ภัยร้ายใกล้ตัวอย่าง Cyberbullying อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อยากให้ผู้ปกครองใส่ใจบุตรหลานให้มากขึ้น ก่อนเป็นเหยื่อที่ถูกรังแกผ่านโลกโซเชียล

          โลกออนไลน์เข้าถึงได้ง่ายกว่าสมัยก่อนเยอะ โดยเฉพาะเมื่อมีโซเชียลมีเดียซึ่งใคร ๆ ก็เข้าถึงได้แม้ไม่มีคอมพิวเตอร์ แค่เพียงสัมผัสหน้าจอโทรศัพท์เพื่อกดเปิดแอปพลิเคชันก็สามารถย่อทุกความไกลห่างให้เชื่อมต่อกันได้ภายในเสี้ยววินาที แต่เทคโนโลยีแบบนี้ก็เหมือนดาบสองคม ที่มีช่องโหว่ให้เกิด Cyberbullying หรือการรังแกในโลกออนไลน์ของเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจทำผู้ที่ถูกรังแกเสียสุขภาพจิตและอาจยกระดับเป็นโรคซึมเศร้าได้

          ฉะนั้นคงดีกว่าหากเราจะมาทำความเข้าใจว่า Cyberbullying คืออะไร และมีหนทางที่เราจะป้องกันการรังแกบนโลกออนไลน์ไม่ให้กระทบกับจิตใจบุตรหลานหรือตัวเราเองได้ยังไงบ้าง

Cyberbullying คืออะไร ?

          Cyberbullying คือ การรังแกของเด็กและเยาวชนในยุคไฮเทค เป็นกรณีพิพาทระหว่างเด็กกับเด็กด้วยกัน โดยที่ใช้เครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เชื่อมต่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม แชท หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็นเครื่องมือหลักในการรังแกและกลั่นแกล้งกัน โดยการกลั่นแกล้งนี้สามารถทำได้ 24 ชั่วโมง ต่างจากสมัยก่อนที่เด็ก ๆ จะรังแกกันได้ในโรงเรียนหรือแบบซึ่ง ๆ หน้าเท่านั้น

Cyberbullying เป็นการกลั่นแกล้งกันแบบไหน ?

          การกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์ สามารถแตกประเด็นออกไปได้ 6 รูปแบบดังนี้

  1. การโจมตี ขู่ทำร้าย หรือใช้ถ้อยคำหยาบคาย

          การโพสต์ด่าทอ พูดจาส่อเสียด ให้ร้าย หรือขู่ทำร้าย ผ่านช่องทางการสนทนา หรือโพสต์อย่างโจ่งแจ้งที่หน้าโซเชียลมีเดียของผู้ถูกกระทำ เช่น แชทเฟซบุ๊กหรือไลน์มาว่าจะดักทำร้าย เมื่อเจอหน้ากันที่โรงเรียนหรือที่ไหนก็ตาม เป็นต้น

  1. การคุกคามทางเพศแบบออนไลน์

          โดยการพูดจาคุกคามทางเพศผ่านโซเชียลมีเดีย การบังคับให้แสดงกิจกรรมทางเพศผ่านกล้อง การส่งภาพหรือวิดีโอโป๊เปลือยมาให้โดยที่ผู้รับไม่ได้ต้องการ การแฉหรือตัดต่อภาพโป๊เปลือยไปโพสต์ในโซเชียลเพื่อให้ได้รับความอับอาย เป็นต้น

  1. การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่น

          โดยเฉพาะกรณีเปิดเผยรหัสผ่านของโซเชียลให้ผู้อื่นรู้ ยกตัวอย่างเช่น ให้เพื่อนสมัครเฟซบุ๊กหรือไลน์ให้ เคสนี้ก็อาจโดนรังแกด้วยการถูกสวมรอยใช้เฟซบุ๊กของตัวเองโพสต์ข้อความหยาบคาย ให้ร้ายบุคคลอื่น โพสต์รูปโป๊ คลิปวิดีโอลามก หรือสร้างความเสียหายในรูปแบบต่าง ๆ

  1. การแบล็กเมล์กัน

          โดยนำความลับหรือภาพลับของเพื่อนมาเปิดเผยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ มีการแชร์ต่อกันไปอย่างกว้างขวาง หรือการใส่ร้ายป้ายสี เช่น ตัดต่อรูปภาพน่าเกลียด ๆ หรือการแอบถ่ายภาพหลุดที่น่าขำมาโพสต์ประจาน และแสดงความคิดเห็นอย่างสนุกสนานเกินเลย

  1. การหลอกลวง

          มีทั้งการหลอกลวงให้หลงเชื่อ ให้ออกมานัดเจอเพื่อทำมิดีมิร้าย หรือการหลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินไปให้ด้วยวิธีการต่าง ๆ

  1. การสร้างกลุ่มในโซเชียลเพื่อโจมตีโดยเฉพาะ

          อย่างที่เราเห็นคนตั้งเพจแอนตี้ โจมตีบุคคลหนึ่งขึ้นมา มีการจับผิดทุกอิริยาบถ แล้วนำมาถกประเด็นให้เกิดความเสียหายต่อคนที่ตัวเองไม่ชอบ หรืออาจมีการโน้มน้าวให้คนอื่นรู้สึกรังเกียจ และกีดกันให้ออกจากกลุ่ม จากสังคมที่อยู่

          ทั้งนี้การกระทำที่เข้าข่าย Cyberbullying จะเกิดจากเจตนาที่มุ่งร้ายให้อับอาย เจ็บใจ และเสียใจ ดังนั้นการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์จึงมักจะเป็นการกระทำซ้ำ ๆ ไม่ใช่เพียงครั้งเดียวแล้วเลิกนะคะ

Cyberbullying สาเหตุคืออะไร

          สาเหตุของการเกิด Cyberbullying มีทั้งเริ่มจากความขัดแย้งเล็ก ๆ ระหว่างเด็กกับเด็ก ความหมั่นไส้กัน หรือมีกรณีพิพาทเรื่องชู้สาว อันเป็นชนวนของการรังแกกันต่อในโลกออนไลน์ เนื่องจากพื้นที่บนโลกออนไลน์ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน ด้วยเหตุนี้จึงมีความกล้าที่จะรังแกกันมากขึ้น

          นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังเข้าใจว่าโซเชียลคือพื้นที่ระบายความรู้สึก ถ้อยคำที่ใช้โพสต์ หรือพฤติกรรมในการกลั่นแกล้งกันจึงออกแนวรุนแรง แสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งเทคโนโลยียังเอื้อให้การทำร้ายกันผ่านโซเชียลเป็นเรื่องง่าย แค่พิมพ์ข้อความไป ไม่ต้องเสียกำลังอะไรก็โพสต์เสียดสีหรือสร้างความเสียหายให้อีกฝ่ายได้แล้ว

Cyberbullying ใครเสี่ยงบ้าง

ข้อมูลจากชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทยเผยว่า จากการสำรวจเด็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า มีเด็กราว ๆ 48% ที่อยู่ในวงจร Cyberbullying โดยอาจเป็นทั้งผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ หรือเป็นเพียงผู้ที่พบเห็นการรังแกกันผ่านโลกโซเชียล และเด็กส่วนใหญ่อยู่ในชั้นมัธยมต้น

          อย่างไรก็ตาม แม้สื่อสังคมออนไลน์จะระบุอายุของผู้ใช้งานไว้ที่ 13 ปี เหมาะสมตามที่ชมรมจิตเวชเด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ ทว่าก็มีเด็กอายุต่ำกว่ากำหนดจำนวนไม่น้อยที่โกงอายุตัวเองเพียงเพื่อให้สมัครเข้าใช้โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้ ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปียังไม่สมควรใช้สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ เพราะเสี่ยงที่จะได้รับข้อมูลอันตรายอีกทั้งเด็กยังไม่อยู่ในวัยที่จะมีทักษะควบคุมหรือป้องกันตัวเองจากการกลั่นแกล้งเหล่านี้ได้ และอาจตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying ในที่สุด

พ่อแม่จะสังเกตอาการ Cyberbullying ได้อย่างไร

          ในฐานะผู้ปกครอง เราอาจสังเกตอาการ Cyberbullying ของบุตรหลานได้จากสัญญาณต่อไปนี้

          - มีอาการซึมเศร้า เครียด หรือมีความวิตกกังวล

          - เด็กกลายเป็นคนชอบเก็บตัว ไม่ค่อยพูดจา วัน ๆ เล่นแต่มือถือหรือแท็บเล็ต

          - ทำตัวห่างเหินจากคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อนที่โรงเรียน

          - ไม่อยากไปโรงเรียน แอบหนีเรียนบ่อย ๆ

          - การเรียนตกต่ำอย่างไม่ทราบสาเหตุ

          - เมื่อเจอคนพูดถึงเรื่องที่น่าอับอาย หรือสอบถามถึงสาเหตุของการไม่ไปโรงเรียน เด็กอาจมีอาการกรี๊ด ร้องไห้อย่างหนัก หรือสติหลุด

ผลกระทบจาก Cyberbullying มีอะไรบ้าง

          ผลกระทบจาก Cyberbullying ที่มีต่อเด็ก ๆ อาจมีตั้งแต่สร้างความรำคาญ ความเดือดเนื้อร้อนใจ บางคนรู้สึกเบื่อชีวิต ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากพบเจอใคร โดยมีเรื่องที่ถูกรังแกตามมาหลอกหลอนเป็นระยะ หรือบางรายอาจมีความเครียดอย่างหนัก ทำให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และอาจร้ายแรงถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ เป็นผลให้รู้สึกอยากฆ่าตัวตาย

          ส่วนคนที่เป็นฝ่ายรังแก อาจมีความรู้สึกไม่สบายใจหรือเกิดความรู้สึกผิดกัดกินใจในภายหลังได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี ผลกระทบจาก Cyberbullying ไม่ว่าจะต่อผู้รังแกหรือผู้ถูกรังแกนั้นจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับบุคลิกของแต่ละบุคคล รวมไปถึงทักษะการรับมือของแต่ละคนด้วย

วิธีป้องกัน Cyberbullying

          สำหรับการดูแลบุตรหลานไม่ให้เสี่ยง Cyberbullying ผู้ปกครองสามารถทำได้ดังนี้

  1. สอนลูก ๆ ว่าอย่าไว้ใจคนแปลกหน้า โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ใครมาขอเป็นเพื่อนต้องตรวจสอบให้ดี หากไม่รู้จักก็ไม่ควรตอบรับคำขอเป็นเพื่อนนั้น
  2. คอยสอดส่องว่าลูกจะไปไหน กับใคร หรือเพื่อนที่ลูกคุยด้วย แชทด้วยเป็นใคร
  3. สอนลูกให้เก็บข้อมูลส่วนตัวของตัวเองให้ดี โดยเฉพาะกับคนแปลกหน้าและคนที่ไม่สนิทสนม ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวอย่างชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมลส่วนตัว ที่สำคัญควรย้ำกับลูกว่าไม่ควรนัดเจอกันส่วนตัวกับเพื่อนในโลกออนไลน์โดยเด็ดขาด
  4. ควรกำหนดข้อตกลงกันก่อนที่จะอนุญาตให้ลูกใช้เครื่องมือสื่อสารและโซเชียลมีเดีย เพื่อให้พ่อแม่สามารถตรวจสอบได้ว่าลูกใช้โซเชียลมีเดียยังไง คุยกับใครบ้าง หรือมีความผิดปกติอะไรในนั้นหรือไม่
  5. พ่อแม่ควรสร้างความสัมพันธ์อันดีให้กับลูก เพื่อให้ลูกไว้วางใจมากพอจะบอกเล่าทุกเรื่องราวในชีวิตเขาได้ เมื่อมีปัญหาอะไรลูกจะได้กล้าขอคำปรึกษากับเรา

          อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวเด็กที่ถูกรังแกผ่านโลกออนไลน์ก็ควรต้องมีสติในการใช้สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ด้วย และอย่าลืมว่าเราสามารถลบข้อความที่สร้างความเสียหายกับเราได้ ทั้งยังสามารถบล็อกคนที่กลั่นแกล้งเราได้ หรือพาตัวเองออกจากสังคมออนไลน์ไปสักระยะ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying ต่อไป

          ทั้งนี้ผู้ปกครองก็ควรสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน หากเขามีอาการหงุดหงิดหรือพฤติกรรมแปลกไปหลังเล่นโซเชียลมีเดีย อาจต้องเข้าไปพูดคุยและถามไถ่ถึงสาเหตุเหล่านั้น เป็นการช่วยแชร์ความรู้สึกแย่ ๆ จากสิ่งที่เขาเผชิญอีกทาง รวมทั้งพยายามพาเขาออกห่างจากโลกออนไลน์บ้าง เพื่อลดความเครียดนะคะ 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : KAPOOK

สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เฟซบุ๊ก ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย