"เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น โคราช" จังหวัดศักยภาพเตรียมรับ รถไฟฟ้า
ใครบอกว่าการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางอย่าง รถไฟฟ้า เกิดขึ้นเฉพาะที่กรุงเทพฯเสมอไป ปัจจุบันจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ นอกจากกรุงเทพฯหลายแห่ง ก็กำลังเตรียมขึ้นแท่นเมืองพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชนทางรางเช่นกัน เนื่องจากพื้นที่หัวเมืองเหล่านี้ นอกจากจะมีบทบาทในการเป็นเมืองรองที่มีปริมาณประชากรมากมายแล้ว ยังมีในเรื่องของการท่องเที่ยว ถ้าหากไม่มีระบบคมนาคมขนส่งที่ดีเตรียมพร้อมรอไว้ก่อนแล้ว ในอนาคตอาจจะกลายเป็นเมืองที่ประสบปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ แน่นอน TerraBkk Research จะพาไปดูกันว่า มีเมืองใหญ่ที่ไหนบ้างที่เตรียมพัฒนารถไฟฟ้าและมีหน้าตาแบบใด
แผนการพัฒนาขนส่งมวลชนระบบรางในต่างจังหวัดได้เริ่มเป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน โดยตอนนี้เมืองใหญ่ได้เริ่มมีการวางแผนและเตรียมลงทุนรถไฟฟ้ากันแล้ว ได้แก่ ภูเก็ต, เชียงใหม่, ขอนแก่น และนครราชสีมา ซึ่งแต่ละจังหวัดก็ได้มีการขับเคลื่อนที่แตกต่างกันออกไป โดย TerraBkk Research จะขอพูดถึงปัจจัยที่ทำให้จังหวัดต่างๆเหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องมีระบบขนส่งมวลชนรองรับ โดยแบ่งเป็น 4 ปัจจัยหลักๆ ดังนี้ 1. จำนวนประชากรของแต่ละเมือง- จังหวัดภูเก็ต ประชากรในจังหวัดภูเก็ตในปี 2559 มีจำนวนทั้งหมด 392,508 คน และมีอัตราการเติบโตของประชากร 1.15% ต่อปี ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าดูแล้วว่าจำนวนประชากรในจังหวัดภูเก็ต อาจจะเป็นตัวเลขที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น เนื่องจากภูเก็ตมีขนาดเนื้อที่จังหวัดเพียงแค่ 576 ตารางกิโลเมตรเพียงเท่านั้น และถึงแม้จำนวนประชากรในจังหวัดภูเก็ตจะมีไม่มาก แต่ก็มีปัจจัยดึงดูดอื่นๆ ที่ทำให้ภูเก็ตเป็นเมืองที่ได้รับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ทั้งในด้านธุรกิจและการท่องเที่ยวนั่นเอง
- จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2558 จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,733,435 คน มีอัตราการเติบโตของประชากร 0.35% ต่อปี และมีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของประเทศ และยังเป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาของภาคเหนือ เนื่องจากภูมิประเทศของจังหวัดเชียงใหม่เป็นเชิงเขา ประกอบกับเชียงใหม่เป็นจำนวนที่มีอำเภอมากถึง 23 อำเภอ และมีระยะทางที่ค่อนข้างไกล แหล่งท่องเที่ยวและความเจริญต่างก็เริ่มกระจายออกไปสู่อำเภออื่นๆ ทำให้มีการเดินทางทั้งภายนอกและภายในจังหวัดหนาแน่นมากขึ้นตามไปด้วย
- จังหวัดขอนแก่น จำนวนประชากรในจังหวัดขอนแก่นปี 2559 มีทั้งสิ้น 1,797,795 คน มีอัตราการเติบโตของประชากร 2.09% ต่อปี และมีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศ ขอนแก่นเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการพัฒนาของภาคอีสาน อีกทั้งยังมีสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำอีกหลายแห่ง ทำให้เป็นปัจจัยในการดึงดูดประชากรที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี ซึ่งตัวเลขอัตราการเติบโตของประชากรในจังหวัดขอนแก่นนั้นถือว่าสูงมากทีเดียว
- จังหวัดนครราชสีมา หรือเมืองโคราชนั้น เป็นจังหวัดที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดรองจากกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยในปี 2559 จังหวัดนครราชสีมามีจำนวนประชากรถึง 2,630,758 คน หรือเทียบได้เป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรในจังหวััดกรุงเทพฯ เลยทีเดียว ด้วยระยะทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ประกอบกับการมีแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทยอย่างเขาใหญ่ ทำให้การลงทุนในด้านธุรกิจโรงแรม, ร้านอาหาร หรือบริการอื่นๆในจังหวัดนครราชสีมาจึงเติบโตตามไปด้วย
2. จำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละจังหวัด TerraBkk Research รวบรวมสถิตินักเดินทางทั้งขาจรและค้างคืนที่ได้ผ่านเข้าออกในจังหวัดต่างๆ ปี 2558 จะเห็นได้ว่าตัวเลขของนักท่องเที่ยวในจังหวัดเหล่านี้นั้นสูงมากทีเดียว โดย TerraBkk Research ได้เจาะภาพรวมการท่องเที่ยวใน 4 จังหวัดข้างต้นปี 2558 พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวที่ผ่านเข้าออกในในจังหวัดหัวเมืองดังกล่าวนั้นรวมกันแล้วมากถึง 34,250,808 คน อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจังหวัดที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวสูงที่สุดคือจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงถึง 10.40% ส่วนในจังหวัดอื่นๆ ก็ยังคงมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในทุกปีเช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกัน อัตราการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้น 20.44% ซึ่งจะกล่าวได้ว่าตัวเลขของจำนวนนักท่องเที่ยวใน 4 จังหวัดนี้ เป็นตัวเลขที่สูงพอตัวเลยทีเดียวแม้จะเทียบในระดับภาพรวมของประเทศ
ข้อมูลจาก : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย
3. ความต้องการการใช้รถสาธารณะ อีกหนึ่งปัจจัยที่ TerraBkk Research เล็งเห็นว่าเป็นปัจจัยขั้นต้นที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาการขนส่งมวลชนระบบราง นั่นคือปริมาณของการใช้รถยนต์ส่วนตัวและปริมาณการใช้รถสาธารณะ โดย TerraBkk Research ได้นำสถิติการจดทะเบียนรถประเภทต่างๆในปี 2557 พบว่า มีจำนวนที่สูงมากจนน่าตกใจ โดยจังหวัดที่มีสิถติการจดทะเบียนรถสูงที่สุดคือจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีจำนวนถึง 2,168,080 คันเลยทีเดียว นอกจากนั้น จังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณรถวิ่งบนท้องถนนวันละ 600,000 คัน และเพิ่มขึ้นทุกวัน วันละ 50 คัน ซึ่งอีก 5 ปี เชียงใหม่จะมีรถวิ่งบนถนนวันละกว่า 1,100,000 คัน ซึ่งเกินกว่าที่พื้นที่ถนนจะรองรับได้ ส่วนสถิติการจดทะเบียนรถของจังหวัดภูเก็ต, จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา นั้น ก็มีจำนวนข้างเคียงกันคือราว 700,000 คันต่อปี ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ TerraBkk Research มองว่าสะท้อนถึงความต้องการและปริมาณการเดินทางของประชากรทั่วไปและประชากรแฝงในจังหวัดนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
นอกจากตัวเลขของการจดทะเบียนรถใหม่นั้นจะสูงแล้ว การใช้รถสาธารณะเองก็สูงเช่นกัน โดย TerraBkk Research วิเคราะห์จากจำนวนผู้ใช้บริการสถานีขนส่งและท่าอากาศยานของจังหวัด พบว่ามีปริมาณการเดินทางทั้งภายในเมืองและระหว่างเมืองที่ค่อนข้างหนาแน่น โดยจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีปริมาณการใช้บริการรถขนส่งสาธารณะสูงถึง 90,576 คนต่อวัน ในขณะที่มีจำนวนผู้ใช้บริการท่าอากาศยานเพียงแค่ 390 คนต่อวันเท่านั้น จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดขอนแห่นมีตัวเลขของจำนวนผู้ใช้รถสาธารณะทั้งสถานีขนส่งและท่าอากาศยานใกล้เคียงกัน คือรวมแล้วกว่า 50,000-60,000 คนต่อวัน ในขณะเดียวกันจังหวัดภูเก็ตกลับมีจำนวนผู้ใช้บริการอากาศยานสูงมากกว่าจังหวัดอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือมีจำนวนนักเดินทางกว่า 19,319 คนต่อวัน โดยส่วนใหญ่เป็นนักเดินทางชาวต่างชาติ 70%
ด้วย 4 ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนได้ โดยในแต่ละจังหวัดก็ได้มีการออกแบบและศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการใช้งานของประชากรในจังหวัด รวมไปถึงเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของเมืองซึ่งแตกต่างกันไปอีกด้วย ถึงแม้ภาพของรถไฟฟ้าใน 4 จังหวัดเหล่านี้ จะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาโครงการ โดย TerraBkk Research ขอนำเสนอความคืบหน้าของการศึกษาและการดำเนินโครงการการพัฒนาขนส่งมวลชนในแต่ละจังหวัดมาให้ทราบทั่วถึงกัน 1. จังหวัดเชียงใหม่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ได้มีการลงบันทึกความร่วมมือ (MOU) เรื่องการศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาระบบขนสงมวลชนแบบรางในรูปแบบต่างๆ มาพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงในเชียงใหม่ กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้ สนข. ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางวิศวกรรมขนส่งและเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน (ExCITE) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการสำรวจและศึกษาเพื่อพัฒนาแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ โดยมีรัศมีหลักของเส้นทางอยู่ที่ประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเพื่อการเดินทางมาทำงานและเรียนมากกว่า 90% โดยจะผ่านสถานที่ราชการ, โรงพยาบาล และสถานศึกษาหลักๆ เพื่อลดการใช้รถส่วนตัวของผู้ใชิบรการ, นักศึกษา และบุคลากรในสถานที่นั้นๆ โดยกำหนดรูปแบบการเดินทางเบื้องต้นเป็น 3 โครงข่ายคือ โครงข่ายใต้ดิน, โครงข่ายรถไฟฟ้าชานเมือง และโครงข่ายบนดิน ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็น โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 และได้กำหนดตำแหน่งเส้นทางและรูปแบบสถานีของโครงข่ายบนดินเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนนำเสนอข้อคิดเห็น โดยมีทั้งหมด 5 รูปแบบ
ขอบคุณภาพจาก : ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิศวกรรมขนส่งและเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน (ExCITE) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นอกจากการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแบบรางแล้ว ยังได้มีการศึกษาในด้านการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งตำแหน่งที่มีการพัฒนานั้นจะต้องสอดคล้องกับบริบทของความเป็นเมืองวัฒนธรรมของเชียงใหม่ รวมไปถึงต้องมีการพัฒนาให้เกิดการใช้ืที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ติดตามความคืบหน้าแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองเชียงใหม่ได้ที่ http://www.cm-pmap.com 2. จังหวัดขอนแก่น ดำเนินการภายใต้กลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ก่อตั้ง โดยเป็นโมเดลของการพัฒนาเมืองแบบไม่พึ่งภาครัฐ ใช้การระดมทุน โดยต้องการที่จะลงทุนเริ่มต้นจากขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบาและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า (TOD) ปัจจุบันได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดด้วยทุนจะทะเบียน 200 ล้านบาท ปัจจุบันได้ทำการศึกษาโครงการแล้วเสร็จแล้ว โดยแผนการพัฒนาคือจะเป็นโครงการรถไฟฟ้ารางเบาสายเหนือใต้ (สำราญ-ท่าพระ) มีระยะทาง 26 กิโลเมตร และมีจำนวนสถานี 18 สถานี ใช้รถไฟฟ้าที่ผลิตและประกอบในประเทศจำนวน 15 ขบวน โดยมีขบวนละ 3 ตู้ ซึ่งใน 1 ขบวน สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ 180 คน โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา ระยะทาง 26 กิโลเมตร จำนวน 21 สถานี โดยใช้พื้นที่บริเวณเกาะกลางถนนและไหล่ทางของถนนมิตรภาพ จากตำบลสำราญถึงตำบลท่าพระ ได้แก่ สถานีสำราญ, สถานีบ้านหนองกุง, สถานีบ้านโนนม่วง, สถานีโรงเรียนสาธิตมอดินแดง, สถานีโรงเรียนตำรวจภูธรภาค4, สถานีสามแยกประตูมหาวิทยาลัยขอนแก่น, สถานีศูนย์อาหารและบริการ, สถานีสามแยกวงเวียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น, สถานีโรงพยาบาลศรีนครินทร์, สถานีโตโยต้า, สถานีไทยสมุทรฯ, สถานีแยกสามเหลี่ยม, สถานีแยกประตูเมือง, สถานีขอนแก่นแกรนด์สเตชั่น, สถานีห้างบิ๊กซี, สถานีแยกเจริญศรี, สถานีโฮมโปร, สถานีเทสโก้โลตัส, สถานี บขส.แห่งที่3, สถานีกุดกว้าง และสถานีท่าพระ
ขอบคุณภาพจาก : กลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT)
แนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้านอกจากจะกำหนดให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแล้วทางโครงการจะขอใช้พื้นที่จากทางรัฐบาลพัฒนาเป็นสวนสาธารณะและบึงขนาดใหญ่ เพื่อจัดสรรให้เป็นพื้นที่สีเขียว โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวก และมีพื้นที่ส่วนกลางให้คนในจังหวัดสามารถกิจกรรมร่วมกัน ร่วมทั้งมีอาคารที่เป็นแหล่งเรียนรู้ เช่น พิพิทธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หรือพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแบบรางเมืองขอนแก่นได้ที่ http://www.khonkaenthinktank.com/ 3. จังหวัดภูเก็ต ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งล่าสุดได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการแล้วเสร็จ และได้เปิดประชุมรับฟังความคิดเ้ห็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแบบรางของภูเก็ต จะใช้รถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tramwat) ความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เส้นแรกแรกคือท่าอากาศยานภูเก็ต อ.ถลอง-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 60 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีให้บริการ 20 สถานี ได้แก่ สถานีท่านุ่น, สถานีท่าอากาศยานภูเก็ต, สถานีถลอง, สถานีอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีท้าวศรีสุนทร, สถานีทุ่งคา, สถานีเมืองเก่า, สถานีวงเวียนหอนาฬิกา, สถานีบางเหนียว, สถานีห้องสมุดประชาชน, สถานีสะพานหิน, สถานีศักดิเดช, สถานีดาวรุ่ง, สถานีวิชิต สถานีเจ้าฟ้าตะวันออก, สถานีป่าหล่าย, สถานีบ้านโคกโตนด และสถานีฉลอง มูลค่าการลงทุนประมาณ 24,000 ล้านบาท คาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร 68,000 คน หากสามารถดำเนินการได้ จะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2564 ในขณะนี้อยู่ระหว่างการอนุมัติด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจาก สนข.
ขอบคุณภาพจาก : สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
นอกจากนั้นในปี 2573 เราจะมีโอกาสได้เห็นภูเก็ตในรูปแบบใหม่ คือ โครงการศูนย์เศรษฐกิจใหม่นครภูเก็ต Phuket Smart Growth City : New Economic Center ซึ่งเป็นโครการพัฒนาเมืองทั้งเมือง ทั้งในด้านการประกอบธุรกิจและการลงทุน, การอยู่อาศัย, ความปลอดภัย, การรักษาสภาพแวดล้อม และด้านความเป็นเลิศของการเป็นปลายทางการท่องเที่ยวและประชุมระดับนานาชาติ โดยมีพื้นที่พัฒนาอยู่บริเวณใจกลางย่านพาณิชยกรรมดั้งเดิมของภูเก็ต เพื่อให้เกิดการเข้าถึงที่ง่ายขึ้น ติดตามความคืบหน้าโครงการได้ที่ http://www.suratphuket-railtransit.com/ จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาโครงการ ดำเนินการโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ร่วมกันวางแผนและออกแบบระบบขนส่งมวลชนในเขตเมืองเมืองนครราชสีมา ในโครงการ “ออกแบบระบบจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา” วงเงิน 43,700,000 บาท เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืนและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ให้เกิดการเชื่อมต่อกับโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รวมไปถึงอำนวยความสะดวกในการเดินทางทั้งในด้านประชาชนทั่วไป การดำเนินธุรกิจ และแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา สำหรับการศึกษาและออกแบบในครั้งนี้ จะเป็นการคัดเลือกระบบที่เหมาะสมกับเมืองโคราชมากที่สุด และสามารถพัฒนาให้ก่อสร้างได้จริง เป็นต้นแบบในการนำไปพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเขตเมืองอื่นๆ ในอนาคต หากมีความคืบหน้าอื่นๆ TerraBkk Research จะขอนำเสนอในครั้งต่อไป -- เทอร์ร่า บีเคเค
บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก