15 ความกลัวในตลาดหุ้น
ตลาดหุ้น ศูนย์รวมมวลชนที่เข้ามาเพื่อหวังผลกำไรจากการลงทุนในตลาด ทำให้ตลาดหุ้นเป็นศูนย์รวมของความโลภที่มีเสน่ห์ที่สุดแห่งหนึ่งที่หาจะหาตลาดในรูปแบบอื่นมาเทียบเคียงได้ จึงทำให้ตลาดแห่งนี้เต็มไปด้วยอารมณ์ ความคาดหวัง เพื่อที่จะหาหนทางเพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่ตนเองได้สูงที่สุด
กลางเดือนธันวาคม ปี 2558 นี้เป็นปีที่ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงตลาดขาลง (Market Correction) จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ TerraBKK จะได้นำเสนออีกมุมหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับความรู้สึกทางจิตทยาของความโลภ (Greed) นั่นก็คือ "ความกลัว (Fear)" ความรู้สึกกลัวเป็นสิ่งที่หลายๆคนมักจะปิดกั้นไม่อยากรับรู้ถึงความรู้สึกเหล่านั้น เนื่องจากจิตใต้สำนึกของคนเราจะต่อต้านความกลัว เราจะไม่พยายามที่จะเข้าใจว่าขณะนั้นกำลังเกิดอะไรขึ้น จึงแสดงออกผ่านพฤติกรรมให้ได้เห็นอยู่บ่อยๆ เช่น การพยายามปิดกั้น ไม่ดูราคาหุ้นเวลาพอร์ตเราขาดทุนหรือหุ้นตก ช่วง เวลานี้จึงเหมาะยิ่งนักที่เราจะได้ทบทวนอารมณ์ความรู้สึกของเราผ่านจิตวิทยา ที่เรียกว่า "ความกลัว" TerraBKK ได้รวบรวม "ความกลัว" ไว้ทั้งหมด 15 ประเด็นด้วยกัน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. กลัวตกรถ คำว่า “ตกรถ” เป็นคำเฉพาะที่เรามักจะใช้เรียกกันในเวลาที่หุ้นขึ้นแต่หุ้นตัวนั้นเราไม่ได้ซื้อเอาไว้ อาการตกรถทำให้เราเกิดความรู้สึกเสียดายกลัวจะพลาดโอกาสดี ๆ โดยภาพรวมของหุ้นตัวนั้นเหมือนจะดูดี ทั้งราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นประมาณการซื้อขายที่ปรับตัวสูงขึ้นตามกัน จึงตัดสินใจซื้อตามอารมณ์โดยไม่ได้วางแผนเอาไว้
2. กลัวขายหมู ไม่ได้หมายถึงจะให้ไปขายเนื้อหมู แต่เป็นคำในตลาดที่ใช้กัน “ขายหมู” เป็นอาการของคนที่ขายหุ้นไปแล้ว ราคาหุ้นกลับปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจนราคาสูงขึ้นไปจนไม่กล้าซื้อกลับ ในทางกลับกันคนที่ “กลัวขายหมู” จะไม่กล้าขายเพราะอารมณ์การตัดสินใจของเราตอนนั้นจะยื้อ และไม่กล้าตัดสินใจกลัวหุ้นที่เราขายไปจะวิ่งขึ้นไปต่อ แต่ในความเป็นจริงแล้วหุ้นตัวนั้นควรจะขายไปตั้งแต่แรก สุดท้ายคนที่กลัวขายหมู กำไรก็จะค่อย ๆ ร่อยหรอลงเหลือเพียงน้อยนิดเท่านั้นบางคนก็กลายเป็นขาดทุน
3. กลัวขาดทุนกำไร เป็นอาการของคนที่กำไรในช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาหุ้นไม่สามารถวิ่งขึ้นได้ตลอดทุกวันต้องปรับตัวลงมาเพื่อดูดซับแรงขาย ทำให้นักลงทุนที่ “กลัวขาดทุนกำไร” เห็นราคาที่ปรับตัวลงทำการขายออกมาก่อนเพื่อล็อคกำไรเอาไว้ เข้าแนวคิดที่ว่า “ขายหมูดีกว่าติดดอย” ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้มีวิธีการตายตัวขึ้นอยู่กับแผนกลยุทธ์ของตนเอง
4. กลัวหุ้นราคาสูงๆ หลายคนมักจะชอบหุ้นถูก ยิ่งลงมาถูกเท่าไรยิ่งน่าซื้อ ทำให้กลัวหุ้นที่มีราคาสูงๆ ยิ่งมีราคาสูงยิ่งไม่อยากซื้อเพราะคิดว่าราคาแพงเกินไปแล้ว กลัวหุ้นจะลง กลัวหุ้นติดดอย แบบนี้เป็นต้น แต่เรามักจะกลับพบว่าหุ้นที่สามารถวิ่งได้ปีหนึ่งหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ต่างเป็นหุ้นราคาสูงแทบทั้งสิ้น นั่นก็แสดงว่า ถ้าเรากลัวหุ้นราคาสูงจะทำให้ไม่มีทางได้ซื้อหุ้นที่วิ่งหลายร้อยเปอร์เซ็นต์นั่นเอง
5. เจ็บจนกลัว เป็นลักษณะของการเทรดที่ผิดพลาดบ่อย ๆ จนยอมแพ้หรือสภาพจิตใจบอบช้ำเกินที่จะกู้ขึ้นมาได้ สภาวะนี้มักเกิดขึ้นในช่วงตลาดขาลง เรามักจะพบว่าในหลายๆครั้งที่เราล้มเลิกหลังจากนั้นมันเหมือนเป็นตัวชี้วัดว่าตลาดขาขึ้นครั้งใหม่มันกำลังจะกลับมา
6. กลัวข่าวลือ ถ้าเราอยู่ในตลาดมาหลายปีเราจะพบว่าหลายๆครั้งที่เราเห็นอาการตกใจ (Panic) จากข่าวลือที่ไร้สาเหตุ แล้วตลาดมักจะตอบรับกับข่าวเหล่านั้นด้วยอาการตกใจ (Panic) สุดท้ายข่าวลือก็ได้ถูกพิสูจน์ว่าไม่เป็นความจริงจึงทำให้ราคาหุ้นกลับมาที่ราคาเดิม สุดท้ายแล้วสภาวะจิตใจที่ได้รับผลตอบรับกลับมา คือ “อาการขายหมู เสียดาย เจ็บปวดทางด้านจิตใจ จะขายไปทำไม?” ดังนั้น อย่าหลงเชื่อข่าวลือที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ไม่ว่าจะผ่านทาง Line, Facebook เพื่อนๆ หรือใครๆก็ตาม ในทุกๆปีจะมีคนใช้ข่าวลือเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์จากพวกแมงเหล่าเม่าอย่างเราๆ
7. กลัวตลาด หลายคนพยายามคาดการณ์แนวโน้มตลาด คาดการณ์ถูกบ้าง ผิดบ้าง ทั้ง ๆ ที่ตลาดเคลื่อนไหวในลักษณะพลวัตร (Dynamic) ทำให้การคาดการณ์ตลาดทำได้ยาก เราจึงมักจะเห็นการทำนายต่าง ๆ นา ๆ มากมายจนทำให้เรารู้สึกกลัวตลาด จนบ้างครั้งเราพลาดโอกาสดี ๆ ที่ตลาดกำลังจะมอบให้เรา
8. กลัวจะกำไรมากไป อันนี้เป็นเรื่องแปลกแต่จริง หลายคนมีเป้าหมายกำไร ถึงกำไรเท่านั้นเท่านี้ขอเก็บกำไรไว้ก่อน แต่ถ้าหากขาดทุนกลับให้ขาดทุนไปเรื่อย ๆ ไม่มีการบริหารความเสี่ยงใด ๆ เลย แล้วแบบนี้เมื่อไหร่จะรวย
9. กลัว Bid-Offer หลายๆคนที่เล่น Daytrade โดยเฉพาะมือสมัครเล่นมักจะติดกับดักของการดู Bid-Offer เช่น การตั้ง Bid แบบนี้ ขายดีกว่า ตั้ง Offer แบบนี้ยังไงราคาก็ไม่วิ่ง หรือในบางกรณีดึง Bid ออกให้โล่ง ๆ เอาไว้ในเวลาที่เกิด Panic แบบนี้เป็นต้น บางครั้งการดู Bid-Offer ทำให้เราหลงไหลไปกับมันส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินใจ กระทบไปยังระบบหรือแผนการเราผิดเพี้ยนไป จิตใจเรายึดติดกับ Bid-Offer มากเกินไปส่งผลให้เราอาจจะพลาดโอกาสดี ๆ ในการทำกำไรในที่สุด
10. กลัวข่าว ในโลกแห่งยุคของข้อมูลข่าวสาร เราสามารถเสพข่าวผ่านทางโทรศัพท์มือถือ Line Facebook ไม่ใช่เพียงหนังสือพิมเพียงอย่างเดียวเหมือนอย่างในอดีต บางครั้งข่าวสารที่เข้ามาตลอดเวลาส่งผลต่อการตัดสินใจในการทำการซื้อขายในแต่ละครั้ง ข่าวสารบางเรื่องอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกันแม้แต่น้อย แต่ก็สามารถนำมาผูกโยงกันได้ ทำให้เราเกิดความกลัว ดังนั้นเราจึงควรที่จะเลือกรับข่าวสารแล้วนำมาวิเคราะห์ก่อนทำการตัดสินใจ
11. กลัวมาร์ กลัวบทวิเคราะห์ สำหรับมือใหม่ที่ไม่สามารถเลือกซื้อหุ้นหรือวิเคราะห์หุ้นเองได้ สิ่งแรกที่พอจะช่วยบุคคลเหล่านี้ได้ คือ มาร์เก็ตติ้งหรือไม่ก็บทวิเคราะห์รายวันของทางบริษัทตัวกลางซื้อขายหลักทรัพย์ แนะนำให้ ซื้อ หรือ ขาย คำชี้แนะเหล่านี้อาจจะทำให้เราไขว้เขวได้ เพราะหลายครั้งที่เรามักจะได้ยินคนพูดว่าซื้อตามมาร์ ซื้อตามบทวิเคราะห์ แล้วติดดอยก็เห็นอยู่ไม่น้อยเช่นกัน แต่เราจะโทษใครไปไม่ได้นอกจากตัวเองเพราะเราเป็นคนตัดสินใจไม่ได้มีคนอื่นช่วยตัดสินใจ
12. กลัวกราฟ เหล่านัก Technical หลายคนที่ใช้กราฟทางเทคนิคเป็นเครื่องมือในการช่วยตัดสินใจ บางครั้งเราอาจจะเห็นตลาดที่ตกลงมาเยอะๆหลายร้อยจุด ทำให้บางครั้งเราก็ไม่กล้าที่จะเข้าซื้อในจุดที่เราได้เปรียบ เนื่องจากความกลัวส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของเรา อารมณ์ดังกล่าวจะไปกระทบทำให้การตัดสินใจของเรานั้นแย่ลง
13. กลัวจ้าว เป็นลักษณะของความกลัวอีกรูปแบบหนึ่ง เคยได้คำเหล่านี้หรือไม่ “หุ้นตัวนี้จ้าวดุ” “หุ้นตัวนี้ถ้าเจ้าทุบนะ 5 ถึง 10 ช่องสบายๆเลยนะ” แบบนี้เป็นต้น ทำให้บางครั้งเราก็พลาดโอกาสดีๆของเราไปที่จะเลือกหุ้นที่มีโอกาสที่จะทำราคาได้เพิ่มสูงขึ้น
14. กลัววิกฤติ (Crisis) คนเรามักเกิดความกลัวในช่วงเวลาที่อะไรเริ่มไม่แน่นอนซึ่งเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ (ตรงนี้เป็นจุดอ่อน) ทำให้บางครั้งกลัวจนทำอะไรไม่ถูก และช่วงเวลาวิกฤติหลาย ๆ คนมักจะตัดสินใจอะไรที่ผิดพลาด เช่น ขายที่จุดต่ำสุด บน ๆ ไม่ขายพอขาดทุนหนักมาก ๆ แล้วจะขาย เป็นต้น ซึ่งก็แปลกเช่นกัน
15. กลัวขาดทุน เป็นปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาที่แก้ได้ยาก ใคร ๆ ก็ไม่อยากขาดทุน ไม่อยากให้เกิดการสูญเสีย เมื่อเกิดการสูญเสียหลายคนจะพยายามยื้อและปลอบใจตัวเองว่า เดี๋ยวก็เด้ง ขออีกนิด ลงไม่มีวอลุ่มไม่ลงหรอก เป็นต้น สุดท้ายปัญหาต่าง ๆ ก็ลุกลามบานปลายเกินที่จะแก้ไข และแล้วจบด้วยการไม่รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่ตนเองทำมา
ความกลัวที่กล่าวมาทั้งหมด 15 ตัวอย่างข้างต้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “จิตวิทยา (Psychology)” เนื่องจากตลาดหุ้นเป็นตลาดที่เล่นกับความ “โลภ” และความ “กลัว” วิธีที่จะสามารถหลุดพ้นจากปัญหาต่างๆเหล่านี้ไปได้ คือ การมีแผนการในทุกการกระทำของเราไม่ตกเป็นเหยื่อของอารมณ์ และเคลื่อนไหวไปตามโอกาสที่ตลาดมอบให้เรา ไม่พยายามคาดการณ์เหตุต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์และการตัดสินใจในการเทรดของเรา
บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก