เอาอีกแล้วจ้า! คนกรุงเทพฯ เตรียมตัว เตรียมเงินในกระเป๋าเอาไว้ให้พร้อมเลย เพราะปีหน้าไม่ว่าจะออกจากบ้านด้วยการขับรถส่วนตัวหรือนั่งรถไฟฟ้า คุณจะต้องเสียค่าบริการเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้า ใต้ดินสายสีน้ำเงิน, รถไฟฟ้า ใต้ดินสายสีม่วง, รถไฟฟ้า บีทีเอสสายสีเขียว และทางด่วน ต่างๆ โดยเราจะมาแจกแจงว่ามีแนวทางการปรับขึ้นราคาอย่างไรบ้าง?

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-หัวลำโพง

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นผู้สัมปทานเดินรถสายสีน้ำเงินช่วงเตาปูน-หัวลำโพง เปิดเผยในวันที่ 22 พฤศจิกายน 260 ว่าคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติตามข้อเสนอการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งมีครบกำหนดต้องปรับขึ้นราคาตามสัญญาในวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 โดยจะปรับราคาขึ้นใน 3 สถานีระหว่างทาง สถานีละ 1 บาท เช่น จากเดิมเก็บ 22 บาท เพิ่มเป็น 23 บาท

 โดยผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบคือผู้โดยสารที่ใช้บริการในระยะสั้นๆเท่านั้น โดยขั้นตอนต่อไปคือเสนอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พิจารณาอนุมัติ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยคาดจะเริ่มประกาศราคาใหม่ ตั้งแต่เดือน มกราคม 2561 หรือภายในก่อนเดือนพฤษภาคม 2561 เป็นอย่างช้า

รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่

            สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เพิ่งเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินที่สถานีเตาปูนได้ไม่นานนี้ มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10% เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 350,000 – 400,000 เที่ยวคน/วัน และคาดว่าถ้าหากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเปิดให้บริการในปี 2562 จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 4-5% หรือประมาณ 100,000 เที่ยวคน/วัน และเก็บค่าโดยสารอัตราปกติราคา 14-42 บาท

            สำหรับสายสีม่วงนั้นไม่ได้เป็นการปรับราคาขึ้น แต่เป็นการจัดโปรโมชั่นสำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการในระยะทางยาว โดยปรับลดราคาค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน โดยจากสถานีคลองบางไผ่-สถานีหัวลำโพงแต่เดิมราคา 84 บาท ปรับเป็นราคา 70 บาทต่อเที่ยว

รถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน

            บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้รับสัมปทาน เพิ่งประเทศปรับราคาค่าโดยสารไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ภายหลังจากที่ไม่ได้ปรับราคามานานกว่า 4 ปี โดยปรับจากราคา 15-42 บาทเป็น 16-44 บาท แต่สำปรับผู้ใช้บัตรแรบบิทประเภทเติมเงิน ยังคงสามารถใช้ราคาเก่าได้จนถึง 31 มีนาคม 2561

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ กทม.ดูแลเอง ช่วงอ่อนนุช-แบริ่งและวงเวียนใหญ่-บางหว้า ได้ปรับราคาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นราคา 15 บาทตลอดสาย

ทางด่วน โทลเวย์ มอเตอร์เวย์

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะครบกำหนดปรับค่าผ่านทางด่วน ขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 จะปรับขึ้นทุก 5 ปี ซึ่งที่ผ่านมาปรับขึ้นเฉลี่ย 5-10 บาท โดยจะพิจารณาภายในเดือนเมษายน 2561 ซึ่งผลอาจปรับหรือไม่ปรับขึ้นก็ได้

            สำหรับช่องทางที่มีการปรับขึ้นราคาคือมอเตอร์เวย์ โดยปรับราคาเพิ่มในช่วงชลบุรี-พัทยา ผู้ได้รับผลกระทบคือผู้ที่เดินทางระยะยาวจากด่านลาดกระบัง-พัทยา โดยปรับเป็น 105 บาท จากปัจจุบันที่วิ่งจากลาดกระบัง-ชลบุรี ราคา 60 บาท

เพิ่มราคาทางด่วนเผื่อคนจะเลิกใช้รถยนต์? นโยบายลดการใช้รถแบบนี้ยังมีอะไรอีกบ้าง?

       “ประเทศพัฒนาแล้วไม่ใช่สถานที่ที่คนจนมีรถส่วนตัว แต่เป็นสถานที่ที่คนรวยเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะ” ประโยคเท่ห์ๆ ที่เอ่ยโดย Gustavo Petro อดีตนายกเทศมนตรีเมืองโบโกตา นั้นยังคงสามารถหยิบยกมาใช้ได้เสมอ เนื่องจากในประเทศที่พัฒนาแล้ว การพัฒนาขนส่งมวลชนนั้นรุดหน้าไปมาก โดยประชาชนส่วนใหญ่ก็เลือกใช้ขนส่งสาธารณะมากกว่ารถส่วนตัวด้วยเช่นกัน ถามว่าทำไมขนส่งสาธารณะในต่างประเทศึงได้มีประสิทธิภาพนัก?

            หลายประเทศการมีรถส่วนตัวนั้นค่อนข้างเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องจากมีกฎหมายจำกัดการใช้รถต่างๆมากมาย ซึ่งภาครัฐเองก็ได้ประโยชน์สองทาง ทางหนึ่งคือสามารถลดปัญหาการจรา ทางที่สองคือการลงทุนขนส่งสาธารณะสามารถดำเนินไปได้โดยหลีกเลี่ยงภาวะขาดทุน

            ประเทศญี่ปุ่น มีคนที่ครอบครองรถส่วนตัวเพียงแค่ประมาณ 30% ของจำนวนพลเมืองทั้งหมดเท่านั้น เนื่องจากมีข้อกฎหมายที่ว่าด้วยการจะครอบครองรถส่วนตัวนั้นจะต้องมีที่จอดรถในบ้าน ซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าขนาดที่อยู่อาศัยของญี่ปุ่นนั้นเล็กกว่าบ้านเรามาก นอกจากนั้นในด้านที่จอดรถเชิงพาณิชย์ก็ราคาแพงแสนแพง โดยคิดค่าบริการชั่วโมงละประมาณ 130 บาทในช่วงกลางวัน และราคาชั่วโมง 160 บาทในช่วงกลางคืน ซึ่งทำให้ประชาญี่ปุ่นโอดครวญและขยาดในการครอบครองรถส่วนตัว ทั้งๆที่ประเทศเขานั้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

            ข้อกฎหมายทำนองนี้ถูกหยิบยกมาพูดคุยในกลุ่มนักวิชาการและนักกฎหมายหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ต้องพับเก็บเสียร่ำไป เพราะในประเทศไทยที่เกือบทุกบ้านนั้นมีรถส่วนตัวในครอบครองอย่างน้อย 1 คัน ย่อมไม่มีใครพอใจแน่นอน แล้วเราจะทำอย่างไรให้ถูกใจประชาชนไทยทั้งประเทศกันเล่า? หรือเราจะต้องรอคอยวันที่ถนนในกรุงเทพฯ จะดูสะอาดตา ไม่มีรถราวิ่งกันชุลมุนไปอย่างไม่มีสิ้นสุด - เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK

เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก