เมื่อประมาณ 120 ปีที่แล้ว ท่านลอร์ดเคลวิน ประมุขของราชวงศ์อังกฤษเคยลั่นวาจาไว้ว่า “ไอ้เครื่องที่มันหนักกว่าอากาศมันจะลอยอยู่บนฟ้าได้ยังไง เป็นไปไม่ได้! ถ้าท่านลอร์ดเผอิญฟื้นคืนชีพมาได้ คงต้องงงเป็นไก่ตาแตกเพราะทุกวันนี้ มีเครื่องบินจำนวนนับไม่ถ้วนอยู่เต็มน่านฟ้า แต่จะไปว่าท่านลอร์ดก็คงไม่ได้ เพราะใครกันที่จะบอกอนาคตได้แม่นยำ แม้แต่หมอกฤษคอนเฟิร์มยังต้องหน้าแตก เพราะดันไปทำนายว่าโอบาม่าจะครองตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐได้แค่สมัยเดียว 

หลายหน่วยงาน หลายสำนักทั่วโลก เค้ามีการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตกันอยู่ตลอดเนืองๆอยู่แล้ว แต่ด้วยปัจจุบันนั้นโลกมันหมุนเร็วซะเหลือเกิน ทำให้เกิดการเติบโตอย่างฉับพลันและก้าวกระโดด จึงเกิดเป็นการคาดการณ์โลกในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยอาศัยการทำนายจาก Mega Trend หรือคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบโดยตรงกับคนทั้งโลกมาใช้เป็นเงื่อนไขการสมมติฐาน โดยในบทความนี้เราจะขอวิเคราะห์ด้วย จำนวนประชากรในอนาคต

ประชากรเกิดใหม่น้อยลง ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น และโลกจะมีพื้นที่เมืองมากขึ้น

World Bank เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ออกมาพยากรณ์ประชากรในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกเปลี่ยนไป โลกเราจะมีประชากรมากกว่า 8 พันล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า เพิ่มจากปัจจุบันที่มี 7.4 พันล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาไม่มากนัก เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของประชากร จะลดลงจากเดิมปีละ 1.3% เหลือแค่ปีละ 0.9% ในปี 2030 หรือสรุปอย่างรวบรัดก็คือในอนาคตจะมี ประชากรเกิดใหม่น้อยลง เหตุผลอาจเป็นเพราะคนจะนิยมเป็นโสดมากขึ้นหรือมีลูกน้อยลงนั่นเอง นอกจากนั้น ประชากรกว่า 60% ทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตเมือง

ทีนี้เรามาส่องลักษณะประชากรในอีก 20 ปีกันบ้าง โดยเราได้เปรียบเทียบอายุเฉลี่ยของประชากร จากปัจจุบันอายุเฉลี่ยที่ 31 ปี แต่ในปี 2030 อายุเฉลี่ยจะเพิ่มเป็น 33 ปี ข้อมูลนี้ฉาพภาพให้เข้าใจได้อย่างคร่าวๆว่า อายุของประชากรมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในทุกๆปี นอกเหนือไปจากนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนประชากร โดย ประชากรสูงวัยจะมีสัดส่วนมากกว่าประชากรเด็ก จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนพอๆกัน

ปรากฎการณ์นี้บอกใบ้ถึงอะไร?

TerraBKK ขอเริ่มต้นจากสาระสำคัญที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ นั่นคือการที่พื้นที่เมืองเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว (urbanization) ทำให้ในอนาคตจะมี เมืองใหญ่ (Mega City) ที่มีประชากรอาศัยมากกว่า 10 ล้านคน ถึง 41 เมืองทั่วโลก และโตเกียวจะเป็นเมืองที่มีประชากรถึง 34 ล้านคน ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

Vanessa Houlder ลองเปรียบเทียบการเติบโตของเมืองใหญ่นี้เล่นๆว่า เมืองลอนดอนใช้เวลาถึง 130 ปี ประชากรถึงจะเพิ่มจาก 1 ล้านเป็น 8 ล้านคน แต่กรุงเทพใช้เวลาแค่ 45 ปีเท่านั้น การเติบโตของเมืองเร็วกว่า 3 เท่าของอังกฤษเลยทีเดียว ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา

ในขณะที่ในเมืองมีประชากรเพิ่มขึ้น พื้นที่ชนบทก็จะมีประชากรลดลงเช่นเดียวกัน 

แนวโน้มการส่งเสริมการพัฒนาเมือง ทั้งในด้านงบประมาณ โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม การศึกษา สาธารณสุข และอีกมากมาย จะยังคงทุ่มทุนไปที่เมืองใหญ่อย่างที่เคยเป็นมา ทำให้เมืองจากที่โตอยู่แล้วก็จะโตมากขึ้นไปอีก จนเกิดเป็น เมืองโตเดี่ยว ในที่สุด ระยะห่างระหว่างเขตเมืองกับเขตชนบทจะกว้างมากขึ้นเนื่องจากความไม่เท่าเทียมในการพัฒนา แต่จะมีระยะเวลาในการเดินทางระหว่างเมืองที่สั้นลง เนื่องจากระบบคมนาคมระหว่างเมืองส่วนใหญ่ได้ถูกพัฒนาให้ครอบคลุมแล้ว

และเมื่อการพัฒนาไม่ได้ถูกกระจาย ทำให้เกิดปัจจัยดึงดูดประชากรให้หลั่งไหลเข้ามาในเมืองใหญ่อย่างต่อเนื่อง และเมื่อเมืองใหญ่มีประชากรเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาก็จะยังคงกระจุกอยู่ที่เมืองใหญ่เหมือนเดิม ปรากฎการณ์นี้ดูคล้ายกับงูกินหางยังไงยังงั้น

เมื่อประชากรมีจำนวนมากขึ้นในขณะที่เนื้อที่เมืองก็ไม่ได้กว้างขึ้นเลย ทำให้ที่อยู่อาศัยแนวสูงนั้นจะยังคงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการพัฒนาไปอีกนาน โดยราคาที่อยู่อาศัยจะอยู่ในระดับที่มีความเสถียรมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถขายสินค้าราคาแพงได้ เพราะว่าประชากรส่วนใหญ่ในเมืองจะเป็นกลุ่ม middle-income ที่มักจะไม่สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ในระดับที่เหนือกว่า Main Class ขึ้นไป ที่สำคัญคือมีแนวโน้มว่าจะมีการเช่าที่อยู่อาศัยมากกว่าจะซื้อเพื่ออยู่เองเกิน 50% เลยทีเดียว อาจเป็นไปในรูปแบบของ sharing economy ที่อยู่รวมกันระหว่างคนทำงานที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน

สิ่งที่ตามมาก็คือ เกิดการเพิ่มขึ้นของอสังหาริมทรัพย์แบบ Affordable Housing ที่เน้นเพื่อรองรับคนทำงานกลุ่ม middle-income โดยเฉพาะ ซึ่งแนวคิดนี้เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยุโรปและอเมริกา ความน่าจะเป็นของการพัฒนาก็คือภาครัฐจะสนับสนุนให้เอกชนพัฒนาโครงการแบบ Affordable Housing ด้วยการใช้มาตรการจูงใจอย่างการเพิ่ม FAR หรือการยกเว้นข้อกำหนดบางอย่าง เป็นต้น 

เมื่อเกิดการรวมกลุ่มของประชากรจำนวนมากในเมือง ทำให้สลัมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดตามมาด้วยเช่นกัน เส้นแบ่งขอบเขตระหว่างรายได้จะเห็นชัดเจนมากขึ้น เกิดการกีดกันการจ้างงาน และปัญหาความยากจนจะมากระจุกตัวอยู่ที่พื้นที่เมือง

ถึงแม้ภาวะการเพิ่มจำนวนของ Mega City หรือแม้กระทั่ง เมืองโตเดี่ยว จะเป็นสถานการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และดูเหมือนว่าจะไม่น่าพิศมัยเท่าไรนัก แต่ข้อดีของภาวะแบบนี้ก็ยังคงมีอยู่ โดยบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานของประชาชนในเมืองใหญ่จะสมบูรณ์มากขึ้น นอกจากนั้นรายได้ต่อหัวยังเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในเมืองศูนย์กลางของประเทศ โดยเห็นได้ชัดจากการประมาณค่า GDP ที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาที่ GDP จะมีอัตราการเติบโตมากกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

นี่เป็นการคาดการณ์อนาคตคร่าวๆ เฉพาะด้านผลกระจบจาก จำนวนประชากร ในอนาคตเท่านั้น ยังคงมี Mega Trend อื่นๆ ที่ทำให้โลกเปลี่ยนไปอย่างน่าจับตามองอีกหลายประเด็น โดย TerraBKK จะขอสวมบทบาทนักพยากรณ์ ในการนำข้อมูลมาย่อยเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพชัดขึ้นและวิเคราะห์ความน่าจะเป็นของอนาคตกันทุกประเด็น - เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก