กรุงศรีฯคาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.35-32.60 หลังแข็งค่าเป็นอันดับ 3 ของเอเชียในปี 60 



          กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์แรกของปี 2561 มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.35-32.60 ต่อดอลลาร์ เมื่อเทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.58 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

         โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 1.7 พันล้านบาท แต่ขายพันธบัตรสุทธิ 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปี 2560 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นรวม 2.6 หมื่นล้านบาท แต่มีเม็ดเงินไหลเข้าพันธบัตรมากถึง 3.6 แสนล้านบาทในสัปดาห์ที่แล้ว ที่ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินสำคัญ หลังความต้องการถือครองดอลลาร์ลดลงในช่วงปลายปีและนักลงทุนบางส่วนเริ่มกลับเข้าตลาดอีกครั้งหลังเทศกาลคริสต์มาส  

        ทั้งนี้ตลาดการเงินจะให้ความสนใจกับบันทึกการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมถึงข้อมูลการเติบโตของค่าจ้างในสหรัฐฯ เพื่อประเมินแรงส่งผ่านของตลาดแรงงานไปยังเงินเฟ้อที่ยังอยู่ที่ระดับต่ำ ซึ่งอาจให้ภาพที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

        อย่างไรก็ดี ในปี 2560 ตลาดหุ้นโลกให้ผลตอบแทนดีที่สุดในรอบ 8 ปี เพราะนักลงทุนปรับตัวรับอัตราเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยในระดับต่ำ ซึ่งสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตทั่วโลก นอกเหนือจากปัจจัยเงินเฟ้อและการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดแล้ว ในปีนี้เฟดจะมีการปรับเปลี่ยนบุคลากรระดับสูงหลายตำแหน่ง รวมถึงการเลือกตั้งทั่วไปในอิตาลีและการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ซึ่งจะสร้างความผันผวนให้กับตลาดได้ 

         สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าปี61 จีดีพีไทยจะเติบโต 4% โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกและท่องเที่ยว ส่วนกำลังซื้อภาคเอกชนยังไม่แข็งแกร่ง ด้านการลงทุนภาครัฐมีสัญญาณสดใส หลังการประมูลและการเซ็นสัญญาการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการมีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อการลงทุนภาคเอกชนได้


         ส่วนค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลก มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากการคาดการณ์ของนักลงทุนที่มองว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจเริ่มปรับสมดุลนโยบายการเงินเร็วกว่าคาด

        ซึ่งประเมินว่าปีนี้เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าในอัตราที่ลดลง ทั้งนี้ในปี 2560 เงินบาทแข็งค่าเป็นอันดับสามของเอเชีย โดยแข็งค่าเกือบ 10% แม้เฟดได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งปีรวม 0.75% ขณะที่ในปีนี้การเคลื่อนย้ายเงินทุนจะยังคงผันผวน ส่วนการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีแนวโน้มลดลงจากยอดนำเข้าที่ฟื้นตัวตามการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งจะช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง