พนักงานบริษัทกับการลาออกหรือเปลี่ยนบริษัทที่ทำงานนั้นถือได้ว่าเป็นของคู่กันเพราะในทุกการทำงานนั้นย่อมมีการเรียนรู้ทั้งประสบการณ์ทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งก็ย่อมต้องมีการขยับขยายตัวเองออกไป และสำหรับพนักงานบริษัทที่กำลังจะคิดลาออกจากงาน ด้วยเหตุผลเช่น งานไม่ตรงกับที่เรียนมา ที่ทำงานไกลจากบ้าน ใช้เวลาเดินทางเยอะ งานหนัก หรืออาจจะออกเพื่อไปศึกษาต่อ เป็นต้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม Moneyguru อยากจะให้คิดให้ดีก่อนตัดสินใจ แต่หากว่ายังคิดและตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรดี วันนี้ Moneyguru มีตัวอย่างความพร้อมที่ต้องเตรียมตัวไว้หากต้องการลาออกจากงานมาฝากกัน ไปดูรายละเอียดกันเลย


สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมก่อนลาออกจากงาน


1.เป้าหมายหลังจากลาออก

คงไม่ดีแน่ๆ หากการลาออกเกิดจากอารมณ์ เพราะนอกจากจะทำให้เราตกงานโดยใช่เหตุแล้ว ยังส่งผลเสียต่อการเงินของตัวเราเองอีกด้วย ดังนั้นก่อนการลาออกควรคิดเป้าหมายหลังจากพ้นสภาพพนักงานให้ดีว่า เราจะทำอย่างไรต่อไปให้ชีวิตเราก้าวต่อไปข้างหน้า เราอาจจะตั้งเป้าหมายไว้ก็ได้เช่น ต้องมีงานใหม่ก่อนจึงจะลาออก ลาออกเพื่อไปศึกษา ลาออกเพื่อไปทำธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายและเหตุผลก็แล้วแต่ละบุคคลว่าจะวางชีวิตตัวเองต่อไปในแนวทางไหน แต่ที่สำคัญคือ ต้องไม่ปล่อยให้ตัวเองว่าง เพราจะเป็นการเสียเวลาชีวิตของเราไปอย่างเปล่าประโยชน์ เพราะต่อให้ถือว่าช่วงลาออกจากงานนี้เป็นช่วงพักผ่อนเพื่อชาร์จแบตก็ตาม เราก็ต้องมีกำหนดเวลาและเป้าหมายว่า เราจะพักเท่าไหร่และเมื่อไหร่ควรได้งานใหม่ ยิ่งปล่อยให้ตัวเองว่างนานมากๆ ก็จะกลายเป็นว่าขาดรายได้และหมดไฟการทำงานไปด้วย


2.เงินสำรองสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
สิ่งที่จะต้องเจอหลังจากลาออกจากงานก็คือ การขาดรายได้ประจำ ซึ่งหากใครมีรายได้เสริมก็อาจจะไม่มีปัญหาเรื่องรายจ่ายในชีวิตประจำวัน แต่หากไม่มีแล้วละก้อนับวันรอเงินเก็บหมดได้เลย หากว่าเราไม่รีบหางานใหม่ และจะถามว่าต้องมีเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันช่วงที่ไม่มีรายได้นี้อย่างน้อยเท่าไหร่? ขอแนะนำว่าควรจะสำรองไว้อย่างน้อยๆ 6 – 10 เดือนขึ้นไป โดยยึดจากรายจ่ายในชีวิตประจำวันใน 1 เดือนของเราว่ามีรายจ่ายเท่าไหร่ เช่น


ตัวอย่าง
รายจ่ายในชีวิตประจำวันใน 1 เดือนของเราเช่น ค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ และอื่นๆ รวมแล้วอยู่ที่ 10,000 บาท
เงินที่เราต้องสำรองไว้ใช้ในช่วงที่ลาออกจากงานอย่างน้อยควรจะมีเท่ากับ(กรณีสำรอง 6 เดือน) 10,000 x 6 = 60,000 บาท
ซึ่ง 60,000 บาทนี้คือเงินสำรองอย่างน้อยที่เราควรมีไว้สำหรับใช้ในช่วงลาออกจากงาน เพื่อไม่ให้เราต้องลำบากเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ครับ ซึ่งตามตัวอย่างนี้ หากเราลาออกจากงานมาและมีเงินสำรองตามที่แนะนำไว้ก็จะส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนหลังจากลาออกจากงาน เราจะไม่เดือดร้อนกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันครับ อนึ่งเงินสำรองส่วนนี้ต้องแยกจากเงินเก็บนะครับ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นนำเงินเก็บมาใช้ซึ่งก็จะส่งผลให้เงินเก็บเราหมดอยู่ดีครับ


3.เช็คประกันสังคมของเราให้ดี
สิ่งที่เราต้องรู้เกี่ยวกับประกันสังคมในช่วงเราลาออกมี 2 ข้อใหญ่ๆ ดังนี้


3.1 สิทธิประกันตนกรณีว่างงาน
- สำหรับเรา (ลูกจ้าง) ต้องมีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนว่างงาน จึงจะมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือในส่วนนี้ โดยสิ่งที่จะได้รับคือ

3.1.1 - กรณีถูกเลิกจ้างจะได้รับประโยชน์ทดแทนในอัตรา 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน
3.1.2 – กรณีลาออกจากงาน ได้รับในอัตรา 30% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ตามเงื่อนไขในการส่งเงินสมทบแต่ละกรณี
โดยเรา (ผู้ประกันตน) จะต้องไปขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ว่างงาน (ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง) ไม่อย่างนั้นเราจะไม่ได้รับสิทธินี้

3.2 ได้รับความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมต่อไป อีก 6 เดือนหลังออกจากงาน
- หลังจากลาออกจากงานเราก็จะยังได้ได้รับความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมต่อไป อีก 6 เดือน โดยนับตั้งแต่วันที่เราออกจากงาน ซึ่งสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองมี 4 กรณี ดังนี้ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต แต่รายละเอียดจะเป็นไปตามเงื่อนไขในการส่งเงินสมทบแต่ละกรณีตามที่กำหนดไว้ แต่หากเราต้องการที่จะอยู่ในระบบประกันสังคมต่อ เราก็ยังสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ โดยเงื่อนไข คือ เราต้องเคยนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และจะต้องสมัครภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ลาออกจากงาน และจำนวนเงินสมทบที่ต้องจ่ายคือ อัตราเดือนละ 432 บาท จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตรและชราภาพ

4.รายได้เสริม
การมีรายได้เสริมนอกจากรายได้ประจำนั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยเพิ่มความมั่นคงให้กับสถานการเงินของเรา และยิ่งในกรณีลาออกจากงานนี้ รายได้เสริมถือได้ว่าสำคัญมากๆ ในช่วงที่เราว่างงาน เพราะจะสามารถนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้นั่นเอง ดังนั้นไม่ว่าเราจะมีงานประจำหรือไม่ก็ตาม เราก็ควรที่จะมองหางานเสริมอยู่เสมอเพื่อที่จะได้เพิ่มรายได้ให้กับเรา

5.งานใหม่
สุดท้ายที่พระเอกของเรานั่นเอง “งานใหม่” คือสิ่งที่เราควรจะรีบมองหา จริงๆแล้วควรจะมองหาตั้งแต่ก่อนลาออกจากงาน แต่ในบางครั้งก็เข้าใจได้ว่าอาจจะมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นจนเป็นเหตุให้เราลาออก และเมื่อเรามีเวลาคิดเราก็ควรที่จะคิดให้ดีว่างานใหม่ที่เราจะทำนั้น จะเป็นการต่อสายงานเดิมหรือเปลี่ยนสายงานใหม่ก็ตามก็ขอให้ตัดสินใจให้ดี เพื่อประโยชน์ของเราเอง อย่าลืมที่จะรีบหานะครับไม่อย่างนั้นเราอาจขาดรายได้

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้ทุกๆ คนที่กำลังตัดสินใจจะลาออกอยู่นะครับ Moneyguru เป็นห่วงและหวังให้ทุกคนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและในชีวิตส่วนตัวครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก moneyguru.co.th