นอกจากสิ่งที่ควรเตรียมพร้อมเรื่องการออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุแล้ว ยังมีสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อให้เป็นบ้านที่สามารถรองรับและตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุได้อย่างดี

ผู้สูงอายุมีสภาพร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับสภาพร่างกายนั้น เราสามารถออกแบบบ้านหรือปรับเปลี่ยนพื้นที่บ้านบางส่วนให้เหมาะสมเพื่อรองรับและตอบโจทย์การใช้งานของพวกเขาให้สามารถใช้ชีวิตในบ้านได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย โดยมีสิ่งที่ต้องระวังและควรหลีกเลี่ยง ดังนี้

       1. หลีกเลี่ยงพื้นต่างระดับ ธรณีประตู สำหรับผู้สูงอายุที่ก้าวขาได้ไม่สูงมากนัก เดินไม่ค่อยมั่นคง หรือก้าวขาได้สั้นลง ผู้สูงอายุที่ใช้ไม้เท้า ผู้สูงอายุที่ต้องนั่งรถเข็น พื้นภายในบ้านรวมถึงพื้นภายในห้องน้ำควรเป็นพื้นระดับเดียวทั้งหมดเพื่อลดการสะดุดหกล้ม ซึ่งปกติแล้วผู้สูงอายุจะล้มง่ายกว่าวัยอื่นๆ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบกับร่างกายของผู้สูงอายุและจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นจะดีที่สุด หรือถ้าจำเป็นต้องมีพื้นต่างระดับ (Step) จริงๆ ควรมีระยะที่เหมาะสม (เช่น 10-15 ซม.) และมีแถบหรือสีตัดเพื่อบอกแนวระดับพื้นที่ต่างกัน นอกจากนี้ สำหรับพื้นภายนอกบ้านก็ควรปรับให้ได้ระดับเสมอกันไม่มีกระเดิดด้วย ไม่ว่าจะเป็น ทางเดินในสวน ทางเดินบนดิน และพื้นหญ้า เพื่อความปลอดภัย

ภาพ: ควรหลีกเลี่ยงพื้นต่างระดับหรือธรณีประตูทุกส่วนภายในบ้าน

       

 2. หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางบริเวณทางเดินหรือขั้นบันได ผู้สูงอายุที่สภาพร่างกายเปลี่ยนแปลง ทั้งสายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ค่อยชัดนัก การทรงตัวลำบาก ประกอบกับเดินไม่ค่อยสะดวก จึงไม่ควรวางสิ่งของต่างๆ หรือเฟอร์นิเจอร์กีดขวางทางเดินหรือขั้นบันไดที่อาจะทำให้ผู้สูงอายุสะดุดหกล้มได้ ซึ่งนอกจากเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งของที่มีเหลี่ยมคมแล้ว ยังต้องระวังของตกแต่งที่แตกง่าย เช่น วัสดุที่ทำจากแก้วหรือเซรามิก หากเดินชนหรือล้มไปโดนอาจทำให้เกิดอันตรายหรือทำให้ผู้สูงอายุบาดเจ็บได้

ภาพ: หลีกเลี่ยงการวางสิ่งของหรือเฟอร์นิเจอร์กีดขวางตามทางเดินหรือขั้นบันได

       3. หลีกเลี่ยงการเลือกใช้วัสดุพื้นที่ลื่น ควรเลือกใช้วัสดุพื้นแบบเรียบแต่ไม่ลื่น เช่น ในห้องนอนหรือห้องรับแขก รวมถึงพื้นภายนอกบ้าน ควรเลือกวัสดุพื้นนุ่มแต่ไม่ยวบ ช่วยลดแรงกระแทกได้เพื่อให้ผู้สูงอายุทรงตัวได้ดีขณะเดิน เพื่อลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น สำหรับพื้นห้องน้ำควรเลือกกระเบื้องปูพื้นที่มีค่ากันความลื่น (Slip Resistance) ซึ่งมีค่าตั้งแต่ระดับ R9-R13 สำหรับพื้นโซนเปียกควรเลือกกระเบื้องที่มีค่าป้องกันความลื่นอยู่ที่ R10 (ค่า R นี้ได้มาจากการทดสอบ Ramp Test โดยปูกระเบื้องบนทางลาดในระดับองศาต่างๆ) เพื่อลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น

ภาพ: หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุพื้นที่ลื่น แต่ควรเลือกวัสดุพื้นที่เรียบ ช่วยลดแรงกระแทก และมีค่ากันความลื่นที่เหมาะสม

       4. หลีกเลี่ยงการใช้โทนสีมืด ควรเลือกใช้สีพื้นโทนสว่าง และควรเลือกใช้สีที่ตัดกันเพื่อให้ผู้สูงอายุเห็นความแตกต่างของพื้น ผนัง และวัตถุแต่ละชิ้นอย่างชัดเจน 

       5. หลีกเลี่ยงการใช้บานกระจกใสขนาดใหญ่ ทั้งในส่วนของประตูบานเลื่อน ประตูบานเปิด หรือช่องแสงขนาดใหญ่บานฟิกซ์ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ฉากกั้นที่เป็นกระจกใสในห้องน้ำ เพราะอาจทำให้ผู้สูงอายุที่สายตาไม่ดีหรือพร่ามัวเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพื้นที่โล่งและอาจเดินชนได้ แต่ถ้ามีสามารถแก้ไขได้โดยการติดสติกเกอร์ขุ่นเพิ่มเติมเข้าไปเป็นลวดลายให้สังเกตง่าย 
 
       6. หลีกเลี่ยงบ่อน้ำหรือสระว่ายน้ำ ที่อาจมีอันตรายต่อผู้สูงอายุขณะเดินภายนอกบ้านได้ หากมีต้องติดตั้งอุปกรณ์หรือราวกันตกในบริเวณทางเดินหรือทางสัญจรที่อยู่ใกล้กับบ่อน้ำหรือสระว่ายน้ำ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุพลัดตกลงไปได้

ภาพ: หลีกเลี่ยงบ่อน้ำหรือสระว่ายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุพลัดตกลงไปได้ 

       7. หลีกเลี่ยงการเลือกใช้อ่างอาบน้ำในห้องน้ำของผู้สูงอายุ เพราะอ่างอาบน้ำมีระดับความสูงของขอบอ่างที่มากกว่าส่วนอาบน้ำทั่วไป ประกอบกับการก้าวขาของผู้สูงอายุนั้นไม่สะดวกเหมือนเมื่อก่อน รวมถึงมีผิวสัมผัสเรียบลื่น จึงอาจทำให้เกิดการสะดุดหรือลื่นล้มศีรษะกระแทกได้ ควรใช้เป็นส่วนอาบน้ำแบบฝักบัวที่เป็นพื้นระดับเดียวกับส่วนอื่นๆ ในห้องน้ำ (ทำทางลาดในอัตราส่วน 1:200 เพื่อให้ระบายน้ำได้ดี) ไม่ควรมีธรณีกั้นระหว่างโซนแห้งและโซนเปียก (สามารถเลือกใช้เป็นรางน้ำทิ้งกันกลิ่นแบบยาวแทน) พร้อมกับติดตั้งเก้าอี้นั่งอาบน้ำที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อให้สามารถอาบน้ำได้อย่างสะดวกสบาย

ภาพ: หลีกเลี่ยงการใช้อ่างอาบน้ำในห้องน้ำผู้สูงอายุเพื่อลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุในห้องน้ำ 

       8. หลีกเลี่ยงการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีเหลี่ยมคม รวมทั้งไม่นิ่มยวบจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ ตู้ เตียง เก้าอี้ เคาน์เตอร์ ไม่ควรมีเหลี่ยมมุม วัสดุที่แหลมคมหรือวัสดุที่อาจแตกได้ง่ายเมื่อโดนแรงกระแทกที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ เบาะโซฟาหรือเก้าอี้นั่งควรนิ่มแต่ไม่ยวบจนเกินไปที่จะทำให้ลุกนั่งไม่สะดวก

ภาพ: หลีกเลี่ยงการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีเหลี่ยมมุมที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้

       9. หลีกเลี่ยงหลอดไฟที่แสงจ้าเกินไปหรือแสงไฟที่สว่างไม่เพียงพอ แสงจ้าจะแยงตารบกวนการมองเห็น แสงที่ไม่สว่างพอจะทำให้การมองเห็นเป็นไปได้ยาก ต้องเพ่ง จึงควรเลือกแสงที่เหมาะสม เช่นแสงนวลในห้องนอน แสงสีขาวบริเวณอ่านหนังสือเพื่อให้สามารถอ่านได้อย่างชัดเจน

ขอบคุณข้อมูลจาก www.scgbuildingmaterials.com