ปัจจุบันการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนถือเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาเศรฐกิจของประเทศโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลัก เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน และยานยนต์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของประเทศ ประกอบกับมีความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางถนน รถไฟ ท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือของอาเซียน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังท่าเรือน้ำลึกทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ท่าเรือสีหนุวิลล์ของราชอาณาจักรกัมพูชา และท่าเรือวังเตาของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมทั้งเป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั่วโลก

สำหรับนโยบายที่จะเข้ามาดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน ประกอบด้วย การให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม การจัดตั้งกองทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จการลงทุน (One Stop Service) การอำนวยความสะดวกในการอนุมัติเรื่องการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและผังเมือง ความรวดเร็วในการออกใบอนุญาต การประกาศเป็นเขตปลอดภาษี การจัดหาที่ดินและระยะเวลาเช่าที่ดิน ระยะเวลาพำนักและทำงานของนักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน การใช้เงินตราต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์ธุรกรรมทางการเงิน และการจัดตั้งกองทุนในพื้นที่ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น

ขณะนี้คณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบร่างเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อรองรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC) ในร่าง พ.ร.บ. จะกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชนทั้งจากภายในประเทศและชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งผู้ที่เข้ามาลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์เหนือกว่าพื้นที่อื่น อาทิ

  • นักลงทุนชาวต่างชาติจะได้สิทธิการเช่าที่ดินนานถึง 50 ปี และต่ออายุได้ 49 ปี จากปกติกฎหมายกำหนดไว้ที่ 30 ปี เท่านั้น
  • การให้สิทธิคนต่างด้าวเข้ามาทำงานด้านช่างฝีมือหรือเป็นผู้บริหารโดยไม่มีปัญหาเรื่องวีซ่า
  • ผู้ลงทุนจะได้รับการลดหย่อนภาษีอากรไม่เกิน 13 ปี (จากเดิม 8 ปี)
  • สิทธิประโยชน์ด้านธุรกรรมการเงินในการถือครองเงินตราต่างประเทศและอนุญาตให้ธนาคารต่างประเทศสามารถเข้ามาเปิดสำนักงานบริการได้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) มีทั้งหมด 10 อุตสาหกรรม ได้แก่

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

เบื้องต้นคาดว่าจะมีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกภายในระยะเวลา 5 ปี จะมีเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท TerraBKK Research มองว่าการเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนจากการส่งเสริมด้านการลงทุนของภาครัฐจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนา EEC ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และยังช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมไปยังการพัฒนาท่าเรือ สนามบิน การเดินทางทางบกทางราง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง มีเศรษฐกิจที่ดีมากยิ่งขึ้น

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก