TerraBKK Research ได้รวบรวมผลประกอบการของอุตสาหกรรม “การแพทย์ (Health Care Services)” ซึ่งปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ถือว่าเป็น Mega Trend ของประเทศไทยไปแล้ว จากทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ และค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างต่ำทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของประเทศไทยเป็นที่รู้จักจากคนทั่วโลก โดยทาง TerraBKK Research ได้รวบรวมผลประกอบการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด SET มีทั้งหมด 16 บริษัท ผลประกอบการของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้จะเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับช่วงผ่านมา มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

สำหรับกลุ่มโรงพยาบาล บริษัทที่ TerraBKK Research มองว่า น่าจะมีศักยภาพในด้านการเจริญเติบโตของรายได้ กำไร และสามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เป็นอย่างดี ไดแก่ บริษัท BH : BUMRUNGRAD HOSPITAL ส่วน NTV: NONTHAVEJ HOSPITAL เป็นบริษัทหนึ่งที่ทำกำไรได้ดี แต่รายได้ในปี 2558 โตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

รายได้ (Revenue) อุตสาหกรรมโรงพยาบาลในประเทศไทยถือว่าได้รับกระแสตอบรับดีมาก ส่งผลต่อการเติบโตของยอดรายได้ของกลุ่มโรงพยาบาลให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญรายได้ของกลุ่มโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นทุกบริษัท สำหรับแชมป์เรื่องรายได้ของกลุ่มโรงพยาบาล คือ บริษัท BANGKOK DUSIT MEDICAL รายได้สูงถึง 65,188 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว +12.31% ส่วนบริษัทที่มีการเติบโตสูงที่สุด คือ THONBURI MEDICAL CENTRE (+27.01%)นอกจากนั้นยังมี CHULARAT HOSPITAL (+17.09%), CHIANG MAI RAM MEDICAL (+12.77%), BUMRUNGRAD HOSPITAL (+12.77%), BANGKOK DUSIT MEDICAL (+12.31%), WATTANA KARNPAET (+12.26%), VIBHAVADI MEDICAL CENTER (+10.08%) ตามลำดับ บริษัททั้งหมดที่ TerraBKK Research ได้กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นบริษัทที่มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันมากกว่า 3 ปีทั้งหมด

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin : NPM) สำหรับโรงพยาบาลที่สามารถสร้างอัตรากำไรสุทธิได้สูงที่สุด คือ RAMKHAMHAENG HOSPITAL (25.75%) ซึ่งสามารถมีกำไรอยู่ราวๆ นี้ซักระยะหนึ่งแล้ว อันดับที่สอง คือ BUMRUNGRAD HOSPITAL มี NPM เท่ากับ 19.95% และสามารถสร้าง NPM ได้สูงที่สุด ในรอบ 5 ปี อันดับที่สาม คือ CHG : CHULARAT HOSPITAL มี NPM เท่ากับ 16.94% แต่แนวโน้มการทำกำไรลดลงต่อเนื่องเล็กน้อย ส่วนบริษัทที่รักษาระดับ Margin ลดลงและลดลงค่อนข้างชัด คือ BANGKOK CHAIN HOSPITAL (9.01%) และยังมีอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ขาดทุน คือ THONBURI MEDICAL (จากการที่โตสูงสุด แต่เมื่อดูการทำกำไรกลับทำได้ไม่ดีนัก)

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset : ROA) ส่วนในเรื่องของการใช้สินทรัพย์ในการผลตอบแทน บริษัทที่มี ROA อยู่ในระดับมากกว่า 15% คือ BUMRUNGRAD HOSPITAL มี ROA เท่ากับ 21.94% อันดับที่สอง คือ โรงพยาบาล NONTHAVEJ HOSPITAL มี ROA อยู่ที่ 21.47% CHULARAT HOSPITAL มี ROA อยู่ที่19.66% และSAMITIVEJ (18.31%) และเมื่อดูอัตราผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) เป็นส่วนที่สำคัญสำหรับพิจารณาความน่าสนใจในการลงทุน เนื่องจากค่านี้จะเป็นตัวที่บอกถึงความสามารถในการสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น ดังนั้น ยิ่งอัตราส่วนตรงนี้มากเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น สำหรับบริษัทที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นได้มากกว่า 15% ได้แก่ BUMRUNGRAD HOSPITAL (29.09%), NONTHAVEJ HOSPITAL (20.27%), SAMITIVEJ (19.99%), CHIANG MAI RAM MEDICAL (19.79%), CHULARAT HOSPITAL (18.68%), MAHACHAI HOSPITAL (16.7%) และ BANGKOK DUSIT MEDICAL (15.76%) จะสังเกตุว่า BH มีทั้ง ROA และ ROE สูงมาก

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

กำไรต่อหุ้น (Earning per Share : EPS) เป็นอัตราส่วนที่เอาไว้ดูว่ากำไรที่แท้จริงที่จะตกอยู่กับผู้ถือหุ้นเฉลี่ยแล้วหุ้นละเท่าไร ในภาพรวมกำไรอาจจะโตมาก แต่เมื่อนำมาหารเป็นกำไรต่อหุ้นแล้วอาจจะไม่เจอ ดังนั้น EPS จะช่วยดูว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทที่เติบโตหรือไม่ บริษัทที่มีอัตรากำไรต่อหุ้น (EPS Growth) สูงที่สุด คือ MAHACHAI HOSPITAL (+42.13%), CHIANG MAI RAM MEDICAL (+29.42%), BUMRUNGRAD HOSPITAL (+25.87%), WATTANA KARNPAET (+17.12%) และ NONTHAVEJ HOSPITAL (+12.05%)

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

หนี้สินต่อทุน (Debt to Equity) หนี้สินต่อทุนของบริษัทควรจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่า ซึ่งจะหมายถึงสุขภาพทางการเงินดี และยังสามารถก่อหนี้เพิ่มได้โดยไม่ต้องเพิ่มทุน แต่บริษัทที่มีหนี้สินต่อทุนมากกว่า 2 เท่า แสดงว่า วินัยทางการเงินค่อนข้างแย่มาก ไม่สามารถควบคุมสัดส่วนในการระดมทุนได้ดีนัก สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลไม่มีบริษัทใดเลยที่มีหนี้สินต่อทุนมากกว่าสองเท่า

อัตรากำไรสุทธิ จะแสดงถึง ความสามารถในการทำกำไรสุทธิของบริษัท เป็นการวัดความสามารถของบริษัทในการควบคุมรายจ่ายทุกประการทั้งดอกเบี้ยและภาษีเมื่อเทียบกับยอดขาย หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูงแสดงว่าบริษัทสามารถเปลี่ยนยอดขายให้เป็นกำไรสุทธิได้มาก

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) แสดงถึง สัดส่วนของเงินทุนจากการกู้ยืมต่อเงินทุนจากเจ้าของธุรกิจถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่าบริษัทมีการกู้ยืมเงินในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกับอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์

อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset:ROA) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมของบริษัท เป็นการวัดความสามารถในการนำสินทรัพย์ทั้งหมดของธุรกิจใช่ในการสร้างยอดขายและควบคุมค่าใช่จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดสุทธิจากภาษีแต่ก่อนต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยจ่ายสุทธิจากภาษีที่ประหยัดได้) อัตราส่วนที่สูงแสดงว่าบริษัทมีความสามารถสูงในการนำสินทรัพย์ไปสร้างกำไรจากการดำเนินงาน

อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรให้แก่เงินทุนของผู้ถือหุ้น หากค่าที่ได้จากการคำนวณสูงแสดงว่าผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับเงินปันผลและผลตอบแทนที่สูง

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ แหล่งข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก