ประเทศกัมพูชา ชื่ออย่างเป็นทางการว่า พระราชาณาจักรกัมพูชา ตั้งอยู่ในส่วนใต้ของคาบสมุทรอินโดจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร มีพรมแดนทิศตะวันตกติดต่อกับประเทศไทย กัมพูชานับเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญสำหรับไทยอีกประเทศหนึ่งทั้งด้านความเชื่องโยงทางเศรษฐกิจและการเป็นแหล่งลงทุนทางเลือกให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทย

การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา

ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมานั้นประเทศกัมพูชามีการเติบโตของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี กัมพูชาได้ก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศซึ่งประชากรมีระดับรายได้ปานกลางตั้งแต่ปี 2015 เห็นได้จากการที่ประเทศมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 7.6% ต่อปี ในช่วงปี 1994-2015 ซึ่งจัดเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยมีรายได้ประชาชาติขั้นต้น (GNI) ต่อหัวอยู่ที่ 1,070 ดอลลาร์ต่อปี การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งต่อไปในระยะ 2-3 ปี เนื่องจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการขยายตัวทางการคลังซึ่งมาช่วยชดเชยในส่วนของการส่งออกที่ชะลอตัว

ปัญหาความยากจนในกัมพูชายังคงลดลงอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะมีอัตราการลดลงน้อยกว่าในอดีตก็ตาม เห็นได้จากในปี 2014 อัตราส่วนของคนยากจนเท่ากับ 13.5% เมื่อเทียบกับปี 2007 ซึ่งอัตราส่วนของคนยากจนอยู่ที่ 47.8% ถือว่าอัตราส่วนคนยากจนในประเทศนั้นลดลงอย่างมาก อย่างไรก็แล้วแต่ยังมีประชากรอีกถึงประมาณ 4.5 ล้านคนซึ่งยังมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ค่อยดีและเสี่ยงต่อการถดถอยลงสู่ระดับยากจนเมื่อต้องเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ      

การพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตของประชากร

การพัฒนาด้านสุขภาพและการศึกษายังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญในการพัฒนาประเทศของกัมพูชา ในด้านสุขภาพนั้นยังคงน่าเป็นห่วง จากสถิติมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบซึ่งมีภาวะขาดโภชนาการถึง 32% หรือประมาณ 500,000 คน ร้อยละ 70 ของประชากรกัมพูชาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำประปาได้ และประชากร 58% ไม่สามารถเข้าถึงการสุขาภิบาลที่ดีขึ้นได้ ในส่วนของด้านการศึกษาอัตราการลงทะเบียนเรียนในระดับประถมศึกษาเพิ่มขึ้นจาก 82% ในปี 1997 เป็น 97% ในปี 2016 อัตราการจบมัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ที่ 43% ซึ่งยังถือว่าค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศระดับรายได้ปานกลาง

กัมพูชามีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาด้านสุภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐานในชนบท ที่เห็นได้ชัดคืออัตราการเสียชีวิตของมารดาที่คลอดบุตรนั้นลดลงอย่างมากจาก 0.47% ในปี 2005 เป็น 0.17% ในปี 2014 และอัตราการเสียชีวิตของเด็กต่ำกว่าห้าขวบลดลงจาก 8.3% ในปี 2005 เหลือเพียง 3.5% ในปี 2014 นับว่าเป็นพัฒนาการที่ค่อนข้างดีมากภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี

กัมพูชายังคงเผชิญกับความท้าทายด้านการพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ประชากรอีกหลายๆด้านได้แก่ความต้องการด้านบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ การบริหารจัดการที่ดินที่ดีขึ้น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลของหน่วยงานบริหาร ความสำเร็จในการจัดการกับความท้าทายเหล่านี้จะช่วยรักษาสภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพิ่มความหลากหลายเชิงเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก และยังช่วยปรับปรุงคุณภาพการให้บริการสาธารณะจากการใช้จ่ายสาธารณะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อุตสาหกรรมหลักในกัมพูชา

อุตสาหกรรมสิ่งทอ

อุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับภาคการผลิตของกัมพูชาคืออุตสาหกรรมสิ่งทอ คิดเป็น 80% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ในปี 2012 การส่งออกของกัมพูชามีมูลค่าถึง 8.43 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 8% จากปี 2011 โดยมูลค่าการส่งออกนี้มาจากอุตสาหกรรมสิ่งทอถึงประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบจะครอบคลุมมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยภาคอุตสาหกรรมนี้มีพนักงานถึงประมาณ 335,400 คนซึ่ง 90% เป็นผู้หญิง

อุตสาหกรรมสิ่งทอของกัมพูชาส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในขั้นสุดท้ายของกระบวนการผลิตคือการเปลี่ยนเส้นด้ายและผ้าให้เป็นเสื้อผ้า เนื่องจากประเทศไม่มีฐานการผลิตสิ่งทอที่แข็งแกร่งมากพอจะครอบคลุมทั้งกระบวนการ ในปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอของกัมพูชายังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจที่เปิดกว้างของประเทศ ส่งผลให้มีการเข้ามาลงทุนของต่างชาติเป็นจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมนี้

การเกษตร

การเกษตรนั้นเป็นภาคส่วนที่สำคัญที่สุดของกัมพูชามาตั้งแต่อดีต ภาคการเกษตรคิดเป็นประมาณร้อยละ 90 ของ GDP สัดส่วนแรงงานของกัมพูชามากถึง 80% อยู่ในภาคการเกษตร โดยมีข้าวเป็นสินค้าหลัก สินค้าเกษตรรองลงมาได้แก่ ข้าวโพด มันเทศ เม็ดถั่วเหลือง เมล็ดงา ถั่วแห้ง และยาง การเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ที่สำคัญคือยางพารา ในอดีตนับเป็นสินค้าหลักที่สำคัญอันดับสองรองจากข้าว

การท่องเที่ยว

ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมาภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชามีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับสองของกัมพูชารองจากการอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในปี 2006 ภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชามีรายได้ถึง 1.594 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 16% ของ GDP ของประเทศ นับเป็นช่วงปีที่การท่องเที่ยวของประเทศมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

สถานที่ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมนั้นเป็นที่นิยมด้านการท่องเที่ยว เห็นได้จากการที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมากเข้าเยี่ยมชมวัดฮินดูโบราณของนครวัดซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเสียมราฐ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอื่น ๆ ได้แก่ พระบรมมหาราชวังพนมเปญ จุดท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เช่น ทะเลสาบทับเล้าและแม่น้ำโขง

อุตสาหกรรมการพนัน

อุตสาหกรรมการพนันของประเทศกัมพูชานั้นมีส่วนในการช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่จังหวัดเสียมราฐ การเกิดของคาสิโนในเขตชายแดนและเมืองชายแดนนั้น ทำให้เกิดผลพลอยได้ในการสร้างงานและการสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมการพนันก็ยังทำให้เกิดการทุจริตของราชการในภาคธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นตามมาด้วย การเติบโตของอุตสาหกรรมการพนันในประเทศกัมพูชานั้นเป็นไปด้วยดีส่วนหนึ่งมาจากการที่มีชายแดนใกล้ชิดกับประเทศไทยซึ่งการพนันถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย