เปิดมาต้นปีแบบนี้ ขอนำเสนอบทความที่อาจทำให้ใครหลายคนดูห่อเหี่ยวใจกันสักหน่อย แต่มันคือความจริงที่อยากให้มองย้อนกลับมาเรียกสติการใช้จ่ายกัน จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ TerraBKK Research พบว่า สัดส่วนคนจน ในประเทศไทย ช่วงปี 57-59 ปรับตัวอยู่ในกรอบ ร้อยละ 7.5-10.5 ของประชากรไทย เฉลี่ยราว 5.8 - 7.06 ล้านคน ซึ่งเส้นความยากจน (ด้านรายจ่าย) เฉลี่ยทั่วไทย 2,653 บาท/คน/เดือน โดยพื้นที่กรุงเทพมหานครจะมีเส้นความยากจน (ด้านรายจ่าย) สูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย 3,137 บาท/คน/เดือน 

 

             10 จังหวัด สัดส่วนคนจน สูงสุด ปี 2559 TerraBKK Research พบว่า แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มี สัดส่วนคนจน สูงสุดในประเทศไทยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2559 ล่าสุดมีตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 39.21 และหากมองรวมเป็นรายภูมิภาค ต้องบอกว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่มี สัดส่วนคนจน จำนวนมากที่สุด เพราะติดอันดับถึง 4 จังหวัดด้วยกัน คือ กาฬสินธุ์ , นครพนม , บุรีรัมย์ , อำนาจเจริญ  ภาคเหนือ 2 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน และ น่าน  ภาคใต้ 3 จังหวัด คือ นราธิวาส , ปัตตานี , ยะลา นอกจากนี้ยังมี ชัยนาท (ภาคกลาง) อีกด้วย

              10 จังหวัด สัดส่วนคนจน น้อยสุด ปี 2559 สำหรับจังหวัดที่มี สัดส่วนคนจน น้อยที่สุด คือ ชลบุรี ไม่เคยมีตัวเลขเกินร้อยละ 1 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่า ภาคกลาง ยังเป็นภูมิภาคที่มี สัดส่วนคนจน ค่อนข้างต่ำอีกด้วย เพราะ 5 จังหวัดปริมณฑลใกล้กรุงเทพ ฯ อย่างสมุทรสาคร, นครปฐม, นนทบุรี, สมุทรปราการ และ ปทุมธานี ล้วนติดอันดับจากตัวเลข สัดส่วนคนจน ไม่เกินร้อยละ 2 ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังรวมถึง พิจิตร (ภาคเหนือ) และ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต (ภาคใต้) รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยด้วย

              ลำดับต่อไป TerraBKK Research จะขอลงรายละเอียด สัดส่วนคนจน แบ่งออกเป็นรายภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง (รวมภาคตะวันออก-ตก) , ภาคเหนือ , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ ดังนี้

 ภาคกลาง (รวมภาคตะวันออก-ตก) 

            เริ่มต้นกันที่ ภาคกลาง มีจำนวนคนจน (ด้านรายจ่าย) เฉลี่ย 9.26 แสนคน หรือ สัดส่วนคนจน เฉลี่ยร้อยละ 4.8 โดย เส้นความยากจน (ด้านรายจ่าย) เฉลี่ย 2,833 บาท/คน/เดือน ซึ่งจังหวัดที่มี สัดส่วนคนจน สูงสุดคือ ชัยนาท ร้อยละ 28.34 ส่วน จังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นจะเป็น ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยละ 10.71 ล่าสุดปี 59 (ปี 58 ร้อยละ 6.38 , ปี 57 ร้อยละ 4.21) ไม่เหมือนกับ สระบุรี ที่ปรับลดลงตลอด 3 ปี ที่ผ่านมา ด้วยสัดส่วนปี 59 ร้อยละ 3.57 (ปี 58 ร้อยละ 4.97, ปี 57 ร้อยละ 6.03) และจังหวัดที่มี สัดส่วนคนจน ต่ำสุดของภาคกลาง คือ ชลบุรี ร้อยละ 0.03

 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

            ด้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีจำนวนคนจน (ด้านรายจ่าย)เฉลี่ย 2.52 ล้านคน หรือ ร้อยละ 13.4 สูงสุดในประเทศไทย ด้วยเส้นความยากจน (ด้านรายจ่าย) เฉลี่ย 2,369บาท/คน/เดือน กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจน สูงสุดของภูมิภาค ร้อยละ 31.99 ทั้งนี้ หากมองภาครวมของภูมิภาคนี้แล้ว จังหวัดที่มีแนวโน้ม สัดส่วนคนจน ลดลงมาโดยตลอด มักเป็นจังหวัดหน้าด่านของภูมิภาค เช่น เลย สัดส่วนคนจนปี 59 ร้อยละ 4.01 (ปี 58 ร้อยละ 9.64 ,ปี 57 ร้อยละ 10.01) และ หนองคาย สัดส่วนคนจนปี 59 ร้อยละ 3.77 (ปี 58 ร้อยละ 4.26 ,ปี 57 ร้อยละ 6.49) นอกจากนี้ยังมีเมืองใหญ่อย่าง นครราชสีมา ที่มี สัดส่วนคนจน ปี 59 ร้อยละ 8.97 (ปี 58 ร้อยละ 11.55 ,ปี 57 ร้อยละ 17.06) รวมทั้ง จังหวัดนอกสายตาอย่าง สกลนคร ด้วยสัดส่วนคนจน ปี 59 ร้อยละ 13.81 (ปี 58 ร้อยละ 17.19 ,ปี 57 ร้อยละ 23.58) อีกด้วย

 ภาคเหนือ 

            มาต่อกันที่ ภาคเหนือ มีเส้นความยากจน (ด้านรายจ่าย) เฉลี่ย 2,387 บาท/คน/เดือน มีจำนวนคนจน (ด้านรายจ่าย) เฉลี่ย 1.22 ล้านคน หรือ สัดส่วนคนจน ร้อยละ 10.6 โดยเฉลี่ย แม้ว่า แม่ฮ่องสอน จะเป็นจังหวัดที่มี สัดส่วนคนจน สูงสุดในประเทศไทย ด้วยร้อยละ 39.21 แต่จังหวัดติดกันอย่าง เชียงราย กลับมีการเปลี่ยนแปลง สัดส่วนคนจน ลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยตัวเลขปี 59 ร้อยละ15.78 (ปี 58 ร้อยละ 17.22 ,ปี 57 ร้อยละ 26.83) รวมทั้ง พื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนกลางเชื่อมต่อการสัญจร เช่น พิษณุโลก, เพชรบูรณ์ , กำแพงเพชร เป็นต้น รวมทั้ง ลำพูน ทั้งหมดนี้ล้วนมี สัดส่วนคนจน ไม่เกินร้อยละ 5 เรียกว่าลดลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

 ภาคใต้ 

             ท้ายสุด มาจบกันที่ ภาคใต้ ที่มีเส้นความยากจน (ด้านรายจ่าย) เฉลี่ย 2,730 บาท/คน/เดือน ด้วยตัวเลข สัดส่วนคนจน เฉลี่ยร้อยละ 12.02 หรือ จำนวนคนจน (ด้านรายจ่าย) เฉลี่ย 1.10 ล้านคน ต้องบอกว่า 2 จังหวัดโดดเด่นของภูมิภาคนี้คงจะเป็นไปตามที่ใครหลายคนคาดเดา นอกจากจะมีตัวเลข สัดส่วนคนจน ต่ำสุดในภูมิภาคนี้แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ นั้นคือ ภูเก็ต ที่มี สัดส่วนคนจน ปี 59 ร้อยละ 0.52 (ปี 58 ร้อยละ 0.63, ปี 57 ร้อยละ 0.72) รวมทั้ง สุราษฎร์ธานี ด้วยสัดส่วนคนจน ปี 59 ร้อยละ 1.35 (ปี 58 ร้อยละ 2.23 ,ปี 57 ร้อยละ 2.65)

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก