หนึ่งในด่านหินที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องเจอในห้องสัมภาษณ์งาน จนเล่นเอาท้องไส้ปั่นป่วนทุกครั้งคือ คำถามสกัดดาวรุ่งที่ว่า คุณคาดหวังค่าตอบแทนเท่าไหร่?

         คำถามธรรมดาแต่ตอบไม่ง่าย ถึงแม้จะมีตัวเลขที่บวกลบคูณหารในใจจากบ้านมาเบ็ดเสร็จแล้วก็ตาม เพราะพอจะเอ่ยปากออกไปกลับรู้สึกไม่มั่นใจ กลัวไปสารพัดว่าอีกฝ่ายจะคิดอย่างไร

         แทนที่จะปล่อยให้ความกังวลเหล่านี้มาบดบังความมั่นใจและออร่าที่เฉิดฉายต้ังแต่ก้าวเข้ามาในห้องสัมภาษณ์ แค่บอกตัวเองไว้ว่า คุณมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการ หรือคิดว่าสมควรจะได้รับ เพียงแต่คุณต้องมั่นใจว่า มีทักษะในการต่อรองที่จะทำให้คุณดูเป็นมืออาชีพ ถ้าไม่แน่ใจ ลองทำตามไกด์ไลน์ 5 ข้อนี้ไปก่อนเลย รับรองว่าต่อรองกี่ครั้ง ก็ไม่พลาด

        1.ทำการบ้าน ก่อนคิดจะต่อรองเงินเดือน ต้องมั่นใจว่าตัวเองมีฐานข้อมูลมากพอ อย่างน้อยต้องรู้ว่า คนที่ทำงานในตำแหน่งที่หมายตามีฐานเงินเดือนอยู่ที่เท่าไหร่ เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนคนที่จะผลิตสินค้าออกมาตีตลาด ก่อนจะตั้งราคา ต้องหาราคากลางให้ได้ก่อน พอได้แล้วค่อยเอามาบวกค่าประสบการณ์ หรือ ความสามารถที่คุณมี ซึ่งนี่คือกุญแจสำคัญที่คุณจะนำไปใช่เพื่อต่อรองเงินเดือนที่ต้องการ เช่น “จากข้อมูลที่ดิฉันสำรวจระดับเงินเดือนผู้จัดการฝ่ายขายที่มีประสบการณ์การทำงาน 5 ปี อัตราเงินเดือนจะอยู่ที่ 20,000- 25,000 บาท ดิฉันจึงคิดว่าว่าเงินเดือน 18,000 บาทที่คุณเสนอมานั้นค่อนข้างต่ำ ด้วยประสบการณ์และความสำเร็จต่างๆ ของดิฉัน ดิฉันคิดว่า เงินเดือน 23,000 บาทซึ่งอยู่ช่วงตรงกลางน่าจะเหมาะสมกว่าค่ะ”

         

 2.ดูจังหวะให้เหมาะ อย่าเพิ่งพูดถึงเงินเดือนจนกว่าจะได้พูดคุยเรื่องคุณสมบัติของคุณให้เรียบร้อยเสียก่อน การเจรจาต่อรองเงินเดือนควรเกิดขึ้นหลังจากที่คุณได้รับการทาบทามให้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทแล้ว เพราะนั่นแสดงว่า คุณคือ คนที่บริษัทต้องการ และอำนาจในการต่อรองได้อยู่ในมือคุณแล้ว

         3.ใจต้องกล้า เมื่อบริษัทเซย์เยสกับคุณ และแจ้งอัตราเงินเดือนที่คุณจะได้รับมาเรียบร้อย ถ้าตัวเลขมากกว่าหรือพอกับที่คุณต้องการก็จบ แต่ถ้าไม่เป็นดั่งใจ นี่คือเวทีที่คุณต้องต่อรอง ต่อให้ใจจะประหม่า แต่คุณต้องซ่อนความรู้สึกนั้นไว้ให้ลึก และหยิบความกล้าขึ้นมาเป็นเกราะ หายใจเข้าลึกๆ ก่อนจะค่อยๆ เจรจากลับไปอย่างมืออาชีพเพื่อสะท้อนจุดยืนของคุณ  

        4.อย่าปิดประตูตายซะทีเดียว ขึ้นชื่อว่าการเจรจาต่อรอง หมายความว่า ทั้งสองฝ่ายต้องเห็นชอบกับผลลัพธ์ที่ออกมา บางกรณีคุณอาจไม่จำเป็นต้องหักด้ามพร้าด้วยเข่า เพราะถึงจะได้รับเงินเดือนต่ำกว่าที่ต้องการเล็กน้อย แต่ถ้าลองบวกลบคูณหารกับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่จะได้รับดูแล้ว เช่น จำนวนวันหยุด วันพักร้อนที่เพิ่มขึ้น หรือ อาจขอให้บริษัทช่วยดูแลค่าโทรศัพท์และอินเตอร์เนตให้ ถ้าอีกฝ่ายตกลง คุณก็อาจจะได้ร่วมงานกับบริษัทที่หมายตาด้วยเงื่อนไขที่ลงตัว โดยไม่ฝืนความรู้สึก

         5.ไม่ได้...ก็อย่าฝืน ในทางกลับกัน ถ้าผลสุดท้ายแล้วคุณได้รับเงินเดือนน้อยกว่าที่เรียกไปมาก แถมยังดูท่าว่าจะไม่มีการประนีประนอมเกิดขึ้น คุณก็ไม่จำเป็นต้องลังเล แค่บอกไปว่า ไม่ก็จบ แต่ถ้าในใจลึกๆ ยังคิดว่าต้องการงานนี้จริงๆ อาจลองโยนหินถามทางดูอีกครั้งว่า เป็นไปได้มั้ยหลังจากผ่านช่วงทดลองงาน เงินเดือนของคุณจะปรับขึ้นอีก หรือ ถ้าผ่านไปแล้ว 6 เดือน คุณได้แสดงฝึมือหรือศักยภาพให้เห็น จะมีการทบทวนข้อเสนอกันใหม่

ขอบคุณที่มา http://thecusp.com