เสร็จสิ้นไปเรียบร้อย กับงานสัมมนาหัวข้ออสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2017 จัดขึ้นโดยสมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย พร้อมบริษัทหลากหลายวงการธุรกิจ ณ โรงแรมสวสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พศ. 2560 ที่ผ่านมา TerraBKK Research จึงขอสรุปเรื่องราวการเงินการลงทุนและภาคอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้

วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจ ตลาดทุน ตลาดเงิน และสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ปี 2560

    • ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2559 ที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า มีการขยายตัวในอัตราที่ดีกว่าปี 58 ภายใต้ภาวะความผันผวนสูงทั้งจากผลกระทบภายในประเทศไทย การปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือจะเป็นผลกระทบการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจต่างประเทศ
    • แนวโน้มปี 2560 คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว Broad-base มากขึ้น ภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ภาคการท่องเที่ยว แน่นอนว่าการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์จะสร้างผลกระทบในระยะสั้น แต่โดยรวมยังคงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มโตขึ้นเรื่อยๆ ภาคการส่งออกมีสัญญาณฟื้นตัวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระแส IOT ขณะที่ภาคการบริโภค หนี้รถคันแรกก็จบไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โอกาสการบริโภคของครัวเรือนแม้จะไม่ได้ดีมาก แต่อยู่ในสถานะประคับประคองไปได้ ส่วนภาคการลงทุนเอกชนยังคงซบเซา เป็นผลมาจากยังไม่มีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากนัก ทั้งนี้ ประมาณการณ์ GDP Growth ปี 2017 อยู่ที่ 3.2 และ Headline Inflation 2017 อยู่ที่ 1.5
    • นโยบายการเงิน ล่าสุด 8 กพ. 2560 กนง.มีมติเป็นเอกแนท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ ร้อยละ 1.5 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เชื่อว่าแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงได้จบลงไปแล้ว เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าจังหวะเปลี่ยนแนวโน้มเป็นขาขึ้นจะกลับมาเมื่อไหร่ ทั้งนี้ ประเด็นที่ยังคงต้องติดตาม ก็คือ ความเปราะบางในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ปัญหาภาคการเงินจีนและยุโรป รวมทั้ง ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน
    • ภาคอสังหาริมทริมทรัพย์ปีที่ผ่านมา พอหมดมาตรการภาครัฐที่เข้ามาช่วยเหลือ ก็พบว่าชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ที่ผ่านมาภาคอสังหามักจะเป็นตัวนำเศรษฐกิจ แต่ปีแล้วกลับเป็นตัวตามมากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ตัวเลขNPLเพิ่มขึ้น ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ผู้ประกอบการเองก็มีช่องทางระดมทุนผ่านตราสารหนี้ระยะสั้น เช่น ตั๋ว B/E นำเงินที่มีต้นทุนถูกกว่ามาจ่ายชำระหนี้ เป็นต้น

    • สำหรับปี 2017 คาดว่าปัจจับบวกที่จะช่วยส่งเสริม น่าจะเป็น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย การลงทุนโครงการพื้นฐานภาครัฐ และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมจับตา การชะลอตัวของกำลังซื้อจากภาวะระดับหนี้สูง ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก รวมทั้งอุปทานคอนโดมิเนียมคงค้างตามแนวรถไฟฟ้าในบางพื้นที่
    • ด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยอนุมัติใหม่ทั่วประเทศปี 2559 ที่ผ่านมา ยังคงโตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.4 จากปี 2558 จากมาตรการภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ สัดส่วนตลาดสินเชื่อกว่า 56.3% จะเป็นของธนาคารพาณิชย์ 41.4%จะเป็นธอส.และออมสิน ที่เหลือ 2.3%เป็นสถาบันการเงินอื่นๆ แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั่วประเทศปี 2560 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 590,000 ล้านบาท

  • ทิศทางสินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2560 คาดว่าจะมีการขยายตัวไม่น้อยกว่า 0.7% ภายใต้ปัจจัยที่ต้องจับตามองทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเชื่อว่าตลาดทีอยู่อาศัยในส่วนภูมิภาค อาจเป็นตัวแปรหลักในการขยายฐานสินเชื่อ เช่น กลุ่มจังหวัดหัวเมือง กลุ่มจังหวัดเขตเสรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น และหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในเรื่อง Financial Technology เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆให้ครอบคลุมมากขึ้น ขณะที่ภาคผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้มีการปรับตัวในการระดมเงินทุนใหม่ ย่อมส่งผลต่อการให้บริการสินเชื่อ ดังนั้น อาจจำเป็นต้องเพิ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อรองรับตามกลไกตลาดในส่วนนี้
  • ภาคตลาดทุน มีกลุ่มนักลงทุนชาวจีนให้ความสนใจประเทศไทยไม่น้อยในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาในรูปแบบการลงทุนหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทย หรือจะเป็นภาคการลงทุนจริงในรูปแบบ Partner พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สอดรับด้านการท่องเที่ยว อาจจะเป็นมองหาที่ดินที่น่าสนใจเพื่อพัฒนา หรือ การร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการอสังหาไทย หากถูกใจใน Model Business นั้นๆ รวมทั้ง ยังให้ความสนใจในเรื่องการสถานพยาบาล การดูแลรักษาการแพทย์ เพื่อสอดรับแนวโน้มประชากรสูงอายุที่จะเป็นไปอย่างแน่นอนในอนาคต นอกจากนี้ การโยกย้ายหรือขยายสาขาธุรกิจของบริษัทต่างประเทศ ก็ไม่ควรมองข้าม แน่นอนว่ากลุ่มชาวต่างชาติที่โยกย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทย อาจมีความต้องการบางอย่างที่เป็นโอกาสสำหรับผู้ที่มองเห็นเข้ามารองรับโอกาสนั้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องบอกว่าคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน เพราะหากตัวเลขผลอตอบแทนหรือเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของราคาไม่เป็นที่พอใจ ก็พร้อมที่จะขายทิ้งและโยกเงินไปลงทุนประเทศอื่นได้อย่างง่ายๆ เช่นกัน
  • ปัญหาหลักด้านภาคการลงทุน หนีไม่พ้นเรื่องความไม่เชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน สังเกตได้จากหลายบริษัทมหาชนไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่อง R&D มากนัก ซึ่งนั้นเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตต่อไป ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า บางครั้งความไม่ชัดเจนด้านข้อกฎหมาย ก็มีผลต่อการตัดสินใจเข้าลงทุนในภาคการธุรกิจของชาวต่างชาติ รวมทั้งความไม่ทันสมัยของหน่วยงานภาครัฐในด้านเทคโนโลยี ไม่สอดรับกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ
  • การขออนุญาติจัดสรรทั่วประเทศ สำหรับแนวราบ สัดส่วนหลักจะมาจากพื้นที่ต่างจังหวัด เนื่องจากยังมีขนาดที่ดินเหลือสูง ขณะที่พื้นที่กทม. ที่ดินมีราคาแพง ไม่คุ้มกับการพัฒนาอสังหาในแนวราบ ส่วนที่สร้างก็มักจะเป็นบ้านรูปแบบใหม่ที่มีขนาดเล็กลง ขณะที่อสังหาแนวสูงมีการเติบโตเพิ่มขึ้นไปเรื่อยทั้งในพื้นที่กทม. และต่างจังหวัดในหัวเมืองสำคัญและเมืองชายทะเล
  • อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยพื้นที่ กทม . พบว่า คอนโดมิเนียม มีอัตราการขาย เฉลี่ยอยู่ที่ 80% ยูนิตคงเหลือขาย สัดส่วนกว่า58%ของทั้งหมด จะเป็นระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ขณะที่อัตราการขายบ้านจัดสรร เฉลี่ยอยู่ 71% ยูนิตคงเหลือขาย สัดส่วน 29%ของทั้งหมด จะเป็นระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเช่นกัน ความน่ากลัวของผู้บริโภคอสังหา สำหรับบ้านแนวราบ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นการซื้อเพื่อนอยู่อาศัยจริง ต่างจากคอนโดมิเนียม ที่มีโอกาสซื่อเพื่อการลงทุนเกร็งกำไรค่อนข้างสูง อย่าคิดว่าง่าย อย่าคิดว่าซื้อไปยังไงก็ราคาขึ้น แน่นอนวว่าราคาอาจขึ้นตามราคาตลาด แต่จะมีคนมาซื้อต่อจากคุณจริงหรือ ? ก็เป็นอีกเรื่อง แนะนำว่าอย่าตัดสินใจเพียงแค่หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ตราบใดที่คุณยังไม่ได้ลงสนามสำรวจด้วยตาของคุณเอง ก็เท่ากับเพิ่มความเสี่ยงในการเจ๊งให้ตนเองได้แบบไม่รู้ตัว

ผังเมืองรวมและรถไฟฟ้ามีความสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในอนาคต

การอภิปรายร่วมกันทางด้านผังเมืองและทิศทางการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในมิติต่างๆ เป็นการอภิปรายร่วมกันระหว่างคุณมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง, คุณชัยวัฒน์ ทองทำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. และคุณวันชัย ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งเนื้อหาจะเน้นหนักไปด้านการทิศทางพัฒนาและการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดย TerraBKK Research ได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจมาดังนี้
  • กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า การพัฒนาผังเมืองนั้นมีหลากหลายระดับ ซึ่งในระดับประเทศนั้นก็ได้มีการวางยุทธศาสตร์และผังประเทศไว้แล้วล่วงหน้าถึง 50 ปี ซึ่งอยู่ในชื่อ ผังประเทศไทย ปี 2600โดยเป็นผังนโยบายซึ่งมีเนื้อหากำหนดทิศทางและกรอบการพัฒนาคร่าวๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ จำนวนการเติบโตของประชากรในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ในปี 2558 นั้น มีจำนวนถึง 10.7 ล้านคน (ไม่รวมจำนวนประชากรแฝงอีก 4.8 ล้านคน) ในขณะที่พื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีประมาณ 7,761 ตร.กม. ซึ่งหมายความว่าความหนาแน่นของประชากรจะมีถึง 1,379 คนต่อตร.กม. ซึ่งมีการเติบโตแบบกระจายตัวตามพื้นที่ชานเมืองมาก ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานนั้นไม่สามารถรองรับการขยายตัวได้เท่าทัน จึงมีแนวคิด การวางผังภาคมหานคร ซึ่งหมายถึงผัีงเมืองนั้นจะไม่ได้แยกพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล แต่จะเป็นการผนวกการวางผังร่วมกัน นอกจากนั้นจากทิศทางการพัฒนาด้านระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ที่จะมีการพัฒนาขนส่งมวลชนระบบรางภายในเมือง ทำให้ผังเมืองเองต้องปรับตัวเพื่อที่จะสามารถรองรับการพัฒนาให้เท่าทัน ซึ่งในปัจจุบัน ผังเมืองรวมนั้นไม่มีวันหมดอายุ โดยการปรับผังจะสามารถปรับแก้ได้เรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องปรับแก้หมดทั้งผังจึงจะประกาศใช้ได้ ซึ่งส่งผลด้านบวกต่อการพัฒนาผัง โดยแนวคิดหลักจากกรมโยธาธิการและผังเมืองจะเป็นไปเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าให้เกิดความบูรณาการ อีกทั้งยังมีแนวคิดในการเพิ่ม FAR และความหนาแน่นในพื้นที่ที่เน้นการพัฒนา และเพิ่ม FAR Bonus สำหรับที่โล่งและที่จอดรถ เป็นต้น ซึ่งแนวคิดการพัฒนาพื้นที่หลักคือ การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ หรือ Transit Oriented Development (TOD)

    • สำนักนโยบายและแผนการขนส่งมวลชน (สนข.)เปิดเผยว่าสนข. มีแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ในชื่อ แผน 8 ปี มีโครงการรวมทั้งหมด 36 โครงการ ซึ่งมีมูลค่างบประมาณการลงทุนสูงถึง 895,757.55 ล้านบาท โดยหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่กทม. และปริมณฑลได้ เนื่องจากสัดส่วนการเดินทางของคนกทม. และปริมณฑล มีการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ 46% และใช้รถยนต์​ส่วนบุคคลถึง 54% ซึ่งภายในตัวเลขการใช้บริการขนส่งมวลชน 83% เป็นรถเมล์, แท็กซี่ และรถตู้ แต่มีการใช้รถไฟฟ้าเพีงแค่ 12% เท่านั้น จึงจะเน้นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง ซึ่งทางรัฐบาล คสช. ก็ได้เร่งรัดให้มีการพัฒนาโครงการเร็วขึ้น จากกำหนดโครงการเสร็จสิ้นในปี 2572 เป็นปี 2565 โดยความคืบหน้าล่าสุด รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะเปิดให้บริการในช่วงเดือนสิงหาคม 2560 นี้, รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ดำเนินการไปแล้ว 21.75%, รถไฟฟ้าสายสีส้ม (PPP Project Pipeline) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รฟม.ได้ลงนามสัญญาจ้างแล้วเมื่อ 8 กพ. 2560, รถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี อยู่ระหว่างเจรจาคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างเดือน พ.ค. ปี 2560 และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างเดือน พ.ค. ปี 2560 เช่นกัน

  • ด้านสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าพื้นที่ กทม. และปริมณฑล มีการเติบโตแบบขยายออกสู่พื้นที่รอบนอกและปริมณฑลแบบกระจัดกระจาย ซึ่งทำให้ต้องมีการแก้ไขปัญหาด้วยการพัฒนาเมือง กทม.และปริมณฑลแบบ เมืองกระชับ (Compact City) และใช้ทฤษฎี เมืองบริวาร (Satellite Town) ซึ่งจะกระจายจุดศูนย์กลางย่อยตาม Interchange ของรถไฟฟ้าที่อยู่บริเวณชานเมือง เพื่อให้ระบบเมืองนั้นดีขึ้น จึงมุ่งเน้นที่จะปรับปรุงผังเพื่อให้รองรับกับการพัฒนารถไฟฟ้า โดยเน้นหนักไปที่จุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางสำคัญอย่าง บางซื่อ. มักกะสัน, ตลิ่งชัน, บางหว้า, ธนบุรี-วงเวียนใหญ่, มีนบุรี และอุดมสุข-บางนา รวมไปถึงสถานีสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างระบบขนส่งมวลชนทางบกและทางอากาศอย่างช่วง สถานีดอนเมืองและสถานีสุวรรณภูมิ โดยแนวคิดหลักของการพัฒนาก็จะเป็นการนำ การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ หรือ Transit Oriented Development (TOD) มาใช้ด้วยเช่นกัน แต่มีอุปสรรคมากนั่นคือ พื้นที่รอบสถานีที่สำคัญส่วนใหญ่ มักไม่เหลือพื้นที่ให้พัฒนาหรือเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถพัฒนาได้ เนื่องจากมีอาคารและเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่เกือบเต็มพื้นที่แล้ว นอกจากนั้นสำนักผังเมือง กทม. ยังเปิดเผยว่าจะมีการนำแนวคิดการพัฒนาเมืองมาใส่ไว้ในผังเมืองใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึุกษา ได้แก่ การจัดทำข้อกำหนดแผนผังโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ Planned Unit Development หรือ PUDจะเป็นการรวมกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อรวบรวมเป็นแปลงใหญ่และวางแผนพัฒนาที่ดินใหม่ทั้งพื้นที่, การโอนสิทธิการพัฒนา (Transfer of Development Right หรือ TDR)คือการขายกรรมสิทธิ์ด้าน FAR ในพื้นที่อนุรักษ์ไปสู่พื้นที่ที่สามารถพัฒนาได้, การกำหนดพื้นที่เฉพาะเพื่อส่งเสริมการพัฒนาแบบซ้อนทับ (Overlay Control) คือการกำหนดพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยการควบคุมการพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น Façade หรือรูปแบบอาคาร และการให้ Bonus FAR สำหรับอาคารที่มีการก่อสร้างโดยเปิดพื้นที่ชั้นล่างให้เป็นพื้นที่เพื่อสาธารณะและแปลงที่ดินที่เปลี่ยนการรอบรั้วโครงการให้เป็นพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันระหว่างอาคาร เป็นต้น

ในส่วนของพื้นที่ต่างจังหวัด ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการพัฒนาที่สำคัญในช่วงนี้คือ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC), การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (SEZ), การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระหว่างเมืองหรือรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งมีเส้นทางระยะแรกทั้งหมด 4 เส้นทาง ได้แก่ สายเหนือ : กรุงเทพฯ-พิษณุโลก, สายใต้ : กรุงเทพฯ-หัวหิน, สายตะวันออกเฉียงเหนือ : กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และสายตะวันออก : กรุงเทพฯ-ระยอง และการพัฒนารถไฟฟ้าภายในเมือง ซึ่งสนข. ให้การสนับสนุนหลายจังหวัดด้วยกัน ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต : ท่าอากาศยานฯ-ห้าแยกฉลอง, จังหวัดสงขลา (หาดใญ่) : ควนลัง-บ้านพรุ, จังหวัดเชียงใหม่ : มีทั้งหมด 5 สาย ใช้ระบบ TRAM, จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดขอนแก่น : ทั้งหมด 5 เส้นทางเช่นกัน

ทิศทางและแนวโน้มการตลาดของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปี 2560

  • ดัชนีราคาห้องชุดและดัชนีราคาบ้านแนวราบ พบบว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2555-2559) มีแนวโนมการปรับตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งประเภทห้องชุด , บ้านเดี่ยว และทาวน์เฮ้าส์

  • ที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ กทม. และปริมณฑล พบว่า บ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ในแต่ละปีจะอยู่ระหว่าง 40,000 – 50,000 หน่วย สัดส่วนของห้องชุดต่อบ้านจัดสรรกำลังจะกลับไปสู่ระดับเดิมในปี 2554 โดยมีสัดส่วนประมาณ 55% ในปี 2559 หลังจากที่อาคารชุดเคยมีสัดส่วนสูงกว่าบ้านจัดสรร คิดเป็นสัดส่วนถึง 65:35 ในปี 2556 แนวโน้มปี 2560 คาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ จำนวน 108,000 หน่วย (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่จำนวน 97,200 -119,000 หน่วย)

  • การออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั่วประเทศพบว่า ในปี 2559 มีจำนวนหน่วยที่ได้รับจัดสรรที่ดินทั่วประเทศ 104,935 หน่วย ลดลงร้อยละ 4 จากปีก่อน (จำนวน 109,393หน่วย) จัดสรรในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 ขณะที่ต่างจังหวัดลดลงร้อยละ 24 ประเภทบ้านที่ขอจัดสรรมากที่สุดได้แก่ ทาวน์เฮ้าส์ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด อาคารพาณิชย์ และที่ดินเปล่า แนวโน้มปี 2560 คาดว่าจะมีหน่วยที่ได้รับจัดสรรที่ดิน จำ นวน 106,000หน่วย (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่จำนวน 95,200 – 116,000 หน่วย)

  • ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ กทม. และปริมณฑล พบว่า ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ ปี 2559 มีจำนวน 123,383หน่วย มีอัตราขยายตัวลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 0.4 มีอาคารชุดจดทะเบียนใหม่ 69,696หน่วย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3 ขณะที่บ้านแนวราบมีจำ นวน 53,687 หน่วย มีอัตราขยายตัว ลดลงร้อยละ 4.5 แนวโน้มปี 2560 คาดว่าจะมีที่อยู่ อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ จำนวน 124,000 หน่วย (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่จำนวน 111,000 –136,000 หน่วย)

  • การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย กทม. และปริมณฑล พบว่า ปี 2558 ช่วงไตรมาสสุดท้ายมีการเร่งโอนกรรมสิทธิ์เพื่อให้ทันมาตรการลด ค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนอง จำนวนหน่วยที่โอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ ในปี 2559 กลับไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2557 ที่ประมาณ 174,000 – 175,000 หน่วย แต่สัดส่วนของห้องชุดมีสัดส่วนสูงถึง 51% ขณะที่ปี 2558 ห้องชุดมีสัดส่วน เพียง 37% แนวโน้มปี 2560 คาดว่าจะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย จำนวน 180,000หน่วย (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่จำนวน162,000 – 221,000 หน่วย)

  • อสังหาริมทรัพย์ปี 2559 ที่ผ่านมา เรียกว่าเป็นปีแห่งการปรับโครงสร้างองค์กร ไม่ว่าจะเป็น บริษัทวงการอื่นที่ให้ความสนใจและกระโดดเข้ามาทำอสังหา อาทิ SINGHA จับอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม, อาคารสำนักงาน, ศูนย์การค้า เช่น โครงการThe ESSE เป็นต้น ,CPN ทำ CPN Residence พัฒนาคอนโดมิเนียมในศูนย์การค้า เช่น ESCENT เป็นต้น , KPN ทำ KPN Land พัฒนาคอนโดมิเนียม Super Luxury เช่น the diplomat เป็นต้น , CP ทำ CP Land และ Magnolias เช่น ทัสคานี กัลปพฤกษ์ Whisdom เป็นต้น การหาพันธมิตรในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย อาทิ แสนสิริจับมือBTS พัฒนาที่ดินมีศักยภาพ เช่น The Line , The Base เป็นต้น AP จับมือบริษัทญี่ปุ่น Mitsubishi Estate Group โครงการ Aspire , Life , Rhythem เป็นต้น อนันดาจับมือบรัษัทญี่ปุ่น Mitsui ทำโครงการ Ideo , Ashton เป็นต้น การเติบโตด้วยการซื้อกิจการ อาทิ Pruksa ปรับโครงสร้างธุรกิจเป็น Holding , TCC ซื้อกิจการ UV, GOLD , KLAND เพื่อขยายการพัฒนาโครงการให้ครอบคลุมทั้งประเภทอาคารสำนักงาน , เซอร์วิสอพารืตเมนท์ และแนวราบ เป็นต้น
  • ปี 2560 ยังคงมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจในเรื่องของตัวผลิตภัณฑ์ขยายตลาดอาทิ Pruksa Holding ทำที่อยู่อาศัยระดับพรีเมี่ยม และโรงพยาบาล , LPN จะทำคอนโดมิเนียมระดับกลาง-บน และแนวราบ , อนันดา จะทำธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ เป็นต้น
  • ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2560ยังคงอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอก เช่น นโยบายจากสหรัฐอเมริกา, ทิศทางการลงทุนจากจีนและอินเดีย แต่ก็ยังคงมีแรงหนุึนจากสภาพคล่องของอัตราดอกเบี้ยและการลงทุนจากภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้เกิดการทุนทุนของภาคเอกชนและการบริโภคภายในประเทศ แต่อย่างไรก็ตามในด้านความกังวลนั้นยังมีอยู่ เนื่องจากการเมืองในประเทศและเศรษฐกิจโลกนั้ยังมีความอ่อนไหวและกลายมาเป็นตัวกดดัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงต้องมาจากการบริโภคภายในประเทศ, การลงทุนของภาคเอกชน, การลงทุนและใช้จ่ายของภาครัฐบาลเป็นหลัก
  • ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ไทย ปี 2560ยังคงเติบโตแบบกึ่งทรงตัวเนื่องจากความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ต้นทุนที่ดินจะมีการปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ธนาคารจะลดการปล่อยสินเชื่อเนื่องจากหนี้สินครัวเรือนนั้นอยู่ในปริมาณมาก อัตราการ rejection จากการขอสินเชื่อของภาคธนาคารจะเพิ่มสูงขึ้น กลุ่มที่เติบโตดีคือคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮ้าส์ ในทำเล กทม.และปริมณฑล ส่วนในต่างจังหวัดบ้านเดี่ยวจะยังเติบโตดีอยู่ แต่คอนโดมิเนียมนั้นจะยังคงมีอุปทานคงค้างเหลือมาก ซึ่งไม่เหมาะสมกับการลงทุนสร้างใหม่ เนื่องจากในปี 2560 นี้ อุปสงค์จะเป็นตัวขับเคลื่อนอุปทาน--เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก