ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่นอกจากต้องใส่ใจเรื่องอาหารการกินแล้ว เรื่องของสุขภาพจิตก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะวัยนี้เป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตหลายอย่าง อารมณ์และความรู้สึกของผู้สูงอายุอาจเปราะบางเป็นพิเศษ และอาจส่งผลให้สุขภาพจิตย่ำแย่ ซึ่งก็จะพานส่งผลกระทบต่อร่างกาย ไม่ว่าจะมีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหารหรืออ่อนแรง และก่อนที่จะไปรู้จักวิธีสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุข เรามาเรียมรู้ธรรมชาติและความเป็นไปของผู้สูงอายุเพื่อเตรียมความพร้อมกันก่อนค่ะ

ธรรมชาติและความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุ

1.อารมณ์เหงาและว้าเหว่ เพราะคนวัยนี้มีเวลาว่างจากอาชีพการงาน บ้างพลัดพรากจากผู้ที่ใกล้ชิดและเป็นที่รัก นอกจากนี้ยังมีสภาวะทางกายเสื่อม อาทิ สายตาไม่ดี หูไม่ดี การทำกิจกรรมจึงมีข้อจำกัด โดยอารมณ์เหงาในผู้สูงอายุมักมีอารมณ์อื่นๆ ร่วมด้วย และก่อให้เกิดผลกระทบทางไปหลายอย่าง เช่น ซึมเศร้า เบื่ออาหาร หรือเกิดโรคภัยไข้เจ็บ

2.อารมณ์เศร้าจากการพลัดพราก เช่น การสูญเสียคนที่รัก ก็มักจะมีอารมณ์ทางลบต่างๆ ทั้งว้าเหว่ เลื่อนลอยหลงๆ ลืมๆ ซึ่งหากผู้ที่จากไปมีความคิดผูกพันกันอย่างมากแล้ว เขาก็อาจจะตามไปในเวลาไม่ช้า ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้

3.อารมณ์โกรธ เมื่อยามที่มีความขัดแย้งกับลูกหลานไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น

4.ขี้น้อยใจ เพราะคิดว่าตนเองไร้ค่าและลูกหลานไม่สนใจ

5.การย้อนคิดถึงความหลัง เช่น นั่งคิดอะไรคนเดียวเงียบๆ บอกเล่าให้เพื่อนฟังหรือมักเดินทางไปยังสถานที่คุ้นเคย เพราะการย้อนอดีตเพื่อดูว่าชีวิตที่ผ่านมาสมหวังหรือไม่ และหากย้อนไปแล้วรู้สึกไม่พึงพอใจก็อาจเกิดความรู้สึกคับแค้น แต่หากผู้สูงอายุย้อนคิดถึงอดีตแล้วเกิดความพอใจ และเพื่อปรับตนให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงในชีวิตท่านผู้นั้นก็จะสามารถมีความสุขตามวัยได้

6.วิตกกังวล เป็นความรู้สึกกลัวว่าต้องพึ่งลูกหลาน ขาดความมั่นใจ ขาดความสามารถ กลัวภัย หรือกลัวการไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแล เป็นเหตุทำให้อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง เบื่ออาหาร หายใจไม่ออกหรือเป็นลมง่าย

7.กลัวถูกทอดทิ้ง เนื่องจากช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง

8.หงุดหงิด เนื่องจากทำอะไรด้วยตนเองได้น้อยลง ใครทำอะไรก็ไม่ถูกใจ จึงกลายเป็นคนจู้จี้ขี้บ่น แสนงอน

แค่ 9 วิธี คุณก็เป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขได้ thaihealth

แต่สิ่งเหล่านั้นสามารถป้องกันได้ถ้าผู้สูงอายุเรียนรู้และรู้จักการปรับตัวยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและในวันนี้เราจะมี 9 วิธีคุณก็เป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขได้มาบอกเล่าให้กับทุกคนฟังกันค่ะ

1.ผู้สูงอายุควรรู้จักโอนอ่อนผ่อนตามความเห็นของลูกหลาน คิดเรื่องต่างๆ ด้วยความยืดหยุ่นว่าทำอะไรจึงจะอยู่ร่วมกับครอบครัวและคนอื่นได้อย่างดีที่สุด และเกิดความขัดแย้งน้อยที่สุด

2.ผู้สูงอายุทำใจตระหนักได้ว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา

3.ผู้สูงอายุควรมองชีวิตตนเองในทางที่ดี ภาคภูมิใจที่สามารถเป็นที่พึ่งพิงแก่ผู้อ่อนวัย

4.เมื่อมีความกังวลต่างๆ เช่น เป็นห่วงลูกหลานจะลำบาก กังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของตน ควรศึกษาพูดคุยกับคุณใกล้ชิดก็ได้ระบายความรู้สึก เป็นต้น

5.พยายามหากิจกรรมฝึกงานอดิเรกที่ทำแล้วรู้สึกเพลิดเพลิน และมีคุณค่าทางจิตใจ เช่น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

6.เข้าสังคมพบปะสังสรรค์กับผู้อื่น เพื่อพูดคุยกันปรับทุกข์

7.ยึดศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ เช่น สวดมนต์ เข้าวัด ทำบุญ ฝึกสมาธิ เป็นต้น

9.หมั่นทำจิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอ ไม่เครียด ไม่จู้จี้ หรือหงุดหงิดง่าย

ไม่ใช่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่ต้องปรับตัว ผู้ดูแลผู้สูงอายุเองก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน และเมื่อทั้งสองฝ่ายปรับตัวเข้าหากันได้ก็จะส่งผลดีก็ให้เกิดความสบายใจผ่อนคลายและมีความสุขทั้งผู้รับและผู้ให้

ถ้าหากท่านใดสนใจ อยากเข้าใจผู้สูงอายุมากขึ้น วันนี้ สสส. มีนิทรรศการ “ชราแลนด์ ดินแดนวันเดอร์เวิลด์” นิทรรศการที่จะชวนคุณมาทดสอบและทำความเข้าใจว่าผู้สูงอายุเป็นใคร ควรได้รับการดูแล รวมถึงการอยู่ร่วมกันในครอบครัวและสังคมกับพวกเขาอย่างไร นิทรรศการจะจัดแสดงตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 สิงหาคม 2560 ณ โซนนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น 2 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. 

สอบถามรายละเอียดได้ที่ E-mail:exhibition.thc@thaihealth.or.th   Tel.: 061-8428778 / 023-431500 Line ID: ThaiHealthExhibition

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th