TerraBKK Research อัพเดทผลประกอบการกลุ่ม "ประกัน (Insurance)" หลังจากได้ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส 3 ออกมาแล้ว โดยได้รวบรวมทั้งหมด 16 บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมประกัน โดยทาง TerraBKK Research ได้ทำการอัพเดทผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ไตรมาส 1-3/2558 หลังจากมีการดำเนินงานผ่านมาแล้ว 9 เดือน โดยรวบรวมเฉพาะบริษัทที่อยู่ใน SET ไม่ได้หยิบยกบริษัทใน MAI มาพูดถึงผ่านการวิเคราะห์งบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินสำคัญต่างๆ เพื่อค้นหาศักยภาพของกิจการที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตที่ดีที่สุดบริษัทค้าปลีกบริษัทใดบ้างที่น่าสนใจ ติดตามได้ดังต่อไปนี้

ประกัน (Insurance) (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

จากการสำรวจบริษัทที่อยู่ในกลุ่ม “ประกัน (Insurance)” เราพบว่า บริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตและมีความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างดีคือ บริษัท THREL : ไทยรีประกันชีวิต ส่วนบริษัทที่เติบโตดีเช่นกันแต่ความสามารถในการทำกำไรค่อนข้างคงที่ SMK : สินมั่นคงประกันภัย และ MTI : เมืองไทยประกันภัย

ประกัน (Insurance) (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

รายได้ (Revenue) เมื่อเราดูรายได้ของกลุ่มประกันชีวิตเราพบว่า บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต ยังสามารถทำยอดรายได้ ได้สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มแต่มีรายได้ที่ลดลงจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก -23.24% ส่วนบริษัทที่สามารถสร้างรายได้ได้เป็นอันดับที่สองคือ กรุงเทพประกันภัย ด้วยยอดรายได้เกือบ 9,500 ล้านบาท และเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้ว 4.27% ถ้าหากดูเรื่องการเติบโตของยอดรายได้เราจะพบว่า บริษัทที่มีรายได้เติบโตสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อินทรประกันภัย(+31.57%) ไทยรีประกันชีวิต (+16.5%) เมืองไทยประกันภัย (+15.28%) รายได้ที่เติบโตเป็นการบอกว่าบริษัทยังสามารถเติบโตหรือไม่อิ่มตัวนั่นเอง และเมื่อดูกับกำไรสุทธิ (Net Profit) ประกอบ จะพบว่า กำไรสุทธิของไทยรีประกันชีวิต (+12.11%) และเมืองไทยประกันภัย (+8.98%) ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นล้อกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น สำหรับอีกบริษัทหนึ่งที่มีแนวโน้มของกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่องคือ บริษัททิพยประกันภัย (+10.55%)

ประกัน (Insurance) (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) สำหรับอัตรากำไรสุทธิปีนี้เป็นปีที่บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ มีอัตรากำไรสุทธิสูงที่สุดในกลุ่มจากปีที่ผ่านมากำไรติดลบ (ขาดทุน) สำหรับบริษัทที่สามารถสร้างอัตรากำไรสุทธิได้อยู่ในระดับสูงและค่อนข้างจะมีเสถียรภาพ คือ บริษัท ทิพยประกันภัย กรุงเทพประกันภัย และบริษัทสามัคคีประกันภัย ด้วยอัตรากำไรสุทธิมากกว่า 15% ทุกบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทต้น ๆ ของกลุ่มนี้ที่ทำได้ แสดงให้เห็นถึง ความสามารถในการสร้างผลกำไรที่ค่อนข้างสูงตามมาด้วย

ประกัน (Insurance) (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset) จะเป็นตัวชี้วัดที่แสดงถึง ประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรภายในองค์กร เพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่กิจการว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยขนาดไหน บริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์มากที่สุด เรียงจากมากไปน้อย คือ ไทยรีประกันชีวิต, ไทยรับประกันภัยต่อ, สามัคคีประกันภัย และสินมั่นคงประกันภัย โดยทั้ง 3 เป็นบริษัทที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างสูงและมีระดับ ROA ค่อนข้างมั่นคงไม่ผันผวน อัตราผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้น (Return on Equity) บริษัทที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นได้มากที่สุด โดยบริษัท ไทยรีประกันชีวิต มี ROE โตจากปีที่แล้วและอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก ส่วน อินทรประกันภัย และไทยรับประกันภัยต่อ มี ROE สูงมากก็จริงแต่ไม่มีเสถียรภาพอาจจะต้องติดตามดูอีกซักระยะ ส่วน เมืองไทยประกันภัย สามัคคีประกันภัย สินมั่นคงประกันภัย และทิพยประกันภัย มี ROE ลดลงจากปีที่แล้วเพียงเล็กน้อยแต่ยังมี ROE ที่สูงพอสมควรที่ระดับมากกว่า 15%

ประกัน (Insurance) (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

กำไรต่อหุ้น (Earning per Share) การเติบโตของกำไรต่อหุ้นจะเป็นตัวบอกถึงความสามารถในการทำกำไรของ บริษัท ว่าบริษัทสามารถสร้างกำไรส่วนเพิ่มให้แก่นักลงทุนต่อหนึ่งหน่วยลงทุนได้ดี มากน้อยขนาดไหนและเมื่อเราดูแนวโน้มอัตรากำไรต่อหุ้นประกอบทำให้เราสามารถ เลือกบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตได้ดีมากขึ้น บริษัทที่มีแนวโน้มของกำไรต่อหุ้นเพิ่มสูงขึ้นและมีค่าเป็นบวก ได้แก่ ไทยรีประกันชีวิต (+11.63%) ทิพยประกันภัย (+10.38%) เมืองไทยประกันภัย (+9.03%) นำสินประกันภัย (+7.96%) สามัคคีประกันภัย (+4.20%) และสินมั่นคงประกันภัย (+1.87%)

ประกัน (Insurance) (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

หนี้สินต่อทุน (Debt to Equity) สัดส่วนของหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในระดับปกติไม่ควรมีหนี้สินต่อส่วนของทุนมากกว่า 2 เท่าและถ้าจะให้ดีควรจะน้อยกว่า 1 เท่า จากการสำรวจพบว่า บริษัที่มีหนี้สินต่อทุนมากกว่า 2 เท่า ได้แก่ สินมั่นคงประกันภัย, เมืองไทยประกันภัย, ประกันภัยไทยวิวัฒน์, ไทยประกันภัย, ไทยเศรษฐกิจประกันภัย, อินทรประกันภัย, กรุงเทพประกันชีวิตและทิพยประกันภัย อัตราหนี้สินที่ค่อนข้างสูงนี้จะไปกระทบกำไรส่วนของความสามารถในการชำระหนี้ที่ต่ำลงและส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น

อัตรากำไรสุทธิ จะแสดงถึง ความสามารถในการทำกำไรสุทธิของบริษัท เป็นการวัดความสามารถของบริษัทในการควบคุมรายจ่ายทุกประการทั้งดอกเบี้ยและภาษีเมื่อเทียบกับยอดขาย หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูงแสดงว่าบริษัทสามารถเปลี่ยนยอดขายให้เป็นกำไรสุทธิได้มาก

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) แสดงถึง สัดส่วนของเงินทุนจากการกู้ยืมต่อเงินทุนจากเจ้าของธุรกิจถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่าบริษัทมีการกู้ยืมเงินในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกับอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์

อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset:ROA) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมของบริษัท เป็นการวัดความสามารถในการนำสินทรัพย์ทั้งหมดของธุรกิจใช่ในการสร้างยอดขายและควบคุมค่าใช่จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดสุทธิจากภาษีแต่ก่อนต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยจ่ายสุทธิจากภาษีที่ประหยัดได้) อัตราส่วนที่สูงแสดงว่าบริษัทมีความสามารถสูงในการนำสินทรัพย์ไปสร้างกำไรจากการดำเนินงาน

อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรให้แก่เงินทุนของผู้ถือหุ้น หากค่าที่ได้จากการคำนวณสูงแสดงว่าผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับเงินปันผลและผลตอบแทนที่สูง

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ แหล่งข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก