ก้าวสู่ศักราชใหม่ หลายคนตั้งเป้ากับตัวเองว่าปีนี้ต้องขยับขยาย พอกันที่กับการย่ำอยู่กับที ถึงเวลามองหาโอกาสใหม่ๆให้ชีวิต ด้วยการเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ หรือ ไปลองหาประสบการณ์ในสายงานที่ไม่คุ้นเคย

         หนึ่งในผลการวิจัยที่น่าตกใจไม่น้อย ซึ่งได้รับการเปิดเผยในงานประกาศรางวัลสุดยอดนายจ้างแห่งปี 2017 ซึ่งจัดโดยความร่วมมือของบริษัท เอออน ฮิววิท ประเทศไทย และ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปลายปีที่แล้ว คือ ตัวเลขของพนักงานบริษัทในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีความรู้สึกผูกพันกับองค์กร อยากทำงานอยู่กับบริษัทเดิมไปนานๆ นั้นมีเพียง 12% เท่านั้น ส่วนอีก 73 % ทำงานไปก็เข้ากูเกิ้ลเพื่อเสิร์จหางานไป  

        นั่นหมายความว่า นายจ้างหรือแม้เพื่อนร่วมงานไม่อาจรู้ได้เลยว่า พนักงานที่ก้มหน้ารัวคีย์บอร์ด สีหน้าเคร่งเครีดยอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นั้น เขา/เธอกำลังตั้งใจทำงานบริษัท หรือ กำลังร่างเรซูเม่เตรียมหางานใหม่ หรือ เข้าเว็บเพื่อตามหางานที่ใช่

         

ถ้าคุณไม่อยากรู้สึกผิด ราวกับเหมือนเป็นคนใจร้ายที่คิดนอกใจบริษัท แอบเอาเวลางานไปหางานอื่น แต่ก็ไม่อยากตัดโอกาส ปิดอนาคตของตัวเองที่จะได้ก้าวไปสู่ความท้าทายใหม่ๆในโลกของการทำงาน ลอง 5 วิธีที่จะช่วยให้คุณไม่ต้องกลายเป็นคนทรยศที่ทำงานเก่า แถมยังฟินาเลโบกมือลาเพื่อนร่วมงานได้แบบสวยๆ

         1.อย่าใช้เวลางานหางานใหม่ แค่นี้ ก็ไม่มีใครมาตำหนิเรื่องความจงรักภักดีที่มีต่อบริษัทให้แล้ว เพราะในเวลางานคุณก็พร้อมเทหมดหน้าตักทุ่มเพื่องานเต็มที่ ส่วนนอกเวลางานถือเป็นสิทธิ์ขาดของคุณ

        2.อย่าเอาธุระส่วนตัวไปทำที่ออฟฟิศ กฎสามัญประจำออฟฟิศ คือ ธุระส่วนตัวต้องแยกจากเรื่องงาน ยิ่งคุณกำลังมีแผนในใจว่าจะโบกมือลาที่ทำงานเก่ายิ่งไม่ควรใช้ทรัพยากรของออฟฟิศไปกับธุระส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการเสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับที่ทำงานใหม่ ใช้โทรศัพท์ของออฟฟิศเพื่อติดต่อนัดหมายสัมภาษณ์งาน พริ้นท์เอกสารสมัครงาน หรือ ส่งอีเมล เพราะนอกจากจะไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม ความกังวลที่ก่อตัวในใจ ประหนึ่งว่ากำลังแอบทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จนกลัวบอสจะจับได้ อาจทำให้คุณมองข้ามรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ และเผลอส่งเรซูเม่หรืออีเมลที่ยังไม่ได้เพอร์เฟคถูกใจคุณที่สุดออกไป

        3.เลือกช่องทางในการติดต่อที่ถูกต้อง หลังจากส่งใบสมัครไปแล้ว คุณต้องใส่ข้อมูลเบอร์ติดต่อกลับหรืออีเมลให้ครบถ้วน จำไว้ว่า เบอร์ตรงที่โต๊ะทำงาน หรือ อีเมลออฟฟิศคือ ช่องทางการติดต่อต้องห้ามที่ไม่ควรใส่ลงไปเด็ดขาด เพราะอีเมลบริษัทถือเป็นสิทธิ์ขาดของบริษัทที่สามารถตรวจสอบได้ หรือ แม้แต่การให้เบอร์ต่อตรงที่โต๊ะทำงานก็ไม่ใช่วิธีที่ฉลาดนัก

        4.ใช้วันลาเพื่อจัดการธุระ ในกรณีที่ต้องไปสัมภาษณ์งาน ซึ่งส่วนใหญ่จะนัดในเวลาทำการ 9.00-17.00 น. ซึ่งเป็นเวลางานของคุณเช่นกัน วิธีที่ดีที่สุด คือ การนัดหมายล่วงหน้า เพื่อให้คุณมีเวลาเตรียมตัว และทำเรื่องลาไว้ให้เรียบร้อย เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่รบกวนงานปัจจุบันที่ทำอยู่

        5.อย่าละเลยงานประจำที่ทำอยู่ ถึงจะมีที่หมายใหม่ แต่ตราบที่คุณยังได้ชื่อว่าเป็นพนักงานของบริษัทเก่า อย่าปล่อยให้งานใหม่เข้ามารบกวนจิตใจจนหลุดโฟกัสกับหน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน  เพราะเมื่อถึงปลายทาง วันที่คุณตัดสินใจที่จะจากไปก็ควรทิ้งไว้แต่ความทรงจำที่ดี ดั่งคำเปรียบเปรยที่ว่า ต่อให้ข้ามฝั่งได้สำเร็จก็ไม่จำเป็นต้องเผาสะพานที่เดินข้ามมาทิ้ง ควรรักษาคงความเป็นมืออาชีพไว้ตราบจนวันสุดท้ายของการทำงาน

         อย่าลืมว่า ถึงคุณอาจจะโบกมือลาบริษัทและงานที่ทำ แต่เพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานทุกคน ไม่ได้ล้มหาย วันหนึ่งพวกเขาก็ต้องโยกย้าย การรักษามิตรภาพที่ดีๆไว้คือสิ่งที่สำคัญ ใครจะรู้ว่าในอนาคตพวกคุณอาจได้ร่วมงานกันอีกในอนาคต เพราะฉะนั้นทำไมต้องสร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น