ฝนที่ตกส่งท้ายฤดูในช่วงนี้นั้น เริ่มก่อร่างสร้างสัญญานบางอย่างที่ทำให้คนกรุงเริ่มเกิดความกังวลภายในใจ เพราะคนกรุงเทพส่วนใหญ่ยังไม่มีใครลืมเหตุการณ์ น้ำท่วมใหญ่ปี 54 ได้ ซึ่งล่าสุดสัญญานความกังวลใจนี้ก็ได้ถูกย้ำเตือนโดย ท่านผู้ว่าฯ กทม. ก็ได้ออกปากเองว่า ช่วงวันที่ 4-8 กันยายนนี้ น้ำเหนือและน้ำทะเลจะหนุนสูง และบอกให้เกือบ 500 ครัวเรือนเตรียมยกของหนีน้ำ อ้าว หรือประวัติศาสตร์มันจะไปซ้ำรอยเมื่อ 6 ปีที่แล้วกันนะ?

สาเหตุที่ทำให้กรุงเทพมหานคร ต้องกลายเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติการณ์อุทกภัยอยู่เสมอๆ อย่างนี้นั้น ก็เนื่องจากการมีภูมิประเทศที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำ ประกอบกับปัญหาแผ่นดินทรุดตัว อันเป็นผลมาจากการสูบน้ำบาดาลไปใช้จนทำให้น้ำใต้ดินนั้นขาดแคลน ชั้นดินไม่แน่น จนเกิดการทรุดตัว ซึ่งรู้หรือไม่? ว่ากรุงเทพฯ มีแผ่นดินทรุดตัวเฉลี่ยแต่ละปีถึงประมาณ มากกว่า 10 ซม. ต่อปี เชียวนะคุณ ในขณะเดียวกัน น้ำทะเลกลับมีทีท่าว่าจะหนุนมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะช่วงหลังตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 มานี้ มีอัตราขึ้นอยู่ที่ 4.1 มิลลิเมตรต่อปี

โอละพ่อ! และเราจะต้องเตรียมรับมืออย่างไรกันล่ะทีนี้? หรือจะต้องขนของหนีน้ำอย่างที่ท่านผู้ว่าฯ พูดไว้จริงๆ

ดูก่อนว่าทำเลไหนบ้างที่ประสบปัญหาดินทรุด

            จริงๆแล้วหน่วยงานทางภาครัฐ ก็ไม่เคยปล่อยปละละเลยปัญหาเรื่องนี้ กลับกันกลับมีการสำรวจ ศึกษา และหาแนวทางการแ้ก้ไขป้องกันด้วยซ้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ทำการสำรวจพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำบาดาล (ซึ่งมีนัยยะว่าน้ำบาดาลในใต้ดินนั้นเหลือน้อยเต็มที่ อันเป็นที่มาของการเกิดดินทรุด) โดยไล่เรียงข้อมูลกันตั้งแต่ีปี พ.ศ.2521-2551 หรือรวมเป็นเวลา 30 ปีกันเลยทีเดียว โดยใช้วิธีการสำรวจผ่าน หมุดหลักฐานสถานีวัดแผ่นดินทรุด ซึ่งผลก็ปรากฎว่า ทำเลที่มีขนาดการทรุดตัวของพื้นดินสะสมมากที่สุด ได้แก่ เขตบางกะปิ ซึ่งมีการทรุดตัวสะสมถึงประมาณ 1.2 เมตรกว่าๆ และพื้นที่ที่มีการทรุดตัวของพื้นดินสะสมน้อยที่สุด คือจังหวัดนนทบุรี และมีอัตราการทรุดตัวโดยเฉลี่ยทั้งพื้นที่โดยรวมไม่เกิน 1 ซม. ต่อปี (ข้อมูลจาก กรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย)

นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลของ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่สรุปการทรุดตัวของดินออกมาเป็นพื้นที่ โดยได้แก่ บริเวณเขตราชเทวี มีอัตราการทรุดตัวใน พ.ศ.2549 ลดลงจากช่วง พ.ศ.2521-2528 เหลือ 1.3 ซ.ม. ต่อปี, บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีอาการทรุดตัว 1.3 ซม. ต่อปี และเปิดเปยข้อมูลเขตวิกฤติการณ์น้ำบาดาลและแผ่นดินทรุดเพิ่มเติม โดยแบ่งได้เป็น 3 อันดับ อับดับที่ 1 มีการทรุดตัวมากกว่า 3 ซม. ต่อปี และระดับน้ำบาดาลลดลงมากกว่า 3 เมตรต่อปี อันดับที่ 2 มีการทรุดตัว 1-3 ซม. ต่อปี และระดับน้ำลดลงระหว่าง 2-3 เมตรต่อปี และอันดับที่ 3 มีการทรุดตัวของพื้นดินน้อยกว่า 1 ซม. ต่อปี และน้ำบาดาลลดลงน้อยกว่า 2 เมตรต่อปี 

คนควรห่างจากน้ำหรืออยู่กับน้ำ?

จากปัญหาการทรุดตัวของดินและการลดลงของน้ำบาดาล ก็ทำให้เราต้่องยอมรับว่าคงไม่มีทางหยุดยั้งการทรุดตัวของแผ่นดินกรุงเทพได้ และระดับดินของกรุงเทพนั้นจะต้องต่ำลงไปทุกๆปี ซึ่งทำให้ปัญหาน้ำท่วมนั้นก็ยิ่งทวีโอกาสที่จะเกิดมากขึ้นด้วยเช่นกัน แต่เราลืมอะไรไปหรือเปล่า? ว่าแต่เดิมแล้ววิถีชีวิตของคนกรุงเทพ เมื่อช่วงรัตนโกสินทร์นั้น ถึงกับได้รับการเรียกขานจากฝรั่งตาน้ำข้าวว่าเป็น เวนิสตะวันออก เลยเชียว

            โดยในกลุ่มของสาขาการพัฒนาเมือง หรือ ผังเมือง ก็ได้มีแนวคิดในการออกแบบเมืองเพื่อให้สามารถรับกับสถานการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงอย่างนีเ โดยแนวคิด เมืองที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลง (Resilient City หรือ Urban Resilient) โดยหมายถึงการต้องรวมปัจจัยจากธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และการจัดการเมือง เข้ามาผนวกร่วมในการวางแผนและออกแบบเมืองด้วย

            แต่เดิม คนไทยนั้นมีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่กลมกลืนกับธรรมชาติ และมีวิถีชีวิตที่ผูกติดกับน้ำ จนกระทั่งช่วง พ.ศ.2500 ที่เหมือนกับมีการวิวัฒนาอย่างพุ่งพรวด กลายเป็นเริ่มมีระบบรถราง รถไฟ ขุดคลอง ถมถนน ขึ้นมาในพื้นที่กรุงเทพอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็เป็นการพยายามพัฒนาเพื่อให้ก้าวทันกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมของฝั่งตะวันตก และเร็วเกินกว่าจะรู้ตัว การขยายตัวของเมืองก็เติบโตอย่างรวดเร็ว และลุกลามจนเกิดเป็นปัญหาชุมชนแออัด การขยายตัวอย่างไร้รูปแบบของเมือง โครงข่ายถนนที่ไม่เชื่อมต่อและยากแก่การเข้าถึง การครอบครองที่ดินที่มีลักษณะแบบแปลงใหญ่ (Super Block) ที่ส่งผลให้ยากแก่การพัฒนา ทั้งหมดนี้ขยายตอนช่วงปี พ.ศ.2511 นี้เอง และกฎหมายผังเมืองฉบับแรก กลับคลอดมาล้าหลังถึง 35 ปี โดยมีการใช้ พรบ.ผังเมือง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2535 ซึ่งก็ไม่ได้มีข้อกำหนดมากมาย โดยส่วนใหญ่เป็นการวางผังสีเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาเมือง แต่ไม่ได้มีมาตรการทางผังเมืองอื่นๆที่ชัดเจนในการควบคุมดูแล

โดยช่วงปี 2558 ได้มีการศึกษาโดยกลุ่มนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม จากประเทศเนเธอร์แลนด์ จัดกิจกรรม Workshop แนวคิดเรื่องการออกแบบเมืองกรุงเทพ ซึ่งได้ชื่อผลงานว่า Bangkok Adaptive City 2045 ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์และนวคิดการพัฒนาเมืองในอีก 30 ปีข้างหน้าในตอนนั้น (28 ปีข้างหน้าในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นการหวนเอาวิถีชีวิตของคนกรุงที่ผูกติดกับน้ำ มีผสมผสานกับสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ และการปรับเปลี่ยนแนวทางการผันน้ำ เพิ่มระบบคลอง เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ - เทอร์ร่า บีเคเค

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก