สรุปผลประกอบการปี 2558 และแผนปี 2559 ของบริษัท "พัฒนาอสังหาริมทรัพย์"
อีกหนึ่งปีผ่านไปจากปี 2558 เข้าสู่ปี 2559 การประกาศผลประกอบการประจำปีของเหล่า "บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Sector : Property Development)" ประจำปี 2558 ได้ประกาศออกมาครบแล้ว TerraBKK Research จึงขอถือโอกาสนี้ Update ผลประกอบการภาพรวมประจำปี 2558 เปรียบเทียบย้อนหลังกับ 4 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2554-2557 เพื่อหาว่าในปี 2558 บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไหนสามารถสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่นที่สุด ทั้งในเรื่องของการเติบโต (Growth) ของยอดขาย กำไร รวมถึงความสามารถในการทำกำไรด้วย นอกจากนั้น TerraBKK Research ยังได้รวบรวมแผนการดำเนินงานปี 2559 มาให้ผู้อ่านได้นำไปใช้คาดการณ์แนวโน้มในอนาคตด้วย
ก่อนจะเข้าไปดูผลประกอบการของแต่ละบริษัทมาดูแผนปี 2559 ที่ทาง TerraBKK Research ได้รวบรวมเอาไว้มีรายละเอียดดังนี้
(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
ถ้าหากดูยอดขายปีนี้ (ยอดขายเป็นยอดจากการขาย ณ ช่วง Presale และของที่เหลือในสต๊อก ท่านผู้อ่านอย่าจำสลับกับรายได้นะครับ) Pruksa ครองแชมป์อันดับ 1 เช่นเดิม และมีการตั้งเป้าหมายยอดขายในปีนี้ที่ 51,000 ล้านบาท รวมถึงมีงบซื้อที่ดินเพิ่มเติมสูงมากถึง 14,000 ล้านบาท มูลค่าโครงการใหม่ก็วางไว้สูงที่สุดของกลุ่มเช่นกันอยู่ที่อันดับสอง สำหรับการเปิดตัวโครงการ คือ Sansiri และ Supalai ตามลำดับ
เนื่องจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีด้วยกันหลายบริษัทมากทาง TerraBKK Research จึงคัดบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการอยู่อาศัยเป็นหลักและต้องมีขนาดของรายได้อยู่ใน 15 อันดับแรก มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
บริษัทที่สามารถสร้างผลประกอบการเข้าตา TerraBKK Research มากที่สุดในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คือ บริษัท Pruksa ทั้งเรื่อง ยอดขายที่ทำ New High ต่อเนื่อง, EPS Growth ยังทำได้ดีอยู่, ROE อยู่ระดับ 24% สูงสุดในกลุ่ม แต่สำหรับปี 2559 นั้น Pruksa มีแผนจะเป็น Holding Company ซึ่งจะลงทุนในกิจการอื่นที่ไม่ใช่เพียงแค่ที่อยู่อาศัยซึ่งตนเองมีความเชี่ยวชาญมากที่สุดเพียงอย่าง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมได้ ดังนั้นนักลงทุนควรศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน นอกจากนั้นยังมีบริษัท SC Asset ซึ่งมี EPS ที่โตค่อนข้างช้า แต่ยังสามารถโตได้ต่อเนื่องและสามารถทำ New High ทั้งยอดรายได้ และ EPS ได้อยู่
(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
รายได้ (Revenue) สำหรับกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ปี 2558 รายได้ของบริษัทพัฒนาเพื่อการอยู่อาศัยส่วนใหญ่สามารถสร้างรายได้ได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่หลายบริษัทด้วยกัน โดยบริษัทที่สามารถสร้างผลประกอบการได้อย่างโดดเด่นในแง่ของการสร้างรายได้สูงที่สุด คือ บริษัท Pruksa ด้วยรายได้สูงถึง 51,441 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 19.2% จากฐานเดิมที่ทำไว้ค่อนข้างสูงในปีที่แล้ว บริษัที่มีรายได้เป็นอันดับที่สอง คือ บริษัท Sansiri มีรายได้เท่ากับ 38,455 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้ว 30.2%
เราจะเห็นว่าถ้าเรามองในมุมของมูลค่า (Value) ระหว่าง PS มีรายได้เพิ่มขึ้นน้อยกว่า SIRI เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์การเติบโตของ Sansiri สามารถเติบโตได้มากกว่า มากๆ และเมื่อเราดูจากกราฟ พบว่า บริษัทที่สามารถสร้างการเติบโตได้ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ได้แก่ Pruksa, Sansiri, Supalai SC Asset, Property Perfect, Areeya และ PACE
(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin : GPM) บริษัทที่ทำคอนโดมิเนียมเป็นหลักส่วนใหญ่จะมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าบริษัทที่ทำบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ซึ่งเป็นโครงการแนวราบ ถ้าเราดูภาพรวมบริษัทที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงที่สุด คือ บริษัท PACE ด้วยอัตรากำไรขั้นต้น 47.4% และเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้วด้วย รองลงมาเป็น Raimond Land (40.64%)และ Ananda (38.72%) นอกจากนั้นบริษัทที่มี GPM รองลงมาจะเป็นบริษัทที่ทำลูกผสมระหว่างโครงการแนวราบกับโครงการแนวสูง ได้แก่บริษัทใหญ่ เช่น Spalai, AP, Land and Houses, Pruksa, Charn Issara, Major Development, L.P.N., M.K., Property perfect ต่างก็มี GPM ใกล้เคียงเกาะกลุ่มกันไปในระดับมากกว่า 30%
อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin : NPM) แต่ถ้าดูกันถึงความสามารถในการบริหารจัดการ รวมถึงค่าการตลาดต่างๆ บริษัทที่ควบคุมต้นทุนได้ดีและทำให้อัตรากำไรสุทธิสูงมากนั่นก็คือ บริษัท Land and Houses และ Supalai ซึ่งมีอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 25.17% และ 20.2% ตามลำดับ (มากกว่า 20%)
(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset : ROA) จะเป็นตัวแสดงถึง ประสิทธิภาพของบริษัทในการนำสินทรัพย์ (ทรัพยากร) ของบริษัทมาสร้างผลตอบแทนได้ดีมากน้อยขนาดไหน ดังนั้น บริษัทที่มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรมากที่สุด คือ L.P.N. (15.89%), Pruksa (15.51%), Supalai (13.99%), Raimond Land (12.29%) และ Land and Houses (11.43%) และ AP (Thailand) (10.14%) ตามลำดับจากน้อยไปมาก บริษัทที่กล่าวถึงนี้ล้วนแต่เป็นบริษัทที่มี ROA มากกว่า 10% อัตราผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) บริษัทที่มี ROE ต่อปีมากกว่า 15% จะเป็นบริษัทที่สามารถเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือให้ได้อย่างน่าพอใจบริษัทเหล่านั้น ได้แก่ Pruksa (24.03%), Supalai (23.34%), Raimond Land (22.55%), L.P.N (21.95%), Land ans Houses (17.91%) และ AP (15.66%), Ananda (15.43%), SC Asset (15.25%)
(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
กำไรต่อหุ้น (Earning per Share : EPS) สำหรับอัตรากำไรต่อหุ้นนี้เราจะโฟกัสไปที่การเติบโตของ EPS เป็นหลักเพื่อที่จะดูว่าบริษัทไหนสามารถเติบโตได้สูงที่สุด และสามารถโตได้อย่างต่อเนื่องติดต่อกัน บริษัทเหล่านั้นได้แก่ (เรียงตามการเติบโตของอัตรากำไรต่อหุ้น) Areeya (+450%), M.K.Real Estate (+36.5%), Pruksa (15.1%), SC Asset (7.1%) บริษัทที่โตมากๆ แบบนี้ TerraBKK จะโฟกัสเป็นพิเศษ
(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
หนี้สินต่อทุน (Debt to Equity : DE) หนี้สินต่อทุนของบริษัทควรจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่า ซึ่งจะหมายถึงสุขภาพทางการเงินดี และยังสามารถก่อหนี้เพิ่มได้โดยไม่ต้องเพิ่มทุน แต่บริษัทที่มีหนี้สินต่อทุนมากกว่า 2 เท่าแสดงว่า วินัยทางการเงินค่อนข้างแย่มาก ไม่สามารถควบคุมสัดส่วนในการระดมทุนได้ดีนัก บริษัทที่มีหนี้สินต่อทุนสูงผิดปกติ ได้แก่ PACE และ CI ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทที่ก่อหนี้ต่อเนื่อง สำหรับบริษัทที่มีสุขภาพทางการเงินค่อนข้างดี คือ L.P.N., M.K. และ Pruksa มีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำกว่า 1 เท่า
อัตรากำไรสุทธิ จะแสดงถึง ความสามารถในการทำกำไรสุทธิของบริษัท เป็นการวัดความสามารถของบริษัทในการควบคุมรายจ่ายทุกประการทั้งดอกเบี้ยและภาษีเมื่อเทียบกับยอดขาย หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูงแสดงว่าบริษัทสามารถเปลี่ยนยอดขายให้เป็นกำไรสุทธิได้มาก
อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) แสดงถึง สัดส่วนของเงินทุนจากการกู้ยืมต่อเงินทุนจากเจ้าของธุรกิจถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่าบริษัทมีการกู้ยืมเงินในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกับอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์
อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset:ROA) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมของบริษัท เป็นการวัดความสามารถในการนำสินทรัพย์ทั้งหมดของธุรกิจใช้ในการสร้างยอดขายและควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดสุทธิจากภาษีแต่ก่อนต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยจ่ายสุทธิจากภาษีที่ประหยัดได้) อัตราส่วนที่สูงแสดงว่าบริษัทมีความสามารถสูงในการนำสินทรัพย์ไปสร้างกำไรจากการดำเนินงาน
อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรให้แก่เงินทุนของผู้ถือหุ้น หากค่าที่ได้จากการคำนวณสูงแสดงว่าผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับเงินปันผลและผลตอบแทนที่สูง
บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ แหล่งข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก