สินเชื่อเอสเอ็มอีกสิกรไทยยังโตต่อเนื่อง ครึ่งปีแรก 60 ยอดสินเชื่อ 679,000 ล้านบาทโต 3%  คาดทั้งปีจะโตตามเป้า 4-6% เผยอุตสาหกรรมเด่น ก่อสร้าง ท่องเที่ยว โลจิสติกส์และดาวรุ่งดวงใหม่อีคอมเมอร์ส ชี้เอสเอ็มอีอยู่ในช่วงท้าทาย เตรียมหนุน 4 เรื่อง การเงิน เครือข่ายเอสเอ็มอี ดิจิทัลแบงกิ้ง และองค์ความรู้ มั่นใจเป็นผู้นำอันดับ 1 ครองส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อ 28% และมีเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในไทย

         นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของสายงานธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการหรือเอสเอ็มอี ในช่วงครึ่งแรกปี 2560 ของธนาคารกสิกรไทย มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 679,000 ล้านบาท เติบโต 3% จากสิ้นปี 2559 จากเป้าหมายทั้งปีที่คาดว่าจะโต 4-6% มีรายได้รวมที่ 21,500 ล้านบาท ทั้งนี้เอสเอ็มอีอยู่ในช่วงที่ท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสเศรษฐกิจและรูปแบบการดำเนินธุรกิจของโลกที่จะมีคู่แข่งหน้าใหม่ๆ ที่มีความพร้อมด้านเทคโลโลยีและเงินทุนเข้ามาแข่งขัน จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันทางธุรกิจได้ สำหรับอุตสาหกรรมที่โดดเด่นในครึ่งปีแรก ได้แก่ รับเหมาก่อสร้างและค้าวัสดุก่อสร้าง ท่องเที่ยวและสุขภาพ โลจิสติกส์ และอีคอมเมอร์ส ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ และเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

          ในครึ่งหลังปี 2560 ธนาคารกสิกรไทยวางกลยุทธ์สนับสนุนลูกค้าใน 4 ด้าน คือ ด้านการสนับสนุนทางการเงิน ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการดูแลลูกค้าในทุกห่วงโซ่ธุรกิจ (Value Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ การบริโภคและบริการ อุตสาหกรรมหนักและการส่งออก และโครงสร้างพื้นฐาน/พลังงานและการขนส่ง เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่อยู่ห่วงโซ่ธุรกิจมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ และได้รับความสะดวกในการบริหารจัดการด้านการเงินทั้งขารับและขาจ่าย โดยในครึ่งแรกปี 2560 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างของ Value Chain อยู่ที่ 61,300 ล้านบาท จากลูกค้าที่เป็นเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางกว่า 1,500 กลุ่ม นอกจากนี้ยังสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่อภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน ของ บสย. โดยธนาคารจะรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันแทนลูกค้าอัตรา 1.75% ใน 4 ปีแรก ซึ่งจากการเปิดโครงการไปเพียง 1 สัปดาห์ ได้รับการตอบรับจากลูกค้าที่สนใจขอสินเชื่อมาแล้วถึง 1,000 ล้านบาท

 

         ด้านเครือข่ายเอสเอ็มอี การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นสิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการสมาชิก K SME Care กว่า 13,000 คน ได้แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ สร้างสัมพันธ์ และเกิดการซื้อขายกันระหว่างนักธุรกิจทุกภูมิภาค โดยมีมูลค่าการซื้อขายรวมกว่า 1,500 ล้านบาท พร้อมทั้งร่วมกับกลุ่มพันธมิตรของธนาคารทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงกลุ่มเครือข่ายของธนาคารที่อยู่ในท้องถิ่นทั่วประเทศอีกกว่า 200 หน่วยงาน ร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมในการต่อยอดทางธุรกิจ สร้างโอกาสขยายตลาด และเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี

         ด้านดิจิทัลแบงกิ้ง พัฒนานวัตกรรมการเงินที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจเอสเอ็มอี ได้แก่ Food Solution ระบบบริหารจัดการร้านอาหารที่เชื่อมต่อระบบการจ่ายเงินและระบบบัญชี K PLUS SME ธนาคารบนมือถือเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และบริการหนังสือค้ำประกันบนอินเตอร์เน็ต (K CONNECT-LG) เป็นบริการที่ครอบคลุมทุกเรื่องเกี่ยวกับ LG ผ่านออนไลน์ ซึ่งบริการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างคล่องตัวในยุคไทยแลนด์ 4.0 และในครึ่งปีหลังธนาคารมีแผนที่จะพัฒนาเครื่องมือการเงินใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ในแต่ละธุรกิจมากขึ้น

          และด้านองค์ความรู้ พัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบในการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่เสมอ ทั้งการจัดงานสัมมนาเพื่อให้เรียนรู้ตลาดใหม่ๆ และการพัฒนาธุรกิจให้ทันยุค 4.0 การให้คำปรึกษาธุรกิจแบบ 1 on 1 รวมถึงการให้ความรู้ผ่านสื่อดิจิทัลเพื่อให้ตอบรับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป

นายสุรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในครึ่งหลังปี 2560 เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว โดยธุรกิจที่น่าจับตามอง คือ ธุรกิจส่งออก ที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความต้องการสินค้าไทย ธุรกิจก่อสร้าง ที่ได้รับอานิสงค์จากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเร่งการเบิกจ่ายก่อนปิดปีงบประมาณในเดือน ก.ย.นี้ และธุรกิจท่องเที่ยว ที่ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวเกือบทุกสัญชาติที่กลับมาขยายตัวได้ดี และยังคงตั้งเป้าเป็นผู้นำอันดับ 1 ครองส่วนแบ่งตลอดสินเชื่อเอสเอ็มอี 28% และมีเครือข่ายธุรกิจเอสเอ็มอีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก   www.kasikornbank.com