โครงสร้างเงินทุน เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องระวังในการทำธุรกิจ หากใครบอกว่าการจัดหาเงินทุนเป็นเรื่องที่ยากแล้ว การบริหารเงินทุนสัดส่วนเหมาะสม อาจเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า ดีไม่ดี อาจนำไปสู่หนทางเลวร้ายทางการเงินของกิจการได้ TerraBKK ขออธิบายอัตราส่วนทางการเงินที่มีชื่อว่า D/E ratio สะท้อนความเสี่ยงโครงสร้างเงินทุนธุรกิจ ว่ากำลังพึ่งพิงเงินทุนจากแหล่งใดมากน้อยเกินไปหรือไม่ ? ว่าแต่อัตราส่วนทางการเงินตัวนี้คืออะไร ใช้ประโยชน์อย่างไร คำนวณหาค่าอย่างไร รายละเอียดดังนี้

D/E ratio คืออะไร ?

D/E ratio คือ อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio) เป็นอัตราส่วนการเงินที่ใช้ในการวิเคราะห์นโยบายทางการเงินของกิจการ (Leverage Ratio หรือ Financial Ratio) อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เสมือนเป็นการเปรียบเทียบสัดส่วนโครงการสร้างเงินทุนของกิจการ จากแหล่งที่มาระหว่าง “หนี้สินรวม” และ “ส่วนของเจ้าของ”

  • เงินทุนที่มาจากส่วนของหนี้สิน จะรวมทั้งหนี้สินระยะสั้นและหนี้สินระยะยาว ซึ่งเงินทุนจากแหล่งนี้ ย่อมตามด้วยภาระดอกเบี้ยจ่าย กิจการใดที่ดำเนินกิจการด้วยการพึ่งพิงเงินทุนที่มาจากแหล่งนี้มากเกินไป ความเสี่ยงทางฐานะการเงินกิจการย่อมมีสูง ลักษณะเงินทุนประเภทนี้ เช่น เงินเบิกเกินบัญชี , วงเงินกู้ยืมระยะยาว เป็นต้น
  • เงินทุนที่มาจากส่วนของเจ้าของ แม้ว่าการใช้เงินทุนตนเองมาดำเนินธุรกิจเป็นเรื่องที่ดี ไม่มีภาระเรื่องดอกเบี้ย แต่หากใช้ทุนตนเองเพียงอย่างเดียว อาจเสียโอกาสและกลายเป็นข้อจำกัดในการขยายธุรกิจได้ รวมทั้งขาดโอกาสประหยัดภาษีจากการเป็นหนี้

โดย ตัวเลขที่ใช้ในการคำนวณ D/E ratio จะมาจากงบดุล “หนี้สินรวม” และ “ส่วนของเจ้าของ” ผลลัทธ์ที่ได้จากการคำนวณ ยิ่งต่ำ ยิ่งดี แสดงถึงสัดส่วนเงินทุนจากการกู้ยืมน้อยกว่าสัดส่วนทุนตนเอง ความเสี่ยงต่ำ สูตรการคำนวณ ดังนี้

D/E ratio มีประโยชน์อย่างไร ?

ประโยชน์ของอัตราส่วน D/E ratio ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับการประเมินความเสี่ยงทางการเงินในการดำเนินธุรกิจของกิจการนั้น ๆ TerraBKK ขออธิบายประโยชน์ของอัตราส่วนนี้ตามลักษณะผู้ใช้งาน แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

  • เจ้าของกิจการ ใช้ประเมินโครงสร้างเงินทุนบริษัท ธุรกิจที่ใช้แหล่งเงินทุนประเภทหนี้สินมากเกินไป นอกจากต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยแล้ว ยังส่งผลให้ความสามารถในการขอเงินกู้อนาคตเป็นไปได้ยาก หากธุรกิจติดขัด ยอดขายลด หรือตลาดมีการแข่งขันสูง สภาพการเงินธุรกิจย่อมมีความเสี่ยง และส่งสัญญาณอันตรายอย่างแน่นอน ดังนั้น อัตราส่วนนี้จะสะท้อนแนวโน้มความเสี่ยงฐานะการเงินกิจการในอนาคตได้
  • ธนาคาร ใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงในการอนุมัติเงินกู้ ในฐานะผู้ปล่อยเงินกู้อย่างธนาคาร หากพบว่า ผู้ขอกู้สินเชื่อมีอัตราส่วน D/E ratio สูง ย่อมสะท้อนความเสี่ยงในการชำระหนี้คืน มีโอกาสส่งผลเสียหายต่อธนาคารได้ ทั้งนี้ ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า ค่าอัตราส่วน D/E ที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่น ๆ ในการอนุมัติสินเชื่อ เช่น นโยบายสินเชื่อของธนาคาร , ประเภทอุตสาหกรรม , การประเมินความเสี่ยงผู้กู้ เป็นต้น
  • นักลงทุนตลาดหุ้น ใช้วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานหุ้น นักลงทุนตลาดหุ้นคงไม่ชอบกิจการที่มีอัตราส่วนนี้สูงมากเกินไป นอกจากพื้นฐานการเงินกิจการจะดูไม่ดีแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อการสร้างผลตอบแทนกิจการในอนาคตได้ กำไรที่หามาได้จำต้องเอาไปจ่ายดอกเบี้ยหนี้ โอกาสการเติบโตทางธุรกิจจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด นั้นเป็นเหตุผลให้นักลงทุนต้องนั่งศึกษาอัตราส่วนทางการเงิน เพื่อสะท้อนและคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นั้นเอง

เพื่อทำความเข้าใจแบบง่าย ๆ Terrabkk จะยกตัวอย่างการวิเคราะห์ D/E ratio ดังนี้

บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) -UPOIC และ บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) -TVO ทั้ง 2 กิจการนี้อยู่ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารประเภทน้ำมันเหมือนกัน เมื่อคำนวณ D/E ratio ตามสูตรข้างต้น จะพบว่า

  • กิจการ UPOIC จะมีค่า D/E ปี 56-58 = 0.36 เท่า , 0.39 เท่า และ 0.49 เท่า
  • กิจการ TVO จะมีค่า D/E ปี 56-58 = 0.60 เท่า , 0.40 เท่า และ 0.33 เท่า

โดยภาพรวม ทั้ง 2 กิจการนี้ มีค่าเฉลี่ย D/E ต่ำกว่า 1 เท่า ความเสี่ยงต่ำ สะท้อนว่าโครงสร้างเงินทุนพึ่งพิงส่วนของเจ้าของเป็นหลัก และเมื่อทำการเปรียบเทียบโครงสร้างเงินทุนระหว่าง 2 กิจการนี้ จะพบว่า UPOIC มีแนวโน้ม D/Eเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เป็นผลมาจากหนี้สินหมุนเวียนประเภทเงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ TVO มีแนวโน้ม D/E ลดลงทุกปี จาก 0.60 เท่าในปี 56 เหลือเพียง 0.33 เท่าในปี 58 ดังนั้น TVO ดูจะมีความเสี่ยงทางด้านโครงการเงินทุนน้อยกว่า UPOIC นั้นเอง --เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก