TerraBKK Research ได้รวบรวม 7 สุดยอดบริษัท "ค้าปลีก (Commerce)" ของไทยที่สามารถสร้างรายได้ได้สูงที่สุด และมีการเปิดเผยข้อมูลงบการเงินผ่านทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากมีการดำเนินงานผ่านมาแล้ว 9 เดือนของปี 2558 โดยรวบรวมเฉพาะบริษัทที่อยู่ใน SET ไม่ได้หยิบบริษัทใน MAI มาพูดถึง เพื่อค้นหาศักยภาพของกิจการที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตที่ดีที่สุดผ่านการวิเคราะห์งบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินสำคัญต่างๆ บริษัทค่าปลีกบริษัทใดบ้างที่น่าสนใจ ติดตามได้ดังต่อไปนี้

จากการดูภาพรวมของ กลุ่มค้าปลีก TerraBKK Research พบว่า รายได้ของกลุ่มค้าปลีกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว สำหรับบริษัทที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตและสามารถสร้างผลประกอบการได้อย่างโดดเด่น ในรอบ 9 เดือนนี้ ได้แก่ MAKRO : SIAM MAKRO มีทั้งการเจริญเติบโตด้านรายได้ กำไร และความสามารถในการสร้างผลตอบแทน แต่อย่างไรก็ตาม TerraBKK Research ยังให้ความสนใจในบริษัท CP ALL ถึงแม้จะมีภาระดอกเบี้ยจากการเข้าซื้อ MAKRO ที่มีค่อนข้างมากแต่เรามองว่าถ้าสามารถลดภาระดอกเบี้ยตรงนี้ลงได้จะช่วยผลักดันกำไร ผลตอบแทน และกำไรต่อหุ้นของบริษัทให้กลับมาดีได้อีกครั้ง ส่วนบริษัทที่เริ่มอิ่มตัวคือ BIG C เนื่องจากยอดขายที่ไม่โต แต่ในด้านผลกำไรก็ยังดีอยู่

รายได้ (Revenue) กำไรสุทธิ (Net Profit) ค้าปลีก (Commerce) (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

รายได้ (Revenue) ของกลุ่มบริษัทค้าปลีกในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มของการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บริษัทที่มีรายได้มากที่สุด คือ บริษัท CP ALL มีรายได้ 299,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า +9.80% เพิ่มสูงสุดเป็นอันดับ 3 จากฐานที่ค่อนข้างใหญ่ บริษัทที่มีการเพิ่มขึ้นของรายได้มากที่สุดเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ SIAM MAKRO (+10.58%) และ HOME PRODUCT CENTER (+10.05%) แต่ที่น่าสนใจคือ BIG C ปีนี้รายได้ผ่านมา 9 เดือน กลับไม่โตจากปีก่อนหน้า ติดลบไปแล้ว -1.15% เมื่อมาดูกำไรสุทธิ (Net Profit) เพื่อดูว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นจะส่งผลให้กำไรสุทธิโตด้วยหรือไม่ จากการสำรวจพบว่า ทุกบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าทั้งหมด บริษัทที่มีกำไรสุทธิเพิ่มมากที่สุดสามารถเรียง 3 อันดับได้ดังต่อไปนี้ SIAM GLOBAL HOUSE (+30.52%), CP ALL (+28.38%), SAHA PATHANAPIBUL (+24.21%) ถึงแม้ BIG C จะมีรายได้ลดลงแต่กำไรก็ยังสามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ค้าปลีก  (Commerce) (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) บริษัทที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงที่สุดคือ HOME PRODUCT CENTER (27.71%), ROBINSON (24.4%), CP ALL (21.74%) และ BIG C (20.28%) เมื่อเราดูแนวโน้มของกำไรขั้นต้นแล้วพบว่าในช่วงที่ผ่านมาบริษัท SIAM GLOBAL HOUSE และ SIAM MAKRO มีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นในส่วนของอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) พบว่า CP ALL และ SIAM MAKRO มีกำไรสุทธิต่ำที่สุดไม่ถึง 4% แต่ทั้ง 2 บริษัทต่างก็มีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้น บริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิสูงที่สุดในรอบ 5 ปี ได้แก่ BIG C (4.8%), SAHA PATHANAPIBUL (4.35%) และ MAKRO (3.43%)

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset) อัตราผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้น (Return on Equity) ค้าปลีก (Commerce) (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset) จะเป็นตัวที่แสดงถึงประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรภายในองค์กรเพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่กิจการว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยขนาดไหน บริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์มากที่สุด คือ SIAM MAKRO มี ROA อยู่ที่ 17.74% บริษัทที่มีแนวโน้มของประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพ์ในการสร้างผลตอบแทนลดลง ได้แก่ HOME PRODUCT CENTER และ ROBINSON เป็นการลดลงถึง 3 ปีติดต่อกัน อัตราผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้น (Return on Equity) เมื่อดูอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น พบว่า อุตสาหกรรมนี้มีผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นที่ค่อนข้างสูง โดย CPALL สูงถึง 39.83% และ SIAM MAKRO 45.08% ส่วน Home Product Center กลับมีแนวโน้มที่ลดลงแต่มี ROE อยู่เป็นอันดับ 3 ที่ระดับ 21.11% สำหรับ ​BIG C มี ROE มากกว่า 17% แต่ลดลงจากปีก่อนหน้า บริษัทที่มี ROE น้อยที่สุดคือ SIAM GLOBAL HOUSE อยู่ที่ 6.03% เท่านั้น

อัตรากำไรต่อหุ้น (Earning per Share) ค้าปลีก (Commerce) (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตรากำไรต่อหุ้น (Earning per Share) การเติบโตของกำไรต่อหุ้นจะเป็นตัวบอกถึงความสามารถในการทำกำไรของ บริษัท ว่าบริษัทสามารถสร้างกำไรส่วนเพิ่มให้แก่นักลงทุนต่อหนึ่งหน่วยลงทุนได้ดี มากน้อยเพียงใดและเมื่อเราดูแนวโน้มอัตรากำไรต่อหุ้นประกอบจะทำให้เราสามารถ เลือกบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตได้ดีมากขึ้น บริษัทในกลุ่มค้าปลีกที่มีการเติบโตของอัตรากำไรต่อหุ้นมากที่สุด คือ CP ALL (+28.24%), SAHA PATHANAPIBUL (+23.08%), SIAM GLOBAL HOUSE (+17.65%) และ SIAM MAKRO (+15.49%) และเมื่อดูแนวโน้มของกำไรต่อหุ้น พบว่า BIG C เป็นบริษัทเดียวที่มีแนวโน้มของกำไรต่อหุ้นเพิ่มสูงขึ้น

อัตราหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity Ratio)  ค้าปลีก (Commerce) (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตราหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity Ratio) สัดส่วนของหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในระดับปกติไม่ควรมีหนี้สินต่อส่วนของทุนมากกว่า 2 เท่าและถ้าจะให้ดีควรจะน้อยกว่า 1 เท่า บริษัทที่มีหนี้สินต่อทุนมากกว่า 2 เท่า ได้แก่ SIAM MAKRO (2.33) และ CP ALL (8.24) สำหรับ CPALL ระดับหนี้สินเมื่อเทียบกับส่วนของทุนเริ่มลดลงและในอนาคตคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

อัตรากำไรสุทธิ จะแสดงถึง ความสามารถในการทำกำไรสุทธิของบริษัท เป็นการวัดความสามารถของบริษัทในการควบคุมรายจ่ายทุกประการทั้งดอกเบี้ยและภาษีเมื่อเทียบกับยอดขาย หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูงแสดงว่าบริษัทสามารถเปลี่ยนยอดขายให้เป็นกำไรสุทธิได้มาก

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) แสดงถึง สัดส่วนของเงินทุนจากการกู้ยืมต่อเงินทุนจากเจ้าของธุรกิจถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่าบริษัทมีการกู้ยืมเงินในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกับอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์

อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset:ROA) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมของบริษัท เป็นการวัดความสามารถในการนำสินทรัพย์ทั้งหมดของธุรกิจใช่ในการสร้างยอดขายและควบคุมค่าใช่จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดสุทธิจากภาษีแต่ก่อนต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยจ่ายสุทธิจากภาษีที่ประหยัดได้) อัตราส่วนที่สูงแสดงว่าบริษัทมีความสามารถสูงในการนำสินทรัพย์ไปสร้างกำไรจากการดำเนินงาน

อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรให้แก่เงินทุนของผู้ถือหุ้น หากค่าที่ได้จากการคำนวณสูงแสดงว่าผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับเงินปันผลและผลตอบแทนที่สูง

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ แหล่งข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก