อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด ก็อย่างที่ทราบว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ไม่มีใครคาดฝันให้เกิดกับคนที่คุณรัก หรือครอบครัวตัวเอง ซึ่งอุบัติเหตุมีให้เห็น...พบได้บ่อยเกี่ยวกับรถยนต์ หรือจักรยานยนต์ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ลองมาดูกันซิว่าถ้าเกิดกรณี เด็กวัยรุ่นขาโจ๋ ขับรถชนคน ทำให้ผู้อื่นได้รับความบาดเจ็บเกิดความเสียหายหรือเสียชีวิตจะเกิดอะไรขึ้น

กรณีนี้ผู้เยาว์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คืออายุยังไม่ครบ 20 ปี ถือว่าเป็นความผิดต้องได้รับโทษโดนทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา

ในส่วนคดีแพ่งคือขับรถเร็ว และยิ่งเด็กขับรถโดยไม่มีใบขับขี่จนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตและบาดเจ็บ ถือว่าประมาทเลินเล่อ ทำให้ผู้อื่นเสียหายทั้งทรัพย์สิน ร่างกายถึงชีวิต ซึ่งในทางกฎหมายผู้กระทำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหาย อันนี้คือความผิดทางแพ่ง

คือต้องจ่ายค่าเสียหายให้ญาติผู้เสียชีวิตหรือที่บาดเจ็บ แต่คราวนี้คนทำเป็นผู้เยาว์ต้องรับผิดพ่อแม่ก็ ต้องมีส่วน “ร่วม”รับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๙ ดังนี้

“ บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์ หรือวิกลจริต ก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น”

พ่อแม่ต้องร่วมชดใช้ค่าเสียหายกับลูกเว้นแต่พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า ได้ระมัดระวังอย่างดีแล้ว ยิ่งเด็กขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ ไปตามถนนสาธารณะ เกิดความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย แบบนี้ถือว่าไม่ระมัดระวังตามหน้าที่ที่ควรดูแลบุตร จึงต้องร่วมชดใช้ แต่จะมากน้อยเพียงใดนั้นตามป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223 ให้พิจารณาพฤติกรรมฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อความเสียหาย ไม่ได้ถือเกณฑ์พิจารณาใครเสียหายมากกว่ากัน แต่ถ้าประมาทพอๆกัน ผู้ปกครองของเด็กเจ้าของรถ ผู้เอาประกันภัย ต้องรับผิดก็ต่อเมื่อลูกของตัวเองผิดจริง เมื่อลูกไม่อาจจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายได้ ผู้ปกครองผู้เป็นจำเลยร่วมต้องจ่ายค่าเสียหายนั้นแทน

ในส่วนของความผิดทางอาญา ถ้าหากคู่กรณีเกิดเสียชีวิตด้วย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 20000 บาท เพราะขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ด้วยความเร็วถือว่าประมาท ที่ทำให้คนตาย

เนื่องจากผู้กระทำเป็นผู้เยาว์ยังเด็กอยู่การรับโทษทางกฎหมายนั้นจะแตกต่างจากผู้ใหญ่ เพราะเด็กกฎหมายจะกำหนดไว้เฉพาะถ้าศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สมควรลงโทษ ก็จะทำเพียง ว่ากล่าวตักเตือน เรียกพ่อแม่มาคุย ให้พ่อแม่ระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกในเวลา 3ปี หรือส่งเด็กไปอยู่สถานพินิจอบรม

แต่ถ้าศาลพิจารณาแล้วควรลงโทษไว้ครึ่งหนึ่ง เช่นจำคุก 2 ปี ก็จะลงโทษจำคุกแค่ 1ปี และพ่อแม่อาจถูกจำคุกด้วยไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 30000 บาท เนื่องจากผู้กระทำเป็นผู้เยาว์ กฎหมายถือว่ายังไร้ความสามารถอยู่ดังนั้น พ่อแม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมด้วยในทางกฎหมาย

ครอบครัวถือมีส่วนสำคัญในการแสดงพฤติกรรมของเด็ก ดังนั้นคนเป็นพ่อเป็นแม่ควรมีเวลาเอาใจใส่ลูก ๆ ของตนเอง ปลูกฝังวินัย ให้เด็กมีความรับผิดชอบ รู้ดีรู้ชั่ว เพราะพื้นฐานครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญต่อพื้นฐานทางจิตใจของเด็กอยากให้เด็กมีอนาคตเติบโตในทางที่ดี ควรเอาใจใส่ให้ความรักการดูแลอย่างเต็มที่

บทความโดย : TerraBKKคลังความรู้ TerraBKKค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก