ผู้ที่อยู่ในวัยเรียนหรือวัยทำงานหลายคนคงกำลังประสบปัญหากับการต้องถามตัวเองซ้ำๆ ว่า “เรากำลังทำอะไรอยู่” หรือ “เราต้องทำอะไรต่อ” จนรู้สึกเหมือนกับว่ามันกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานเป็นอย่างมาก จะดีแค่ไหนถ้าหากเราสามารถควบคุมตนเองให้โฟกัสกับสิ่งที่กำลังทำได้ โดยไม่วอกแวกและหลุดลอยไปไกล ด้วยวิธีการง่ายๆ เพียง 15 ข้อ จากการศึกษาค้นคว้าและวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์โดยตรง อย่าทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน ผู้ที่สามารถทำสิ่งต่างๆ พร้อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพอาจฟังดูเก่งกาจราวกับซูเปอร์ฮีโร่ในภาพยนตร์ แต่ในความเป็นจริงแล้วการทำอะไรหลายๆ อย่างกลับทำให้ทุกอย่างพังพินาศไปหมด ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี 2009 พบว่า การทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกันในช่วงเวลาเดียวทำให้เราไม่สามารถโฟกัสกับกิจกรรมใดได้อย่างเต็มที่ ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ลดลงตามกัน จนท้ายที่สุดแล้วผู้ที่ทำการทดสอบก็ไม่สามารถผ่านการทดสอบใดได้เลย ทำสมาธิ “การฝึกฝนก่อให้เกิดความสมบูรณ์แบบ” ดังนั้นถ้าหากอยากมีสมาธิ สิ่งที่ควรทำก็คือฝึกทำสมาธิ การศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโลไรนาพบว่า นักศึกษาที่ฝึกนั่งสมาธิเป็นเวลา 20 นาที ต่อเนื่องกัน 4 วัน มีผลการทดสอบด้านกระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังไม่ได้พัฒนาแค่ศักยภาพของร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อสมองและระบบประสาท จากการวิจัยของ John Ratey อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชจากวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ดพบว่า การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยเพิ่มสารเคมีบางอย่างในสมอง ซึ่งส่งผลดีต่อพัฒนาด้านความจำและสมาธิ จดรายการ “สิ่งที่ต้องทำ” การเขียนลิสต์ของสิ่งที่ต้องทำไม่เพียงแต่ช่วยให้เราสามารถจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราสามารถทำทุกอย่างสำเร็จจนถึงขั้นตอนสุดท้าย Cal Newport ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และผู้เขียนหนังสือ Deep Work ให้สัมภาษณ์ว่าการจดบันทึกทุกอย่างที่ต้องทำนั้นทำให้เราสามารถจดจ่อกับสิ่งที่ควรทำเป็นรายการถัดไปรวมถึงสิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จได้เป็นอย่างดี จิบคาเฟอีนบ้าง ถ้ากำลังรู้สึกสับสนและมึนงง ให้ลองเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชาหรือกาแฟสักแก้ว งานวิจัยพบว่าคาเฟอีนในปริมาณที่พอเหมาะนั้นจะช่วยเพิ่มสมาธิให้กับสิ่งที่กำลังทำ แต่อย่างไรก็ตามการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณที่มากเกินไปนั้นก็ลดความสามารถในการโฟกัสเช่นกัน ดังนั้นจึงควรดื่มนิดหน่อยก็เพียงพอแล้ว พักสักนิด หลายคนอาจเคยได้ยินว่าการดูวิดีโอตลกๆ ของแมวในยูทูปสามารถช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์และทำผลงานได้ดีขึ้น ซึ่งนั่นไม่ได้เป็นเพราะเจ้าเหมียว แต่เป็นเพราะการได้พักผ่อนในระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างการทำงานต่างหาก การศึกษาหนึ่งได้ทดลองให้คนสองกลุ่มทำงานทางคอมพิวเตอร์เป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยให้กลุ่มแรกพักเบรคสั้นๆ สองครั้ง ส่วนกลุ่มที่สองไม่ได้พักเลย ผลที่ได้คือคนกลุ่มแรกสามารถสร้างสรรค์งานที่มีประสิทธิภาพกว่ากลุ่มที่สองอย่างเห็นได้ชัด ทำงานเฉพาะในเวลางาน การแยกแยะเวลางานกับเวลาพักผ่อนส่วนตัวไม่เพียงแต่ช่วยให้สมองและร่างกายได้พักผ่อนเท่านั้น แต่ยังช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานครั้งต่อไป อย่างเช่นทฤษฎีหนึ่งที่ยืนยันว่าการพักจากปัญหาบางอย่างชั่วครู่ จะช่วยให้สามารถหาทางออกให้กับปัญหานั้นได้ในที่สุด ฝึกฝนสมอง สมองก็เหมือนกับกล้ามเนื้อ ยิ่งเราฝึกฝนและใช้งานมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการหมั่นบริหารสมองนั้นช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น การฝึกฝนการตั้งสมาธิก็ช่วยให้มีสมาธิมากขึ้นเช่นกัน หาสถานที่ที่เงียบสงบ Mark A.W. Andrews ผู้อำนวยการสถาบัน Lake Erie College of Osteopathic Medicine แห่งมหาวิทยาลัย Seton Hill รัฐเพนซิลเวเนีย ได้ให้สัมภาษณ์กับ Scientific American ว่า เสียงรบกวนต่างๆ อย่างเช่นเสียงเครื่องยนต์หรือเสียงกรีดร้องของเด็กๆ นั้นจะทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียการควบคุมสมาธิและการตอบสนองของร่างกาย พักสายตาด้วยการมองออกไปไกลๆ งานส่วนใหญ่นั้นบังคับให้เราจำเป็นต้องจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน ซึ่งนั่นส่งผลเสียต่อสายตาและสมาธิ แพทย์ท่านหนึ่งได้ให้คำแนะนำกับ LifeHacker ว่าให้ลองใช้สูตร 20-20-20 คือ ทุกๆ 20 นาที ให้ใช้เวลา 20 วินาที มองสิ่งที่อยู่ไกลออกไปราว 20 ฟุต นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หนึ่งในข้อเสียของการพักผ่อนไม่เพียงพอคือการสูญเสียสมาธิ ควรนอนหลับอย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมงในตอนกลางคืน แล้วจะเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานได้อย่างชัดเจน ทำงานแบบออฟไลน์ การเปลี่ยนความสนใจไปมาระหว่างกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่นการเช็คอีเมล์หรือเฟซบุ๊กในขณะที่ทำงานนั้นจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เนืื่องจากเมื่อหลุดโฟกัสไปจากสิ่งที่กำลังทำแล้วนั้นเราต้องใช้เวลาหลายนาทีกว่าที่จะสามารถดึงความสนใจกลับมายังจุดเดิมได้สำเร็จ Sophie Leroy อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันใน Bothell ได้อธิบายเกี่ยวกับ attention residue หรือสิ่งตกค้างจากความสนใจว่า การเปลี่ยนความสนใจไปมานั้นส่งผลเสียต่อการทำงาน และหนึ่งในปัจจัยหลักที่ดึงความสนใจของเราไปจากงานก็คือสังคมออนไลน์ กำหนดสถานที่ทำงาน การตั้งสมาธิแน่วแน่กับการทำงานนั้นต้องอาศัยความมุ่งมั่นและพลังอย่างมาก ดังนั้นจึงควรลดกิจกรรมหรือเรื่องปวดหัวที่ไม่จำเป็นออกไปอย่างเช่นการเลือกสถานที่ทำงาน ควรกำหนดสถานที่ทำงานที่เหมาะสมไว้เสมอ ไม่เปลี่ยนแปลงไปมาบ่อยๆ นอกจากจะไม่ต้องเสียเวลาในการเลือกสถานที่แล้วยังไม่ต้องเปลืองพลังในการปรับตัวอีกด้วย ยอมรับความเบื่อหน่าย ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องมีกิจกรรมหลายอย่างรองรับสำหรับ “การพักผ่อน” รู้หรือไม่ว่ามันกำลังทำให้คุณสูญเสียความสามารถในการโฟกัสกับงานที่ต้องทำ ตัดกิจกรรมที่สับสนวุ่นวายออกไปและลองอดทนกับความเบื่อหน่ายในการทำกิจกรรมเดิมซ้ำๆ แล้วจะพบว่ามันช่วยให้คุณทนรับกับสถานการณ์ต่างๆ ในการทำงานได้ และช่วยให้คุณไม่ต้องสับสนวุ่นวายกับข้อมูลที่มากเกินจำเป็น
แบ่งเวลาให้กับงานอย่างชัดเจน ทุกคนคงเคยประสบกับปัญหาขัดแย้งในตัวเองว่าทำไมเราถึงสามารถทำอะไรบางอย่างได้ทั้งวัน ในขณะที่ทำงานแค่ชั่วโมงสองชั่วโมงกลับทนไม่ไหว การศึกษาพบว่าถ้าหากคุณบังคับตัวเองให้สละเวลาที่แน่ชัดให้กับการทำงานเป็นประจำด้วยการกำหนดช่วงเวลาที่ตายตัว จะช่วยให้คุณมีสมาธิและทำงานได้อย่างประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังไม่ต้องเสียเวลาไปกับการตัดสินใจหรือทำใจก่อนลงมือทำงานอีกด้วย
Source : BusinessInsider ,harrypotter.wikia หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : 15 เคล็ดลับเด็ดจากนักวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยให้คุณมี "สมาธิ" ตลอดทั้งวัน!