิมสามารถรับน้ำหนักส่วนต่อเติมชั้น 2 ได้แล้ว ยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวทางการต่อเติม นั่นคือจะต่อเติมได้เต็มทั้งชั้นหรือได้เพียงส่วนเดียวเฉพาะแค่บางช่วงเสา รวมถึงน้ำหนักต่อตารางเมตรของส่วนต่อเติมซึ่งมีผลต่อการเลือกใช้วัสดุ ตั้งแต่ส่วนโครงสร้าง เช่น เสาที่จะต้องต่อให้สูงขึ้นไปเพื่อรับหลังคาชั้น 2 นั้น จะใช้วิธีสกัดหัวเสาคอนกรีตเดิมแล้วหล่อเสาต่อได้เลย หรือจะต้องใช้เสาเหล็กซึ่งน้ำหนักเบากว่าแทน เป็นต้น ในส่วนของพื้นผนังกรณีที่โครงสร้างเดิมรับน้ำหนักเพิ่มได้พอสมควรอาจใช้ผนังก่ออิฐฉาบปูน พื้นหล่อคอนกรีต แผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป แต่ถ้ารับน้ำหนักเพิ่มได้ไม่มากอาจต้องใช้วัสดุที่เบาขึ้น เช่น ผนังอิฐมวลเบา ระบบพื้น Metal Deck ระบบพื้นและผนังเบาไฟเบอร์ซีเมนต์ ระบบผนังและฝ้าเพดานยิปซั่ม เป็นต้น ซึ่งจะต้องให้วิศวกรโครงสร้างเป็นผู้แนะนำทางเลือกที่เหมาะสม

พื้นเบาจากโครงเหล็ก ปูด้วยแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์และวัสดุทับหน้า

ผนังเบาจากวัสดุแผ่นปิดทับโครงคร่าว

ระบบพื้น Metal Deck (ขอขอบคุณภาพจาก www.constructthai.com)

กรณีโครงสร้างบ้านเดิมรับน้ำหนักได้ไม่มาก ส่วนหลังคาซึ่งจะต้องรื้อออกและประกอบใหม่อยู่แล้วอาจเป็นอีกจุดที่สามารถปรับให้มีน้ำหนักเบาขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงหลังคาหรือวัสดุมุง (การเปลี่ยนวัสดุมุงอาจส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้วย เช่น ระยะแป เป็นต้น) ซึ่งจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากวิศวกรโครงสร้างผู้เชี่ยวชาญด้วยเช่นกัน

โครงหลังคาสำเร็จรูป ผลิตจากเหล็กเคลือบป้องกันสนิม ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าเหล็กรูปพรรณ

จะเห็นได้ว่าการต่อเติมบ้านชั้นเดียวให้กลายเป็นบ้าน 2 ชั้นนั้น ต้องพิจารณาเรื่องความสามารถในการรับน้ำหนักของโครงสร้างเดิมเป็นหลัก (สำหรับใครที่จะสร้างบ้านชั้นเดียวอาจเลือกทำโครงสร้างรองรับการต่อเติมในอนาคตไว้ก็ได้) นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความคุ้มค่า โดยเฉพาะกรณีต่อเติมได้ไม่เต็มชั้นซึ่งต้องไม่ลืมว่าพื้นที่ส่วนหนึ่งของทั้ง 1 ชั้น 2 จะต้องถูกใช้เป็นบันไดด้วย ดังนั้นพื้นที่ที่ได้เพิ่มมาจะคุ้มค่าหรือไม่ต้องลองคิดคำนวณให้ดี ทั้งนี้หากเลือกที่จะต่อเติมแล้วก็ควรให้อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายเพื่อความถูกต้องและปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการยื่นขออนุญาตดัดแปลงบ้าน การคำนึงเรื่องที่ว่างและระยะร่นตามกฎหมายซึ่งสัมพันธ์กับตำแหน่งช่องเปิดและขนาดพื้นที่ใช้สอยของบ้าน เป็นต้น นับเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ควรศึกษาให้ดีก่อนลงมือต่อเติม

ขอบคุณข้อมูล จาก : SCG Experience www.scgbuildingmaterials.com