การท่องเที่ยวในยุคสมัยนี้ เป็นยุคของการเที่ยวแบบแบ็คแพ็กเกอร์ที่ทำให้โลกทั้งใบเชื่อมเข้าหากัน นักท่องเที่ยวจากนานาประเทศต่างก็แบกเป้ สะพายกระเป๋าออกไปค้นหาโลกในแบบตัวเอง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็คือธุรกิจการโรงแรม ทั้งในต่างประเทศและในไทยเราที่คึกคักกันอย่างมาก เราสังเกตเห็นการเกิดตัวของโรงแรมทั้งเล็กใหญ่มากมายในบ้านเรา และมีคำหนึ่งที่ได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆก็คือ Boutique Hotel วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับคำนี้กันให้มากขึ้น ผ่านจากมุมมองของ Boutique Hotel ชื่อดังกลางเกาะรัตนโกสินทร์ “บ้านนพวงศ์” ที่การันตีจากรางวัลหลากหลายเวที และเสียงตอบรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแง่บวกที่ทำให้คนหลั่งไหลกันมาจองที่พักไม่มีหยุด เรามีโอกาสได้พูดคุยตรงๆกับเจ้าของโรงแรมแห่งนี้ คุณตั้ว (กันตศม นพวงศ์ ณ อยุธยา) ชายหนุ่มผู้คิดค้นแนวคิดการทำ Boutique Hotel ที่มีประสิทธิภาพ นอกจากจะดูแลโรงแรมแล้ว ตอนนี้เขายังรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับโรงแรมเกิดใหม่ในชื่อ Siam Hotel Maker อีกด้วย เราคุยกันที่บรรยากาศห้องรับแขกในบ้านนพวงศ์


บ้านนพวงศ์เกิดขึ้นได้อย่างไร? ย้อนไป 5 ปีที่แล้ว บ้านนี้เป็นบ้านเก่าของคุณตาคุณยายผม คุณตาหม่อมหลวงดิศพงศ์ นพวงศ์ แล้วก็คุณยาย คุณสาลี่ นพวงศ์ ณ อยุธยา สร้างมาตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 7 ตอนปลาย พ.ศ. 2488 เป็นบ้านทรงไทยโคโลเนียล สถาปัตยกรรมแบบนี้เกิดขึ้นในยุคล่าอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศสครับ มันจะเป็นการผสมผสานเรื่องของลวดลายตกแต่ง พวกลายฉลุ ช่องแสง การกลึงไม้ของฝั่งตะวันตก ผสมกับความเป็นไทยที่เป็นบ้านมีลมผ่านได้ มีบานกระทุ้ง มีบานเกร็ด บ้านนี้จากที่เคยเป็นบ้านพักอาศัย พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆมันก็เริ่มผุพัง ผมเองที่เป็นลูกหลานก็เลยมองถึงคำว่าการอนุรักษ์ขึ้นมา แต่ก็ตีความว่า อนุรักษ์ยังไง? เพราะอนุรักษ์มีหลายแบบนะครับ มันมีทั้งอนุรักษ์แบบปิดไว้เฉยๆ อนุรักษ์แบบกลับมาอยู่เอง อนุรักษ์สำหรับผม ผมมองไปกว่านั้น ผมมองว่ามันคือ อนุรักษ์แล้วเผยแพร่ อนุรักษ์แล้วนำไปพัฒนาต่อ นี่คือคอนเซปต์หลักเลยของโรงแรมเรา เผยแพร่อะไร? คุณมีบ้าน คุณก็ต้องเผยแพร่ในเชิงของสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม วิถีความเป็นอยู่ สามเรื่องนี้มันก็มีคำตอบเลยครับว่าต้องทำ “ที่พัก”
ทำเลที่ตั้งมีผลอะไรกับเราบ้าง? มีผลหลายอย่างเลยครับ มันทำให้เราตั้งกรอบของบ้านนพวงศ์ได้ เมื่อก่อนคนมองกันว่าเกาะรัตนโกสินทร์ ถนนข้าวสาร มันต้องแบ็คแพ็คเกอร์ชัวร์ เพราะแถวนี้เขาขายราคาที่พักกันสนุกเลย เรตราคา 300 บ้าง 500-800 บาท เต็มไปหมด แต่ว่าทำไม? ไม่มีโรงแรมดีๆในเกาะรัตนโกสินทร์​ที่ขายในเชิงวัฒนธรรม แบบท่ีมอบความเป็นไทยให้กับลูกค้าได้จริงๆ เราก็ย้อนกลับมามองว่า การอนุรักษ์บ้านไทยของเรา เราควรจะผลักดันในเรื่องของการให้วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ให้แขกผู้มาพักได้เรียนรู้ ว่าความเป็นอยู่แบบไทยและได้อยู่ในบ้านไทยจริงๆมันเป็นอย่างไร
ผลตอบรับเป็นอย่างไร? ผลลัพธ์ที่เกิดทำให้ผมตกใจนะครับ มันเกิดการเคารพของวัฒนธรรมกันและกันขึ้นเหมือนกัน คุณลองสังเกตได้ผมไม่ได้ติดป้ายถอดรองเท้าไว้ แต่แขกทุกคนที่มาพักเขาถอดรองเท้าก่อนขึ้นบ้านทุกคน คนอเมริกันนี่ยิ่งชัดมาก ปกติเข้าห้องในบ้านเขายังไม่ถอดเลย แต่นี่เขาเปิดรับ เขาเรียนรู้วัฒนธรรมของเรา ดังนั้นโจทย์ของเราคือถ่ายทอดวัฒนธรรมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร การเป็นอยู่ การใช้ชีวิต ความสะดวกสบาย ก็เกิดเป็น Boutique Hotel ที่ตั้งใจจะอนุรักษ์และพัฒนาต่อ นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมบ้านนพวงศ์เราถึงต้องเป็นบ้านไทย เพราะเรามีแนวคิดแบบนี้

กลุ่มลูกค้าของบ้านนพวงศ์เป็นใคร? เรื่องกลุ่มลูกค้านี่น่าสนใจมากครับ ตอนแรกเรามองว่าลูกค้าเราจะมาเป็นอย่างไร จะเป็นแบ็คแพ็คเกอร์หรือเปล่า เพราะเรตราคาเรากระโดดแพงกว่าในข้าวสารมาก เอาเข้าจริงๆเลยกลายเป็นกลุ่มลูกค้าของเรา เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังจ่ายสูง ปกตินอนโรงแรมเชนใหญ่ๆอย่าง เชอราตัน ฮิลตัน บางทีมาจาก โอเรียลเต็ล ก็มีครับ ผมเคยคุยกับลูกค้านะ เค้าบอกว่า เวลาเค้าแพลนมาเที่ยวในทริปนึง จะมีคืนที่นอนในโรงแรมเชนดังๆ แล้วสักสองสามคืนในทริป เขาอยากจะซึมซับประสบการณ์แบบไทยแท้ๆจริงๆ แล้วโชคดีที่ทำเลผมอยู่ใกล้กับวัดพระแก้วมาก การมาอยู่ที่นี่มันทำให้ได้รับบรรยากาศเหล่านี้แท้ๆจริงๆ พอได้บวกกับเซอร์วิสที่เราใส่ใจให้มันออกมาเป็นระดับห้าดาวอยู่แล้ว เขาได้รับกลับไปก็เกิดการรีวิวที่ดี แล้วมันก็จะเกิดเป็นการมองเห็นจากคนต่างชาติมากขึ้น
ทำไมเราถึงกล้าตั้งราคาสูงกว่าคนอื่น? เรื่องการตั้งราคาของโรงแรม มันต้องดูจากสองส่วนครับ ส่วนแรกคงปฏิเสธไม่ได้เลย เบสิคคือเราต้องดูจากคู่แข่งรอบๆ แล้วราคาจะเป็นตัวบอกเองว่าคุณอยู่ในระดับ ในคลาสไหนรอบๆละแวกของคุณ ของผม ผมตั้งแพง เพราะว่าห้องผมมีไม่มาก ถ้าเกิดผมตั้งราคาถูก เรื่อง Economy of Scale ผมถือว่าตกละ เพราะมันไม่ประสานไปด้วยกัน มันคือจุดที่เราทำรายได้ได้ Maximum แต่ต้นทุนอยู่เท่าเดิม คำถามคือคุณจะหาจุดนั้นได้อย่างไร อันนี้เป็นปัญหาหลักที่ผมพบเห็นในหลายๆคนทำโรงแรมเองเลยครับ การรู้ตัวว่าเป็นโรงแรมเล็ก คุณจำเป็นต้องมี Economy of Scale ที่ดี แล้วเมื่อใดที่คุณคิดจะตั้งว่าห้องคุณราคาแพงแล้ว คุณต้องมีเหตุผลตอบให้ได้นะว่า ทำไมคุณถึงแพง? อันนี้คุณต้องคิดตั้งแต่ต้นเลยครับ บางทีผมเห็นเวลามาคิดตอนโรงแรมเสร็จแล้วค่อยเซ็ทเรตราคาสูงกัน คุณอึดอัดแน่นอน ผมรู้แล้วว่าโรงแรมนี้ทำห้องได้ไม่เยอะ ผมต้องทำห้องแพง แล้วผมก็ต้องตอบให้ได้ละว่าแพงเพราะอะไร สิ่งที่นพวงศ์มีคือมีประวัติศาสตร์ นี่เป็นบ้านของหม่อมหลวงที่เป็นราชสกุลจริงๆ คุณได้มาสัมผัสชีวิตแบบไทยแท้ๆจริงๆ คุณได้อยู่แบบรับการบริการห้าดาว มีเครื่องใช้ อุปกรณ์ทีวี เคเบิ้ล แอร์ ห้องน้ำในตัว ครบมาตรฐาน ในห้อง Suite ห้องใหญ่ ห้าพัน มีอ่างจากุซซี่ส่วนตัวในห้อง เนี่ยคุณต้องตอบเรื่องฟังก์ชั่นให้เขาได้ด้วย ถ้าคุณมีเรื่องพวกนี้ครบเรียบร้อยแล้ว คุณอัดราคาขึ้นได้ตามต้องการ อันนี้คือในแง่ของการตั้งราคาสูงนะครับ แต่ถ้าคุณบอกว่า คุณอยากตั้งถูกๆหน่อย คุณลองดูโอสเทล เดี๋ยวนี้ตั้ง 300 400 500 บาท แล้วในโฮสเทลมีอะไรบ้าง บางที่ไม่มีอะไรให้เลย อย่างนี้คุณตั้งแพงกว่าเค้าได้สิ ถ้าคุณใส่ไมโครเวฟ ใส่ตู้เย็นให้เค้า คุณอาจจะมีการจัดปาร์ตี้ทุกเย็น ให้แขกที่พักพร้อมๆกันตอนนั้นมาร่วมได้ ต้องมีลูกเล่นอะไรใส่เข้าไป เพื่อยกระดับดีกว่าคนอื่น เท่านี้คุณก็ไม่ต้องแข่งอะไรกับคนอื่นแล้ว เรื่องราคา สมัยนี้มันไม่ใช่ว่า โรงแรมมานั่งขายแข่งกันแค่ห้องพักอีกต่อไปแล้ว
ช่วยเล่าถึง Siam Hotel Maker ให้ฟังหน่อย? เป็นสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่อีกอย่างหนึ่งครับ คือเราจะทำหน้าที่เป็นเหมือน Coaching คอยให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่สนใจจะทำโรงแรมของตัวเองขึ้นมา โดยเอาความรู้ที่ผมมีจากการทำบ้านนพวงศ์นี่ล่ะ ไปประยุกต์และแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ ส่วนของสยามโฮเทลเมกเกอร์ตอนนี้ก็ทำมาได้ประมาณปีนึงแล้วครับ สี่ปีหลังจากที่ทำบ้านนพวงศ์ คือบอกตรงๆ จริงๆตอนแรกผมไม่ได้ตั้งใจกับตรงนี้เลยนะ แต่เวลาผมไปบรรยาย เรื่องเกี่ยวกับ Boutique Hotel หลังจบการบรรยายทุกครั้งก็จะมีนักเรียนหรือคนที่เขามาอบรมมาถามผมว่าผมรับทำแบบเป็นที่ปรึกษารึเปล่า? เพราะเขาก็ไม่รู้จะพึ่งใคร ที่ปรึกษาโรงแรม ค่าบริการหลักล้านบาทขึ้นทั้งนั้น บ้านเราไม่มีใครมาทำสเกลแบบนี้ครับ ปกติที่ปรึกษาเรื่องโรงแรมในบ้านเราจะเป็นระดับคุณมีห้องพัก 80 ห้อง ปรึกษาให้กับไฮแอด โนโวเทล เจ้าของมีที่ 3 ถึง 4 ไร่ที่อยู่กลางสยาม อยู่ราชเทวี เมื่อก่อนมันเป็นตลาดนี้ พอเป็นตลาดผู้ประกอบการ S.M.E. หรือ Startup เขาก็ไม่รู้จะหันหน้าหาใคร สมมุติเขาตั้งงบไว้ 3 ล้าน เอาไปจ้างที่ปรึกษาล้านนึงก็ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี ระดับเล็กๆมันก็เลยเป็นไม่มีที่พึ่ง ไม่รู้จะหันหน้าหาใคร กลายเป็นเราทุกคนรวมถึงผมเองก็ต้องลุยกันเองทั้งหมดแหละผมเองพอศึกษา มีประสบการณ์มาแล้ว ข้อดีก็คือผมมีความรู้ด้านสถาปนิกอยู่ด้วยก็เลยคิดว่า ผมสามารถช่วยดูตรงนี้ให้ได้
เราถือเป็นเจ้าแรกในเมืองไทย? ครับ คำถามก็คือทำไมมันไม่มีมาก่อน? ปกติเวลาคนจะสร้างโรงแรมอันนึงคุณต้องแยกมองแบบฮาร์ดแวร์กับซอฟท์แวร์ แล้วไอ้สองอย่างนี้ มันไม่เคยมาเจอกันหรอกครับ ฮาดแวร์คุณต้องไปจ้างสถาปนิก จ้างคนออกแบบ จ้างผู้รับเหมา คิดเสร็จเรียบร้อย พอเสร็จแล้วมันจะมีช่องว่างเกิดขึ้น ที่คุณก็จะต้องไปหาซอฟท์แวร์ ที่ปรึกษาด้านการตลาด ทำเวปไซต์ ทำการขาย ทำออนไลน์ แต่งห้องทำอะไร สุดแล้วแต่ นี่คือเด็กที่ต้องจบ Hospitality จบการโรงแรม ถึงจะมีความรู้เรื่องเหล่านี้ ความรู้ว่าคุณจะ Service ลูกค้ายังไง? ประโยคแรกที่ลูกค้าเดินเข้ามาในโรงแรมคุณควรจะพูดว่าอะไร? พวกนี้มันมีตำราของมันหมดครับ ดูง่ายๆเด็กเรียนการโรงแรมเรียนศิลปากร เขาเรียนกันตั้ง 5 ปีนะ แล้วจบมาคุณยังต้องไปทำงานในโรงแรมเชน โรงแรมอะไรกว่าจะมีประสบการณ์ด้านการโรงแรม การบริการ การบริหาร เรื่องหน้าฟรอนต์ออฟฟิต แม่บ้านคุณจะเก็บห้องยังไง เพราะฉะนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่คนออกแบบกับเรื่องเหล่านี้มันจะมาเจอกันตรงกลาง สถาปนิกจะมารู้เรื่องการโรงแรมได้ไง ย้อนไปตอนเริ่มต้นเนี่ยผมไม่รู้หรอกว่าจะบริหารยังไง แต่เรารู้อย่างนึง เราสามารถทำสถาปัตยกรรมหรือห้องพักให้มันสวยที่สุดได้ เราทำให้มันอยู่สบายที่สุดได้ จนโรงแรมเปิดนี่ล่ะถึงเป็นจุดเปลี่ยน มันกลายเป็นว่าผมไม่มีความรู้เรื่องการ Operation อะไรเลย ทางออกก็คือต้องไปเรียนครับ ผมไปเรียนที่วิทยาลัยดุสิตธานีเพิ่มเรื่องการโรงแรมโดยเฉพาะเลยเพื่อมาเติมตรงนี้

แนวคิดหลักของ Siam Hotel Maker? ตั้งแต่ไหนแต่ไรผมมีคำถามในใจตลอดว่า ทำไมโรงแรมเล็กต้องบริหารแบบเล็กๆ ทำไมโรงแรมเล็กบริหารแบบใหญ่ๆเหมือนโรงแรมเชนบริหารไม่ได้เหรอ? ทำไมโรงแรมเล็กต้องไม่มีมาตรฐาน ทำไมผมเห็นในต่างประเทศโรงแรมเล็กๆมีมาตรฐานเยอะเยะไป แล้วที่สำคัญคือขายแพงได้ด้วย เป็นแบบ Exclusive ขายได้ เออ แล้วทำไมเมืองไทยไม่มี? ตอนผมไปเรียนผมก็เอาเรื่องนี้ไปปรึกษากับอาจารย์ที่ผมเคารพ ผมก็คุยกับเขาว่าเราควรผลักดันเรื่องนี้ มาดูกันหน่อยดีกว่าว่าเราจะสร้าง Standard Procedure ยังไงให้มันได้ เราควรจะมี System มีระบบยังไง แรกเริ่มผมก็เอาตำราโรงแรมใหญ่มากางดูเลยนะ เล่มมันจะหนาๆเลย พวกตำราของแมริอ๊อตหรืออะไรอย่างนี้ มันเป็นเหมือนคัมภีร์เป็นเหมือนไบเบิลเลยครับ ในนั้นบอกหมดเลย ไม่ว่าจะหมวดพนักงาน หมวดการบริการ คุณต้องโค้งคำนับกี่ครั้ง คุณต้องกล่าวคำอะไรทักทาย รับโทรศัพท์คำแรกต้องพูดว่าอะไร เราศึกษาแล้วก็ได้บางส่วนที่ปรับใช้ได้ บางส่วนที่มันต้นทุนสูงก็เก็บคืนเค้าไป เพราะทุนเรากับเขาไม่เหมือนกัน ครับ เราสร้าง Template ใหม่อันหนึ่งขึ้นมา มันกลายเป็นว่าวันนี้เรื่องการบริการเรารู้หมดละ ไปจนถึงการบริหารและการตลาดตอนนี้ เรารู้ด้วยว่าการทำ Ranking ใน Tripadvisor มันมีเทคนิควิธิการทำอย่างไร? คุณจะทำใน agoda.com หรือ booking.com คุณต่อรองเอาคอมมิชชั่นกับเขา คุณจะเอาอะไรไปต่อรอง เพราะฉะนั้น สยามโฮเทลเมกเกอร์ ผมว่าผมทำให้ได้อยู่แล้ว เพราะผมเองก็ทำให้ตัวเองอยู่ทุกวันครับ เรื่องพวกนี้โรงแรมยิ่งห้องเยอะยิ่งทำง่ายนะ ห้องเยอะบริหารง่ายสภาพคล่อง แต่ไอ้โรงแรมเล็กๆทำให้มันเวิร์คเนี่ย ผมว่ามันยากนะครับ
ขั้นตอนการทำงานของเรากับลูกค้า? หลักๆเราจะเป็น Coaching หรือเป็นที่ปรึกษาให้เขาเลยครับ ตั้งแต่ 1 ไปจนถึง 10 ตั้งแต่เริ่มมาก็ต้องเรื่องของการออกแบบ ผมเป็นสถาปนิกอยูแล้วตรงนี้ไม่มีปัญหา ผมมีทีมออกแบบที่มีความเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะปรับปรุงบ้านสไตล์โคโลเนียล หรือว่าจะทำเป็นแนวโมเดิร์นก็ได้ แนวของโฮสเทลสมัยใหม่ เราทำได้คลอบคลุมอยู่แล้ว ที่สำคัญทีมงานผมจะโฟกัสแต่เฉพาะเรื่องการสร้างโรงแรม เราผ่านงานโรงแรมบูลติกโฮเทลโฮสเทลมาโดยเฉพาะเลย เราไม่ทำช็อปหรืออาคารพาณิชย์ เพราะมันมีรายละเอียดของมันต่างกันนะครับ บางครั้งโรงแรมที่ออกแบบสวยมาก แต่พนักงานผัดข้าวในครัว กลิ่นอาหารจากครัวลอยเข้าห้องมาบางทีลูกค้าห้องไม่เป็นส่วนตัว คือบางคนถ้าไม่ได้ทำในจุดนี้ จะพลาดตรงนี้ได้ พอออกแบบเสร็จ เราก็จะต้องไปดูเรื่องของ การเตรียมห้องพัก การเตรียมห้องพักคืออะไร? อันนี้ดูเรื่องการเตรียมของใช้ในห้อง เตรียมเฟอร์นิเจอร์ ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆอย่างเนี่ย คุณจะเตรียมยังไง ปลอกหมอนหมอนคุณต้องมีกี่ชนิดกี่ประเภท โซนนี้มันเป็นเรื่องการโรงแรมครับ เตรียมห้องพักเสร็จต่อไปก็เป็นเรื่องการทำ Branding การขาย เราจะเข้ากับตลาดออนไลน์ พวกเวปไซต์บุ๊คกิ้งในยุคนี้ได้อย่างไร เราดูไปจนถึงเรื่องการบริหารพนักงานครับ กลายเป็นว่าต่อให้เป็นลูกค้าที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการทำโรงแรมมาเลย เราก็สามารถทำให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจเองได้
นี่คือยุคของโรงแรมเล็กรึเปล่า? ผมเชื่อว่า ถ้าเราทำให้มันแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครับ เมื่อก่อนถ้าคุณจะทำโรงแรม คนบอก เฮ่ย คุณต้องมีเงินระดับ 50 ล้าน 80 ล้าน เพราะอะไร ห้องคุณต้องทำต่ำๆ 50 ห้อง 80 ห้อง ไม่งั้นคุณไม่คุ้มกับการลงทุน แต่วันนี้มันเปลี่ยนไปแล้วครับ ที่บ้านนพวงศ์นี่ผมทำ 7 ห้องเองนะ Break-Even ผมอยู่ประมาณ 5 ปีกว่า นี่ก็ใกล้จะเบรคแล้ว ต่อไปมันไม่จำเป็นว่า คุณเป็นเจ้าของโรงแรมเล็ก คุณจะต้องไม่คุ้ม ทำไมเราจะสู้โรมแรมใหญ่ๆไม่ได้ ผมพยายามผลักดันเรื่องนี้ ว่าจริงๆโรงแรมเล็กเนี่ยมันก็มีคุณภาพได้นะ เดี๋ยวนี้ด้วยสื่อ ด้วย Social ด้วยอะไรหลายๆอย่างเนี่ย ด้วยอินเตอร์เน็ตด้วย Website ที่มันตอบสนองการท่องเที่ยวแบบ Individual Traveller เที่ยวเอง ดูแผนที่เอง จองห้องพักเอง มันง่ายขึ้น พอมันง่ายขึ้นตรงนี้กลายเป็นว่าโรงแรมเล็กๆคุณมีพื้นที่ยืนในสนาม คุณไม่ต้องไปพึ่งเอเยนต์หรือทัวร์ที่จะต้องมาซื้อห้องพักคุณที่ละ 100 ห้อง 200 ห้อง คุณก็ขายตาม Online ขายตรงกับลูกค้าเลยก็ได้แล้ว
Boutique Hotel ที่ดีในความหมายควรเป็นแบบไหน? ถ้าสังเกตดู เดี๋ยวนี้คนบอกว่าอะไรๆก็ Boutique แต่ปัญหาคือมัน Boutique ถึงแก่นตัวมันรึเปล่า? หรือคุณเป็น Boutique แค่เปลือกนอก หนึ่งคุณมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวรึเปล่า สองคุณสามารถมอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้ลูกค้าได้รึเปล่า สามคุณสามารถสร้างความจดจำที่พิเศษให้กับลูกค้าได้รึเปล่า ไอ้คำว่า Boutique เนี่ยมันต้องไปพร้อมๆกันทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ในโรงแรมนะครับ ในเรื่องของอาคารสถานที่ ห้องพัก บรรยากาศ คุณมีไหม? ซอฟท์แวร์เรื่องของการบริการที่เหนือระดับ ความ Exclusive ในทางการโรงแรมที่เรียกว่า Under Promise & Over Deliver ความหมายมันคือ การคาดหวังของลูกค้าตอนแรกอาจจะมาว่า “เออ โรงแรมเล็ก ก็น่าจะได้ประมาณนี้” แต่พอมาได้รับการบริการจริงๆ ต้องทำให้เค้า “เห้ย มันดีอย่างไม่น่าเชื่อ” อันนี้คือสิ่งที่ Boutique Hotel ควรจะมี หลายๆโรงแรมเดี๋ยวนี้ชอบเคลมว่าตัวเองเป็น Boutique Hotel เป็น Stylist Hotel สุดท้ายมันก็วัดกันที่ลูกค้านะ เพราะลูกค้าเค้าเห็นหมด บรรยากาศมันเป็นจริงไม่จริง เพราะฉะนั้นจะทำแล้วต้องทำมันลงไปลึกถึงแก่นมันจริงๆ ผมยกตัวอย่างเหมือน “ลอยละล่อง” ครับ ที่เคยถ่ายทำในรถไฟฟ้ามาหานะเธอ ลอยละล่องเนี่ย ทางเข้าเค้าทำได้แบบโหดมากๆนะ ทางเข้าคุณต้องผ่านวัด คุณต้องจอดรถในวัดนะ คุณต้องเดินทะลุทะลวง เข้าซอยอีก แต่สิ่งที่ลอยละล่องเค้ามอบให้กับคนมาพักก็คือความเป็น Authentic มันคือความเป็นไทยแบบวิถีความเป็นอยู่ไทยแท้ๆ บ้านทุกอย่างเป็นไม้หมด เปิดออกมา อยู่ริมท่าน้ำ มีเรือ ได้ยินเสียงน้ำ ลมเย็น เห็นไหมครับ เขาไม่ต้องแต่งหรูหราเลยก็ได้ แต่เขาเลือกขายความเป็น Identity ต้องดึงแก่นมันออกมาให้ได้จริงๆ แล้ว Service ก็ต้องไม่ทิ้งความ Exclusive บริการดี ห้องพักสะอาด นี่คือสิ่งที่ผมต้องบอกลูกค้าของสยามโฮเทลเมกเกอร์ทุกคนนะ เวลาเรามาคุยกันใน มันเหมือนต้องปรับความคิดก่อน ว่าอะไรคืออะไร ไม่ใช่ว่าเราต้องหรูเข้าว่า แต่เราไป Positioning ตัวเองผิดจุด เราต้องพุ่งเป้าเลยว่าอยากได้อะไร โรงแรมมีอยู่หลายมิติครับ มันมีทั้ง Boutique Hotel แบบที่เราคุยกันอยู่ หรือมี Budget Hotel แบบที่คุณเน้นใส่อะไรเข้าไปเอาใจตามกลุ่มลูกค้า คุณรู้ว่าลูกค้าจีนชอบซื้ออะไรมากินกันที่ห้อง เขาชอบมากๆนะถ้ารู้ว่าห้องพักมีไมโครเวฟ มีเตารีด อะไรครบ ครับต้องพุ่งเป้าให้ชัด ผมเห็นบ้านเรามีเกิดขึ้นมาเยอะ พอเราไม่ชัดแต่แรก แล้วมาจับเอาความ Boutique มายัดเยียด คนเข้าไปก็ไม่ได้รับรู้อะไรหรอก


ความน่าสนใจของ Boutique Hotel ที่มีผลต่อในเชิงอุตสหกรรมนี้คืออะไร? เรื่องหนึ่งของ Boutique Hotel ที่น่าสนใจ ก็คือ Boutique Hotel ขายในเชิงเรื่องของเอกลักษณ์ พอโรงแรมขายในเชิงเอกลักษณ์ เรื่องการแข่งขันเรื่องราคา มันจะน้อยลง เพราะมันเน้นเรื่องความแตกต่าง ยกตัวอย่าง สมมุติผมถามว่า คุณจะหาที่พักที่ไหนที่เป็นบ้านโคโลเนียล มีความเป็นอยู่แบบไทยจริงๆ และตั้งอยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นย่านประวัติศาสตร์ คุณจะหาได้ซักกี่ที่ ผมนับแห่งได้เลยไม่กี่ที่หรอก เพราะฉะนั้นถ้าเราดึงคอนเซปต์และจุดแข็งตามแต่ท้องที่นั้นๆออกมา จับมันแต่งตัวให้ดี จับจุดแข็งที่เรามีแล้วพัฒนาต่อให้มันสอดคล้องกับบริบท มันต้องบาลานซ์ การทำโรงแรมของเราลูกค้าต้องการอะไรในเชิงของการตลาด? ปกติเมื่อก่อนบ้านไทยไม่มีห้องน้ำในบ้าน อันนี้มีห้องน้ำในตัวทุกห้อง เพราะลูกค้าจ่าย 3 พันก็คงไม่อยากจะใส่นุ่งผ้าแล้ววิ่งออกไปอาบน้ำในห้องน้ำรวมหรอก แล้วถ้าบ้านไทยมันจะมีห้องน้ำในตัว มันจะออกมาเป็นหน้าตายังไง? มันจะออกมาดีรึเปล่า? บรรยากาศยังได้อยู่รึเปล่า? เนี่ย ตรงนี้ผมถึงบอกว่ามันจำเป็นต้องมีโจทย์หรือคอนเซปต์ คุณต้องรู้ว่าคุณจะทำอะไร ยิ่งทำ Boutique Hotel คุณต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอันดับหนึ่ง พอคุณไม่มีเรื่องนี้แล้วคุณจะทำการขายยาก คุณไม่มีเรื่องเล่า คุณไม่สามารถเล่าเรื่องตัวโปรดักต์ของคุณได้ แต่ถ้าคุณแข็งตรงนี้ ทุกอย่างมันจะง่ายไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการตลาดการทำประชาสัมพันธ์สื่อต่างๆ หลังจากทำเองแล้วตกผลึกกับมัน ผมเริ่มเห็นภาพนะ มันไม่จำเป็นต้องที่บ้านนพวงศ์ที่เดียวก็ได้ที่ใช้คอนเซปต์นี้ ถ้าผมบอกต่อให้ผู้ประกอบการที่มีวัตถุดิบน่าสนใจอยู่ ได้เอาไอเดียไปใช้ สุดท้ายสิ่งที่ได้มันไม่ใช่แค่ตัวเค้าได้ มันไปถึงสังคม บริบท เศรษฐกิจ มีการจ้างงานเกิดขึ้น มีร้านต่างๆเกิดขึ้น ของแบบนี้มันดีกับเศรษฐกิจในประเทศเราด้วยครับ เพราะว่าเรื่องการท่องเที่ยว มันเป็นรายได้อันดับหนึ่งของเราอยู่แล้ว ประเทศเราอยู่ได้ก็เพราะการท่องเที่ยว แล้วเราก็พยายามจะตื่นตัวกันเรื่องนี้มานานแล้วด้วย แต่มันผิดตรงที่ไม่มีใครไปช่วยจุดไฟ ไปจี้ให้มันถูกจุดซักที ผมคิดว่าตอนนี้มันต้องทำได้แล้ว ต่อไปโรงแรมใหญ่ๆอาจจะเริ่มตกใจก็ได้ว่าลูกค้าทำไมเริ่มกระจายออกไปในโฮมสเตย์ดีๆแบบมีมาตรฐานตามต่างจังหวัดต่างๆ ตอบอีเมล์ได้ มีระบบจองไม่ต่างจากโรงแรมใหญ่ๆ ทำไมโฮมสเตย์บ้านเราทำอย่างนั้นไม่ได้ล่ะ ทำไมเวลานึกถึงโฮมสเตย์บ้านเรา ต้องเป็นภาพชาวบ้านทำกันเองน่ารักๆ ไม่มีฟอร์มไม่มีระบบ ไม่มีการจัดการที่เป็นมืออาชีพ ทำไมเราไม่ทำกันนะครับ มันเป็นภาพที่ผมเองก็อยากเห็นมากๆ พอลูกค้าแฮปปี้ เค้าก็จะได้ลูกค้ามากขึ้น เศรษฐกิจก็ดีขึ้น มันเป็นการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวประเทศของเราไปด้วยกัน
เพราะอะไรประเทศไทยเราถึงไม่ค่อยมีโรงแรมแบบนี้ออกมาให้เห็น? คนไทยเราเองด้วยนี่ล่ะครับ กลับไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เรามีอยู่มันมีทั้งมูลค่าและคุณค่า ผมขอยกตัวอย่างบ้านไทยของบ้านนพวงศ์อีกครั้ง ภาพบ้านไทยของใครหลายๆคนคือ มันน่ากลัว ต้องทุบทิ้ง ต้องสร้างเป็นตึก มันไม่เท่ ไม่เก๋ ไม่เดิ้น คุณลองมองกลับกัน เวลาคุณไปเที่ยวญี่ปุ่น จะไปโตเกียวไปอะไรก็ตาม พอวันนึงคุณไปแถวภูเขาไฟฟูจิ ทำไมคุณต้องยอมจ่ายเงินให้ที่พักที่เรียกว่าเรียวคังด้วย พวกห้องแบบมีเสื่อญี่ปุ่นเนี่ย ผมเห็นเลยนะ ไม่ว่าจะไปเอง หรือไปกับทริปใดๆก็ตาม มันต้องมีคืนหนึ่งล่ะที่นอนแบบนี้ แข็งก็แข็ง นุ่มก็ไม่นุ่ม คำตอบคือเพราะมันคือเชิงวัฒนธรรมชัดๆเลยครับ แล้วคุณเชื่อไหมว่าห้องพักแบบนี้ เขากล้าขายแพงกว่าห้องพักพวกโรงแรมปกติอีกนะ ญี่ปุ่นเขารู้เพราะเขาขายกันที่วัฒนธรรมไง เหมือนกินซูชิทุกวันนี้กินกันทั่วโล อืม ทำไมเรามองไม่เห็นจุดนี้ อันนี้น่าคิดนะครับ ทำไมคนไทยถึงมองไม่เห็นว่าบ้านไทยเราๆนี่ล่ะ ไม่จำเป็นจะต้องบ้านโคโลเนียลก็ได้ เอาอย่างบ้านทางภาคเหนือ บ้านเพดานสูง มีกาแล หรือทางใต้ที่เป็นบ้านชาวประมงต่างๆ ทำไมเราชอบมองกันว่า เห้ย ไม่เวิร์คมั้ง อย่าไปขายแพงเลย ขายไม่ได้หรอก ที่น่าเสียดายที่สุดก็ตรงที่บ้านเราเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมเยอะจะตายไป ทำไมไม่ทำให้มันออกมาดี จับแต่งตัวใหม่ มีบริการที่ดี ตั้งใจทำ กลายเป็นออกมาเดี๋ยวนี้ จะบอกว่าตัวเองหรู ต้องใส่ความหลุยส์ของตะวันตกเข้าไป ต้องใส่พรม ต้องใส่ของแบรนด์เนมเข้าไป เราต้องเชื่อกันก่อนว่า สิ่งที่เรามีอยู่มันมีคุณค่า อยู่ที่ว่าเราจะใช้มันได้รึเปล่า
ฝากอะไรสำหรับคนที่กำลังคิดจะเริ่มธุรกิจนี้? ผมว่าอย่างแรกที่สำคัญเลยคือ คุณต้องมี Passion ก่อน คุณทำโรงแรม คุณไม่มี Passion ไม่ได้ โรงแรมเป็นหนึ่งในงานบริการที่ยากครับ ยากกว่าร้านอาหารอีกนะ ร้านอาหารคุณรับมือกับแขกสามชั่วโมงหรือสี่ชั่วโมงเต็มที่ มานั่งทานข้าวกัน โรงแรมคือเขาอยู่กับเรา 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นถ้าไม่มี Passion คุณยากแน่ๆ ส่วนใหญ่ลูกค้าที่ผมเจอๆมาเวลาให้คำปรึกษา เขาจะไม่ได้คิดอะไรแบบนี้ เขาจะมองในแง่การมีโรงแรมคือการลงทุนที่มี Passive Income เก็บไว้กินได้ชั่วลูกชั่วหลาน กับอีกอย่างคือการมีโรงแรมเป็นของตัวเองสมัยนี้มันคือ Image ที่ดีนะ ลองสังเกตดูตอนนี้มันจะหมดยุคที่เพื่อนรวมกันเปิดร้านกาแฟละ มันจะมียุคนึงที่แบบ ร้านกาแฟรวมกันเปิดกับเพื่อน แต่ปัจจุบันนี้มันคือ ร้านกาแฟ+โฮสเทล เพราะว่าเวลาคุณเช่าตึก คุณไม่ได้เช่าแค่ห้องข้างล่างอย่างเดียว คุณต้องเช่าทั้งตึก สมัยก่อนร้านกาแฟก็อาจจะเอาชั้นสองเป็นบาร์ ชั้นสามเก็บของ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ละ ชั้นสองเป็นห้อง Common Room ชั้นสามเป็นสี่ห้องนอน ทำเป็นโฮสเทล เนี่ยโมเดลธุรกิจมันเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่ก็จะประมาณนี้ครับ ถ้ามาคุยกับผม ผมก็จะบอกทุกครั้งนะว่า ยังไงก็แล้วแต่ คุณต้องมี Passion ในการทำโรงแรม เมื่อไรที่เป็นงานบริการเราต้องให้ในสิ่งที่มันต้องเกินความคาดหวังของลูกค้าให้ได้ เราต้องให้ความ Exclusive ในระดับที่โรงแรมใหญ่มันทำไม่ได้ทั่วถึงเท่าเรา

ก้าวต่อไปของ Siam Hotel Maker? ผมมองไว้ว่าต่อไปทุกจังหวัดจะต้องมี Boutique Hotel ที่มีคุณภาพอย่างน้อยหนึ่งแห่ง ผมมองแบบนั้นเลยนะ คุณต้องมีหนึ่งแห่งที่เป็นมาตรฐาน แล้วต้อง Boutique กันจริงๆไม่ใช่แค่การประดับประดาตกแต่ง Boutique ของผมต้องทำให้ชัด ถ้าจะให้เรื่อง Culture ก็ต้อง Culture สุด จะให้เรื่องของ Green หรือเรื่องของ Environmental ก็ต้องเอาให้สุดๆ หรือจะเป็นแบบ Budget คุณก็ต้องไปให้ถึงกึ๋นเลย แล้วต่อไปพอเกิดแบบนี้ การขับเคลื่อนมันจะกลายเป็นในขนาดมหภาคเป็นทั้งหมดทั้งประเทศ ผมก็อยากให้ต่อไป สยามโฮเทลเมกเกอร์ เป็นจุดเริ่มต้น คือมันต้องมีคนนึงที่เป็นคนเริ่มพูดตรงนี้ เริ่มให้แนวความคิดอย่างนี้ แล้วเราก็มาเริ่มสร้างให้มันเกิดขึ้นจริง เป็นทีละโปรเจคต์แต่ละโปรเจคต์กันไป โดยเอาที่บ้านนพวงศ์ที่ทำได้จริงแล้วเนี่ยเป็นโมเดล เป็นตัวตั้ง แล้วคุณก็ไปพัฒนาต่อ ผมจะไม่มานั่งกั๊กความรู้อะไรกับคุณทั้งนั้น ถ้าคุณทำได้คุณทำไปเลย เพราะว่าถ้าเทียบในอุตสาหกรรมโรงแรมทั้งหมด อย่างบ้านนพวงศ์เนี่ย มันก็เป็นเพียงจุดเล็กๆครับ คุณเอาตัวจริงคุณต้องไปดู โอเรียลเต็ล แมริอ๊อต เค้าโหดกันกว่านี้อีก แต่สาระสำคัญของผมคือ แค่ดึงเอาบางส่วนที่มีใจความสำคัญ ที่คุณสามารถเอามาปรับใช้ได้ แล้วก็มาถ่ายทอดให้คุณ เอาไปสร้างธุรกิจของคุณเอง ส่วนถ้าเป็นเรื่องโรงแรมของเครือเราเอง ผมจะทำออกมาเป็นลักษณะโรงแรมของเครือสยามโฮเทลเมกเกอร์ครับ อาจจะไม่ได้ใช้ชื่อและธีมแบบบ้านนพวงศ์อีกเสมอไป เหมือนที่ทำไมคุยกันครั้งนี้ผมอธิบายเรื่อง Budget Hotel เยอะ ก็เพราะผมกำลังศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะทำให้มันออกมาเป็น แบบ Original Budget จริงๆ ก็ต้องลองไปทำในแนวอื่นๆดูด้วย ก็จะเป็นโรงแรมในกลุ่มสยามโฮเทลเมกเกอร์เราเอง ที่ทำและพัฒนาออกมาเป็นโรงแรมต้นแบบของเราเอง ให้คนอื่นได้เห็นต่อๆไปครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.dooddot.com Photographer: Kongkarn Sujirasinghakul Baannoppawong Website: www.baannoppawong.com Facebook: www.facebook.com/Baannoppawong Tel: 02-224-1047