อีกครั้งกับการที่ TerraBKK Research กำลังจะหยิบยกประเด็นเรื่องที่เป็นการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยและช่วงเวลามาบอกกล่าว เหตุผลที่เป็นแบบนี้นั่นก็เพราะว่า เทรนด์ของการเกิดขึ้นของ Urbanization หรือ การเปลี่ยนแปลงของความเป็นเมือง นั้น กำลังเป็นที่พูดถึงในหลายๆสื่อ เนื่องจากนี่เป็น Global Trend เพราะฉะนั้นเราจึงไม่อาจจะปล่อยผ่านโดยไม่หยิบยกมาพูดถึงบ้างคงไม่ได้

Urbanization นั่นคือคำที่นักวิชาการใช้ในการจำกัดความ ปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงของเมืองจากการเป็นชนบทสู่ความเป็นเมือง ซึ่งจะเกิดอย่างสม่ำเสมอในระยะเวลาช้าๆ และเป็นกันมาตลอดทั่วโลก เดิมที กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่เรียกว่าเมืองโตเดี่ยว เป็น เมืองขนาดมหานคร (Metropolitan) ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางในทุกด้านของประเทศ นับตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจ แหล่งงาน การศึกษา รวมไปถึงการพัฒนาในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 5,686,000 คน จังหวัดที่มีจำนวนประชากรรองลงมาจากกรุงเทพฯ (ไม่นับจังหวัดปริมณฑล) คือจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีประชากรประมาณ 2,630,000 คน ในขณะที่ จังหวัดที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุด คือจังหวัดระนอง จำนวนประชากรประมาณ 189,000 คน เท่านั้น ซึ่งเมื่อลองเปรียบเทียบกันดูแล้ว แต่ละจังหวัดในประเทศไทยนั้น มีขนาดของประชากรที่เหลื่อมล้ำกันมากทีเดียว ซึ่งจะสามารถกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า การพัฒนานั้นกระจุกตัวอยู่แค่เพียงจังหวัดใหญ่ๆหัวเมืองเท่านั้น ทำให้ประชากรส่วนใหญ่จึงไปกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดที่มีการพัฒนาเพียงอย่างเดียว

 

แต่ในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยอย่างช้าๆในต่างจังหวัด หากจะใช้เกณฑ์ขนาดของประชากรในแต่ละจังหวัดในการแบ่งขนาดของจังหวัด จังหวัดที่มีประชากรมากกว่า 5 ล้านคนอย่างกรุงเทพฯ จะคือเมืองขนาดใหญ่, เมืองที่มีประชากรตั้งแต่ 1-5 ล้านคน คือหัวเมืองหรือ เมืองศูนย์กลางระดับภูมิภาค, เมืองที่มีประชากรตั้งแต่ 5 แสน - 1 ล้านคน คือ เมืองขนาดกลาง และเมืองที่มีประชากรน้อยกว่า 5 แสนคน คือ เมืองขนาดเล็ก

ซึ่งจากข้อมูลการเก็บ จำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์รายจังหวัดของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2559 พบว่า เมืองขนาดใหญ่ ยังคงมีแค่กรุงเทพฯ ที่เดียว แต่เมืองศูนย์กลางระดับภูมิภาคและเมืองขนาดกลางนั้น กลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยจะมีเมืองขนาดเล็ก ที่มีประชากรไม่ถึง 5 แสนคน เพียงแค่ 21 จังหวัด จากทั้งหมด 77 จังหวัดในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการขยายตัวของเมืองที่มีผลมาจากการเพิ่มจำนวนของประชากรนั้น เริ่มเด่นชัดมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่ชนบทนั้นเพิ่มขึ้น 66% ในเมืองเพิ่มขึ้น 34% และมีอัตราการเพิ่มขึ้นของความเป็นเมืองโตขึ้น 1.6% ซึ่งหมายความว่าเมืองระดับภูมิภาคและเมืองขนาดกลาง มีจำนวนประชากรมากขึ้น ในขณะที่เมืองโตเดี่ยวอย่างกรุงเทพฯนั้น ก็ยังเติบโตอย่างคงที่ 

สิ่งเหล่านี้เป็นการคาดการณ์จากข้อมูลด้านประชากรรวมไปถึงอัตราการเติบโตเชิงสถิติเท่านั้น ซึ่งแนวโน้มของความเป็นไปได้อาจจะมีความคาดเคลื่อนอยู่บ้าง ทีนี้เราลองมาดูความเป็นไปได้เพิ่มเติมจาก ผังประเทศไทย พ.ศ.2600 ซึ่งมีการประกาศออกมาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว โดยสาระสำคัญของผังนี้คือ การวางตำแหน่งและทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยทั้งประเทศในอนาคต ซึ่งก็เป็นการกำหนดอย่างคร่าวๆ เราลองมาดูกันว่าผังประเทศไทย พ.ศ.2600 นี้บอกอะไรไว้บ้าง

 

ภาพรวมประชากรเมืองและชนบท

            ข้อมูลประชากรจากผังประเทศนั้นก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ของกระแสโลก โดยแต่เดิมปี พ.ศ.2545 มีสัดส่วนประชากรเมืองต่อชนบทอยู่ที่ 30:70 แต่ในปี พ.ศ.2600 จะกลายเป็นสัดส่วน 50:50 ซึ่งหมายความว่าประชากรจะเข้าสู่พื้นที่เมืองอย่างสม่ำเสมอ

จังหวัดไหนที่เตรียมไว้สำหรับการเป็น “เมือง”

            ในผังประเทศไทย พ.ศ.2600 มีการวางระบบเมืองและชุมชนโดยจัดเป็นลำดับศักย์ เพื่อวางจังหวัดสำหรับรองรับประชากรที่จะเข้ามาสู่พื้นที่เมืองเพิ่มขึ้น โดยไล่ลำดับเป็น เมืองมหานคร และ เมืองลำดับที่ 1-4 โดยเนื้อหาปลีกย่อยของแต่ละเมืองก็จะมีบทบาทของเมือง ซึ่งบางแห่งมีบทบาทเป็น เมืองชายแดน เมืองประวัติศาสตร์ เมืองท่องเที่ยว เมืองอุตสาหกรรม เมืองศูนย์กลางคมนาคมและการขนส่งทางอากาศ เป็นต้น ซึ่งจากการวางลำดับของเมืองตรงนี้ ทำให้เราต้องหันมามอง เมืองลำดับที่ 1 ซึ่งเป็นเมืองที่จะมีการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆอย่างแน่นอนในอนาคต และเมืองลำดับที่ 1 นี้ไม่ได้แบ่งเป็นจังหวัด แต่ลงลึกถึงระดับเขตและอำเภอ ซึ่งทำให้สามารถคาดการณ์การเติบโตของทำเลต่างๆได้

สุดท้ายเป็นภาพรวมของผังประเทศไทย พ.ศ.2600 สิ่งที่น่าสนใจคือมีการวางเส้นทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวเส้นทางสอดคล้องกับเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจของจีนในนโยบาย One Belt One Road โดยเส้นทางการพัฒนามีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ กรุงเทพมหานคร และมีแนวเส้นทางเศรษฐกิจกระจายออกไปทางหัวเมืองต่างๆในแต่ละภาค ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือโอกาสในการพัฒนาในแต่ละเส้นทาง สิ่งแรกที่เป็นไปได้และเริ่จะได้รับการยืนยันอย่างแน่ชัดแล้ว คือ รถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช ซึ่งอยู่ใน แนวเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก ตามผังประเทศไทย พ.ศ.2600 อีกทั้งเส้นทางเศรษฐกิจเหนือใต้ ยังเป็นแนวเดียวกับเส้นทางของ รถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ ซึ่งก็สามารถอนุมานได้ว่าความเข้มข้นของการพัฒนาในตอนนี้นั้นเป็นไปตามทิศทางที่กำหนดมาจากผังประเทศไทย พ.ศ.2600 อย่างสอดคล้องกัน

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้

TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก