สำหรับผู้ค้นคว้าประวัติศาสตร์วาทะทางวรรณกรรม ย่อมพบว่า "ความฝันจีน" (中国梦) หรือ Chinese Dream นี้ ไม่ได้เป็นคำลอกเลียน ความฝันอเมริกันชน "American Dream" แต่อย่างใด แต่มีประวัติความเป็นมาทั้งในทางวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ทางปัญญาของจีนยาวนานย้อนไปยุคราชวงศ์ซ่ง โดยมีปรากฏอยู่ในรวมบทกวีโบราณฉือจิ้ง (詩 經) ที่ชื่อว่า "พุธารที่ไหลผ่าน" (下泉) อรรถาธิบายถึง กวีที่ตื่นขึ้นมาพบความจริงอันสิ้นหวัง หลังจากหลับฝันถึงความรุ่งเรืองของราชอาณาจักรโจวตะวันตก (1046 ปีก่อนค.ศ.–771 ปีก่อนค.ศ.)

ในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายของราชวงศ์ซ่งใต้นั้น กวี เจิ้ง สือเซียว ยังได้เขียนบทกวีประกาศถึง "หัวใจที่เต็มไปด้วยความฝันของจีน (中国梦)

แนวความคิดความฝันจีนนี้ เกี่ยวเนื่องกับความหวังร่วมกันในการฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของจีน ที่แม้ไม่ล่มสลายเหมือนอารยธรรมอื่นๆ แต่ก็สะดุดหายไปในประวัติศาสตร์ระยะหนึ่ง ถ้อยคำความฝันจีน ยังเอ่ยกล่าวนับเรื่อยมาจนถึงยุคสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง

ลัทธิสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน โดย เติ้งเสี่ยวผิง, พ.ศ. 2525

เติ้งเสี่ยวผิง นับเป็นบุคคลแรกๆ ที่ตระหนักถึงข้อผิดพลาดฉกรรจ์ของระบบสังคมนิยมแบบเหมาเจ๋อตง ซึ่งรับเอาแบบอย่างการพัฒนาประเทศของอดีตสหภาพโซเวียตมาปรับใช้ แสวงหารูปแบบเฉพาะที่เหมาะสมกับประเทศจีน แต่มาสะดุดล้มคว่ำที่การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม  

เติ้งเสี่ยวผิง กล้าที่จะสรุปบทเรียน แก้ไขความผิดพลาดนั้น ปฏิรูปอย่างกล้าหาญรอบคอบ เพื่อสร้างจำกัดความใหม่ของสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน ประกาศแนวทางการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย พัฒนารูปแบบการสร้างชาติที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมโลกยุคปัจจุบัน และสภาพความเป็นจริงของประเทศจีน ดังมีคำกล่าวกันว่า แนวคิดการสร้างชาติจีนยุคใหม่ หรือ “ลัทธิสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน 中国特色社会主义” เริ่มต้นในยุคเหมาเจ๋อตง และมาสำเร็จในยุคเติ้งเสี่ยวผิง

เติ้งเสี่ยวผิง ได้เสนอความคิดสร้าง “สังคมนิยมอัตลักษณ์จีน" สรุปออกเป็นทฤษฎีชี้นำ เรียกว่า “ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง” ในปีพ.ศ. 2525 ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีลักษณะพิเศษ 4 ประการ อาทิ ปฏิเสธการใช้ระบบกรรมสิทธิ์รวมอย่างเดียว แต่เปิดให้มีระบบกรรมสิทธิ์รูปแบบอื่นๆ ร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจส่วนกลางเป็นระบบเศรษฐกิจตลาด จัดสรรรายได้ตามปริมาณและประสิทธิภาพแรงงาน

ที่สำคัญคือ เปิดประเทศส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีน เพื่อเรียนรู้และใช้เทคโนโลยี ประสบการณ์การจัดการจากต่างประเทศ พร้อมกันนั้นก็ออกกฎหมายการลงทุนและปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติ คู่ขนานไปกับยุทธศาสตร์ขยายการค้าระหว่างประเทศ เพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สนับสนุนให้กิจการท้องถิ่น กล้าบุกเบิกออกสู่ตลาดการค้าโลก

คณะผู้นำพรรคฯ จีนรุ่นต่อๆ มา ไม่ว่าจะเป็น เจียงเจ๋งหมิน หูจิ่นเทา ล้วนสร้างชาติจีนตามทฤษฎีนี้ และพัฒนาต่อยอดเป็นทฤษฎีใหม่ๆ แตกแขนงออกไปมากมาย ตามสถานการณ์ จนประสบความสำเร็จรอบด้าน

ล่าสุด การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือซีพีซีชุดที่ 19 ในเช้าวันที่ 18 ต.ค. ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งครองตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคฯ ได้กล่าวในพิธีเปิดการประชุมฯ ณ มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่ง ย้ำหนักแน่นแผนการสองขั้นตอนสู่ “ประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย” สืบทอดแนวคิด "ลัทธิสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน"

         
สี จิ้นผิง ประกาศว่า ประเทศจีนกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของการพัฒนา "ลัทธิสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน" และการผลักดันการพัฒนาจากนี้ไปจนถึงปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020 ) จะตัดสินการบรรลุการสร้างสังคมกินดีอยู่ดีถ้วนหน้า

         
สี จิ้นผิง ได้เปิดเผยแผนการสองขั้นตอนของพรรคฯ เพื่อสร้าง “ประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย”ในกลางศตวรรษที่ 21 ตามแผนการใหม่นี้ พรรคฯ จะบรรลุการสร้างพื้นฐานความทันสมัยแก่ระบอบสังคมนิยมในขั้นตอนแรก จากปี 2020 ถึงปี 2035 หลังจากนั้นก็จะผลักดันการพัฒนาเพื่อสร้าง “ประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย” ที่ “รุ่งโรจน์ แข็งแกร่ง เป็นประชาธิปไตย เปี่ยมวัฒนธรรม กลมกลืน และสวยงาม” ในช่วง 15 ปี

เกือบ 40 ปีแล้ว นับแต่วันประกาศและบริหารประเทศตามแนวคิดสังคมนิยมอัตลักษณ์จีนของเติ้งเสี่ยวผิง เมื่อปี พ.ศ. 2525 จนถึงวันนี้ แม้จะยังไม่อาจด่วนตัดสินความสำเร็จความกินดึอยู่ดีของประชาชนทั้งแผ่นดิน แต่ผู้นำรุ่นจีนต่อๆ มา ล้วนได้พิสูจน์แล้วว่า "สังคมนิยมอัตลักษณ์จีน" นี้ มีพลังและสร้างความฝันจีนให้เป็นจริงได้อย่างเหมาะสมที่สุดกับอัตลักษณ์ของจีน

"ฉ่ำเย็น พุธารไหลผ่าน ผืนป่า
อา! พลันข้าตื่นขึ้น ทอดถอนใจ
คิดถึงความรุ่งเรือง เมืองหลวงแห่งโจว"
- บางส่วนจาก บทกวีโบราณฉือจิ้ง (詩 經) ที่ชื่อว่า "พุธารที่ไหลผ่าน" (下泉)

(คอลัมน์ "ความฝันจีน" จะนำเรื่องราววรรณกรรมเชิงสังคม การฟื้นความเป็นชาติ สังคมนิยมแบบอัตลักษณ์จีน สังคมกินดีอยู่ดี ความฝันปัจเจกชนมาถ่ายทอดต่อเนื่องในลำดับต่อไป)