Mega Project : วิสัยทัศน์ "ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา" แลนด์มาร์กใหม่ของประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของ ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา กำลังจะเริ่มต้นขึ้น หลังจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำ "โครงการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา" สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยพ.ศ. 2558-2565 และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตของเมืองให้มีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนโดยในบทความนี้ TerraBKK Research จะพูดถึงโครงการ ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ในประเด็นของการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยเฉพาะ โครงการนี้จะเข้ามาปรับรูปแบบการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนที่อยู่ใกล้กับริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นและเป็นการนำจุดเด่นของประเทศไทยให้กลายเป็นจุดขายที่สำคัญให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติได้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น
โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยานี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาความเป็นอยู่ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน ด้วยการเข้ามาเติมเต็มพื้นที่สีเขียวลงไปในแต่ละจุดที่เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการสัญจรให้มีความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อเข้ากับระบบรางหรือรถไฟฟ้าหลากสีของกรุงเทพฯ สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แน่นอนว่าโครงการที่อยู่ติดริมแม่น้ำและอยู่ติดถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาย่อมได้รับประโยชน์เต็ม ๆ ทั้งพื้นที่ที่เขียวที่เพิ่มขึ้น สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น และที่สำคัญที่สุดสำหรับ คือ การเข้าถึงโครงข่ายคมนาคมที่สะดวกสบายมากขึ้น
"และนี่จะเป็นตัวผลักดันทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีเสน่ห์ในการอยู่อาศัยมากกว่าทำเลอื่นนั่นเอง"
รูปแบบโครงการโครงการนี้ก่อเกิดจาก ปัญหาบนพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามีอยู่ด้วยกัน 3 ปัญหาหลักๆ คือ
- ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินของคนในพื้นที่ที่ผิดไปจากผังเมืองที่ได้กำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นการรุกล้ำของโรงงานและคลังสินค้า รวมถึงบ้านเรือนที่ล้ำเข้ามาในแม่น้ำด้วย
- ระบบการคมนาคมของชุมชนริมแม่น้ำเข้ากับเส้นทางคมนาคมอื่น ๆ ที่ไม่สมบูรณ์ทำให้มีข้อจำกัดด้านการเดินทางเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชน
- พื้นที่สีเขียวของคนในชุมชนบริเวณริมแม่น้ำค่อนข้างน้อยไม่เพียงพอส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่แย่ลง
จากปัญหาทั้ง 3 ข้อจึงกลายเป็นข้อจำกัดให้การพัฒนาของเมืองรวมถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นไปได้ค่อนข้างช้าและมีปัญหาเรื้อรังเป็นเวลานาน
ลักษณะโครงการ ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นโครงการที่เน้นการสัญจรในรูปแบบที่ไม่ใช้เครื่องยนต์(จักรยาน หรือ การเดินเท้า เป็นต้น) โดยพยายามเชื่อมโยงให้โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งเมือง รวมถึงการพยายามอนุรักษ์วิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญหาของประเทศสำหรับโครงการ ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา กำลังจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม ในช่วงไตรมาสแรกของ ปี 2559 นี้แล้ว ในโครงการนี้แบ่งออกเป็น 8 โครงการย่อย ระยะทางรวม 140 กิโลเมตร ทั้งเขตกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมมูลค่าโครงการ 35,835 ล้านบาท โดยงบประมาณของ ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ เท่ากับ 16,570 ล้านบาท ได้แก่
(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
แนวทางการพัฒนาถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับแผนการพัฒนา ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา มีแนวการพัฒนาตลอดริมแม่น้ำ เพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆที่จะเกิดขึ้นบริเวณชุมชนและรองรับนักท่องเที่ยวรวมถึงผู้คนที่ผ่านไปมาบริเวณนั้น หากการพัฒนาเหล่านี้แล้วเสร็จจะเป็นเปลี่ยนศัยภาพทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น โดยสิ่งที่จะเพิ่มเติมเข้ามายังพื้นที่ริมแม่น้ำแห่งนี้ คือ
- พื้นที่เพื่อการสัญจรริมน้ำ ได้แก่ ทางสัญจรเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนระบบอื่นๆ เป็นเส้นทางกว้างเพียงพอเพื่อรองรับการสัญจรจำนวนมากที่มีระยะทางสั้น เน้นความรวดเร็วในการเดินทาง, ทางสัญจรเชื่อมโยงระหว่างชุมชนเปิดโล่งสาธารณะและทางสัญจรเพื่อนันทนาการ เป็นทางสัญจรขนาดเล็ก ไม่เน้นการใช้ความเร็วในการเดินทาง, เส้นทางเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ, สะพานคนเดินหรือจักรยาน เชื่อมโยงระหว่างชุมชน/เมืองสองฝั่งแม่น้ำ, จุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางริมน้ำ และท่าเรือเชื่อมต่อการเดินทางทางน้ำ
- ศูนย์กลางกิจกรรมริมน้ำของเมืองได้แก่ ศูนย์กลางเมืองสงบริมน้ำ บริเวณตลาดเทศบาลเมืองปทุม, ศูนย์กลางเมืองมีชีวิตชีวาบริเวณท่าน้ำนนท์, ศูนย์กลางเมืองเติบโตปากเกร็ด-เมืองท่องเที่ยวเกาะเกร็ด และศูนย์กลางเมืองกรุงเทพฯเชื่อมต่อบางกะเจ้าปอดกรุงเทพฯ
- สวนพักผ่อนริมน้ำสำหรับชุมชนเช่น บริเวณศาสนสถานริมน้ำที่อยู่ใกล้ชุมชน พื้นที่สาธารณะหลังเขื่อน โรงพยาบาลของรัฐ สถาบันราชการ
- จุดแวะพักริมน้ำเพื่อการท่องเที่ยวและนันทนาการเช่น บริเวณศาสนสถานริมน้ำ และบริเวณสถาบันราชการ
ผู้อ่านคงอยากจะทราบแล้วว่าในแต่ละพื้นที่จะมีการพัฒนาเป็นอะไรบ้าง TerraBKK Research รวบรวมรายละเอียดให้ดังต่อไปนี้
(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย : ภาพเรียงจาก P1-P4)
โครงการแรก ที่จะเข้าสู่ ครม. คือ "ท่าน้ำนนท์" (P5) บริเวณนี้มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี พื้นที่ริมน้ำหน้าศาลากลางนนทบุรี เป็นศูนย์รวมกิจกรรมสาธารณะของเมือง ไม่ว่าจะเป็น ตลาด ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ มีแนวทางการพัฒนา คือ ปรับปรุงพื้นที่ริมน้ำหน้าศาลากลางนนทบุรี เพื่อส่งเสริมการใช้พื้นที่ริมน้ำเป็นศูนย์กลางกิจกรรมสาธารณะของเมือง สร้างทางสัญจรแนวเหนือ-ใต้ฝั่งตะวันตกตามแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเพื่อการเดินทางเชื่อมโยงระบบราง สร้างทางสัญจรริมน้ำฝั่งตะวันออก ส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำเพื่อนันทนาการ เป็นศูนย์กลางกิจกรรมสาธารณะเพื่อความมีชีวิตชีวาของเมืองนนทบุรี เชื่อมโยงย่านพักอาศัยฝั่งตะวันตกและเมืองนนทบุรีฝั่งตะวันออกด้วยการเดินทางที่สะดวก ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมปรับปรุงถนนเดิมที่อยู่ใกล้แม่น้ำ เพื่อรองรับทางจักรยาน
"เมืองปทุมธานี" (P1) ชุมชนโดยส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายชาวมอญ ชุมชนบริเวณตำบลบางขะแยง มีประวัติศาสตร์ความมาที่ยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น บ้านริมน้ำจะมีการยกใต้ถุนบ้านขึ้นสูงเพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนย่านนี้ คือ การกวนกะละแมและข้าวเหนียวแดง มีสถานที่สำคัญ คือ วัดหงส์ปทุมาวาส วัดเจตน์วงศ์ (วัดร้างของกรมศิลปากร) วัดชินวราราม (พระอารามหลวง) มีแนวทางการพัฒนาโดยเชื่อมโยงกิจกรรมหลักและชุมชนสองฝั่งแม่น้ำด้วยการเดินทางที่ไม่พึ่งพาน้ำมัน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วิถีชีวิตริมน้ำ ปรับปรุงถนนเดิมที่อยู่ใกล้แม่น้ำเพื่อรองรับทางจักรยาน ปรับปรุง/เพิ่มเส้นทางเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำเชื่อมโยงพื้นที่เปิดโล่ง พื้นที่สีเขียวและแหล่งท่องเที่ยว และสร้างลานกิจกรรมสาธารณะริมน้ำ
"บางคูวัดและบางพูด" (P2) ชุมชนโดยส่วนใหญ่บริเวณนี้เป็นเชื้อสายมอญที่อพยพมาจากปากเกร็ดวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชุมชนมีความสัมพันธ์กับน้ำ เช่น ประเพณีการแข่งเรือยาว ประเพณีตักบาตรเทโวฯ มีแนวทางการพัฒนาด้วยการสร้าง LOOP ทางสัญจรบริเวณย่านพักอาศัยระหว่างสะพานนนทบุรี และสะพานพระราม 4 ด้วยการเดินทางที่ไม่พึ่งพาน้ำมัน เชื่อมโยงระหว่างชุมชน ควบคู่ไปกับอนุรักษ์วิถีชีวิตริมน้ำ ปรับปรุงถนนเดิมที่อยู่ใกล้แม่น้ำ เพื่อรองรับทางจักรยา ปรับปรุง/เพิ่มเส้นทางเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ และส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำเพื่อนันทนาการ
"ปากเกร็ด" (P3) เกาะเกร็ดเป็นย่านชุมชนที่มีความเจริญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (ค้าขายและเป็นที่ตั้งด่านตรวจเรือ) ที่จะเดินทางผ่านไปมายังอยุธยา มีแนวทางการพัฒนา คือ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวเกาะเกร็ดที่สะดวกด้วยการเดินทางที่ไม่พึ่งพาน้ำมัน เชื่อมต่อเมืองปากเกร็ดกับระบบขนส่งมวลชนระบบราง ส่งเสริมการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมทางสัญจรริมน้ำด้านหน้าสถาบันราชการ ปรับปรุงถนนเดิมที่อยู่ใกล้แม่น้ำ เพื่อรองรับทางจักรยาน อนุรักษ์วิถีชีวิตริมน้ำรอบเกาะเกร็ด และปรับปรุง/เพิ่มเส้นทางเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ
(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย : ภาพเรียงจาก P5-P8)
"สะพานสมเด็จพระนั่งเกล้า" (P4) เป็นชุมชนดั้งเดิมเชื้อสายมอญและเชื้อสายไทย มีแนวทางการพัฒนา คือ สร้างทางสัญจรแนวเหนือ-ใต้ฝั่งตะวันตก ตามแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเพื่อการเดินทางเชื่อมโยงระบบราง สร้างทางสัญจรริมน้ำฝั่งตะวันออก ส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำเพื่อนันทนาการ เชื่อมโยงพื้นที่สองฝั่งเพื่อการเดินทางที่สะดวก ปรับปรุงถนนเดิมที่อยู่ใกล้แม่น้ำเพื่อรองรับทางจักรยาน ส่งเสริมกิจกรรมสาธารณะริมน้ำหน้าสถาบันราชการ และปรับปรุง/เพิ่มเส้นทางเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ
"สะพานพระราม 7" (P6) พื้นที่บริเวณนี้มีวัดและสถาบันการศึกษาริมน้ำ ได้แก่ วัดนครอินทร์ วัดเขมาภิรตาราม วัดค้างคาว โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม โรงเรียนสตรีนนทบุรีเหนือ พื้นที่นี้ประชากรมีความหลากหลายและกระจุกรวมตัวกันในพื้นที่ตามย่านการศึกษาที่สำคัญโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนคร พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้ยังไม่ได้รับการพัฒนา เพราะเป็นที่ส่วนบุคคลและที่วัดเป็นหลัก มีแนวทางการพัฒนา คือ สร้างทางสัญจรแนวเหนือ-ใต้ฝั่งตะวันตก ตามแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเพื่อการเดินทางเชื่อมโยงระบบราง เชื่อมโยงย่านพักอาศัยฝั่งตะวันตกและเมืองฝั่งตะวันออกด้วยทาง จักรยานริมสะพานข้ามแม่น้ำเดิมเพื่อความสะดวก ปลอดภัยปรับปรุงถนนเดิมที่อยู่ใกล้แม่น้ำ เพื่อรองรับทางจักรยาน และปรับปรุง/เพิ่มเส้นทางเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ
"กรุงเทพมหานคร" (P7)มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ผูกพันกับแม่น้ำเจ้าพระยามาอย่างยาวนาน ช่วยหล่อเลี้ยงผู้คนทั้งการอุปโภค-บริโภค เพื่อการเกษตรกรรม รวมทั้งยังเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งสองสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ตั้งของราชธานีสำคัญคือ ธนบุรีและรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ในพื้นที่ริมสองฝั่งน้ำยังเป็นเขตภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่สำคัญ เป็นที่ตั้งของวัด วัง บ้านเรือน ป้อมปราการ สวน อนุสาวรีย์ และสถาปัตยกรรมจำนวนมาก บูรณาการด้านข้อมูลกับกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีแนวทางการพัฒนา คือ บูรณาการณ์และเชื่อมโยงการวางผังแม่บทกับโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม. และโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โครงการฟื้นฟูพัฒนาปรับปรุงริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นมรดกโลก โครงการริมน้ำยานนาวา และโครงการฟื้นฟูอนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์ชุมชนริมน้ำย่านคลองสาน
"บางกระเจ้า" (P8) ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายมอญ อพยพเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ ร.2 ที่ดินโดยส่วนใหญ่ เป็นของตนเอง อาศัยกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และประกอบอาชีพการเกษตร ยังมีการอนุรักษ์คูคลองเดิมในชุมชนไว้ ส่วนใหญ่ใช้เพื่อการเกษตร มีแนวทางการพัฒนา คือ รักษาพื้นที่อนุรักษ์ชนบทเกษตรกรรมในบางกะเจ้าไว้ให้คงเดิม เชื่อมโยงทางสัญจรระหว่างบางกะเจ้าและกรุงเทพฯเพื่อให้สามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้ ปรับปรุงท่าเรือและรางรถไฟเดิมเพื่อเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ปรับปรุงทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวเดิมเพื่อให้สามารถใช้สัญจรผ่านบางกะเจ้าได้
(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
รวม 15 โครงการคอนโดมิเนียมริมน้ำ ใกล้ "โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา"
(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
สำหรับคอนโดมิเนียมมริมน้ำพบว่ามี 14 โครงการ ที่ยังเปิดขายอยู่ในปัจจุบัน และ 1 โครงการใหม่ที่กำลังจะเปิดขายในต้นปี 2559 นี้ โดยราคาคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำเจ้าพระยามีช่วงระดับราคาตั้งแต่ 53,000 - 350,000 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 โซนหลักตามโครงการ ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนี้
โครงการท่าน้ำนนท์ คอนโดที่ตั้งอยู่ใกล้แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง จังหวัดนนทบุรี อยู่ในช่วง ราคา 50,000 - 100,000 บาทต่อตารางเมตร มีทั้งหมด 3 โครงการ คือ โครงการ Manor Sanambinnam ของค่าย Major Development ราคาเฉลี่ยเริ่มต้นห้องวิวแม่น้ำ อยู่ที่ 83,300 B/SQ.M. โครงการ Metro Luxe Rattanathibet ของค่าย Property Perfect ราคาเฉลี่ยเริ่มต้นห้องวิวแม่น้ำ อยู่ที่ 86,200 B/SQ.M. และโครงการที่กำลังจะเปิดขายในต้นปี 2016 นี้ นั่นก็คือ โครงการ The Politan Rive ของค่าย Everland
The Politan Rive by Everland โครงการที่มีราคาต่ำที่สุดและเป็นโครงการใหม่ ปี 2016
โครงการสะพานพระราม 7 คอนโดที่ตั้งอยู่ใกล้แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีน้ำเงิน ในเขตบางซื่อ - บางพลัด ราคา 100,001 - 150,000 บาทต่อตารางเมตร อย่างโครงการ 333 Riverside ของค่าย Land and Houses ที่ห้องวิวแม่น้ำขายหมดแล้ว ตอนนี้มีขายเพียงห้องฝั่ง City View เท่านั้น ราคาเฉลี่ยเริ่มต้น อยู่ที่ 111,000 B/SQ.M. และโครงการ My Resort River ของ ค่าย Everland ราคาเฉลี่ยเริ่มต้นห้องวิวแม่น้ำ อยู่ที่ 100,000 B/SQ.M.
โครงการบางกระเจ้า คอนโดที่ตั้งอยู่บนถนนพระราม 3 เขตยานนาวา แบ่งออกเป็น 2 ช่วงราคา
- โครงการที่อยู่ในช่วง ราคา 50,000 - 100,000 บาทต่อตารางเมตร โครงการคอนโดมิเนียมในระดับราคานี้ บริเวณพระราม 3 เขตบางคอแหลมและเขตยานนาวา มี 3 โครงการ คือ Lumpini Park Riverside Rama 3 , U Delight Riverfront Rama 3 และ Supalai Riva Grand Rama 3
- โครงการที่อยู่ในช่วง ราคา 150,000-200,000 บาทต่อตารางเมตร มี 2 โครงการ คือ Canapaya Riverfront Residence Rama 3 และ The Pano Rama 3 ของค่าย KLand ที่ยังเหลือเป็นส่วนของห้องฝั่ง Garden View เท่านั้น ราคาเฉลี่ยเริ่มต้น อยู่ที่ 120,600 B/SQ.M.
โครงการกรุงเทพมหานคร คอนโดที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุงและเจริญนคร มีช่วงระดับราคา 150,001 - 200,000 บาทต่อตารางเมตร และ มากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตรขึ้นไป
- โครงการที่อยู่ในช่วงระดับราคา 150,001 - 200,000 บาทต่อตารางเมตร จะพบในย่านเจริญกรุง - เจริญนคร นั่นคือ โครงการ The River ของค่าย Raimond Land ราคาเฉลี่ยเริ่มต้นห้องวิวแม่น้ำ อยู่ที่ 153,000 B/SQ.M. และโครงการ Menam Residence ของค่าย Menam Residence Group ราคาเฉลี่ยเริ่มต้นห้องวิวแม่น้ำ อยู่ที่ 180,000 B/SQ.M.
- โครงการที่อยู่ในช่วงระดับราคามากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตรขึ้นไป คอนโดมิเนียมในระดับราคานี้และมีที่ตั้งติดแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าโครงการค่อนข้างสูงมาก อย่าง ICONSIAM ที่ประกอบด้วย โครงการ Magnolia Riverfront Residence ราคาเฉลี่ยเริ่มต้นห้องวิวแม่น้ำ อยู่ที่ 257,000 B/SQ.M. และ โครงการ The Residence Mandarin Oriantal Bangkok Bangkok ราคาเฉลี่ยเริ่มต้นห้องวิวแม่น้ำ อยู่ที่ 362,000 B/SQ.M. ซึ่งเป็นคอนโดมิเนียมที่มีราคาเฉลี่ยสูงที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีโครงการ Four Season Private Residence Bangkok at Chao Phraya River ของค่าย Country Group ราคาเฉลี่ยเริ่มต้นห้องวิวแม่น้ำ อยู่ที่ 275,000 B/SQ.M.
The Residence Mandarin Oriantal Bangkok Bangkok โครงการริมน้ำเจ้าพระยาที่มีราคาสูงที่สุด
(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
จากตาราง แสดงราคาขายเริ่มต้นของห้องชุดสามารถมองเห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยา (รวบรวมข้อมูลวันที่ 5 ม.ค. 2559) โดยวิวแม่น้ำในที่นี้ อาจไม่ใช่มุมที่หันหน้าเข้าหน้าแม่น้ำโดยตรง อาจเป็นมุมเฉียง แนวทิศเหนือ - ใต้ ที่สามารถสัมผัสวิวแม่น้ำเจ้าพระยาได้
Presales Price คือ ราคาขายเริ่มต้น ณ วันเปิดตัวโครงการ
Current Price คือ ราคาขายเริ่มต้นของห้องที่เหลืออยู่ ณ ปัจจุบัน (5 ม.ค. 2559)
ราคาขายเริ่มต้น ไม่ใช่ราคาเฉลี่ยของทั้งโครงการ ดังนั้นอาจมีบางห้องที่ราคาสูงกว่านี้มาก ๆ จึงขึ้นอยู่กับนโยบายการปรับราคาตามความสูงและทิวทัศน์ที่ดีของห้องชุดนั้น ๆ
บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก