TerraBKK Research ได้รวบรวมผลประกอบการ กลุ่ม “บริการรับเหมาก่อสร้าง” ย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2558 เพื่อนำผลประกอบการในแต่ละปีมาเปรียบเทียบให้เห็นแนวโน้มการเติบโต และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทว่า ดีขึ้น หรือ แย่ลงโดยบริษัทที่ทาง TerraBKK Research เลือกมานั้นจะเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาด SET เท่านั้น ไม่ได้นำตลาด MAI มาสรุปให้ฟัง เรามาดูกันว่าบริษัทไหนในกลุ่ม “บริการรับเหมาก่อสร้าง” จะสามารถสร้างผลประกอบการได้ดีที่สุดมีดังต่อไปนี้

จากการสำรวจผลประกอบการ กลุ่ม บริการรับเหมาก่อสร้าง” ย้อนหลัง 5 ปี พบว่า บริษัทที่มีเติบโตต่อเนื่องและความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับที่ดี มีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น คือ SYNTEC : SYNTEC เพราะโตทั้งความสามารถในการทำกำไร รายได้เพิ่มขึ้น กำไรโตขึ้น ประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์อยู่ในระดับที่ดี

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

รายได้ (Revenue) ในกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้างบริษัทแนวโน้มรายได้ในปี 2558 ลดลงหลายบริษัท แต่บริษัทที่มีรายได้มากที่สุด คือ ITD : ITALIAN-THAI รายได้สูงถึง 52,044 ล้านบาท อันดับที่สอง คือ CK : CH. KARNCHANG อันดับสาม คือ TTCL : TOYO-THAI บริษัทที่มีรายได้เติบโตสูงที่สุด คือ บริษัท TRC : TRC CONSTRUCTION โต +26.45% ส่วนบริษัทที่มีรายได้โตรองลงมา ได้แก่ BJCHI: BJC HEAVY INDUSTRIES (+25.59%), UNIQ : UNIQUE (+24.18%), STPI : STP&I (+12.52%), TTCL : TOYO-THAI (+11.10%), CK : CH. KARNCHANG (+7.21%), ITD : ITALIAN-THAI (+5.81%), SYNTEC : SYNTEC (+4.10%)

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin : NPM) ในส่วนของความสามารถในการทำกำไรของบริษัท เมื่อดูในส่วนของอัตรากำไรสุทธิ เราจะพบว่า บริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิเป็นบวกและมีอัตรากำไรสุทธิมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ BJCHI: BJC HEAVY INDUSTRIES (22.94%), SRICHA: SRIRACHA CONSTRUCTION (20.1%), STPI : STP&I (19.13%), PYLON: PYLON (16.33%) และ SYNTEC : SYNTEC (8.68%)

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset : ROA) เมื่อดูในส่วนของประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ในการสร้างผลตอบแทนเรา พบว่า STPI : STP&I (22.99%), BJCHI: BJC HEAVY INDUSTRIES (21.84%), PYLON: PYLON (19.9%), SRICHA: SRIRACHA CONSTRUCTION (17.74%), SEAFCO: SEAFCO (11.79%), SYNTEC : SYNTEC (10.71%), TRC: TRC CONSTRUCTION (10.56%) แต่ปี 2558 ที่ผ่านมา ถ้าเราดูเปรียบเทียบกับ 2557 เราจะพบว่า SRICHA และ SEAFCO มี ROA ลดลงค่อนข้างชัดเจนมาก ส่วนอัตราผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) เป็นตัวที่แสดงให้ทราบว่าบริษัทสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นมากขนาดไหน บริษัทที่มี ROE มากกว่า 15% ได้แก่ STPI : STP&I, BJCHI: BJC HEAVY INDUSTRIES, PYLON: PYLON, PREB: PRE-BUILT, SYNTEC : SYNTEC, STEC : SINO-THAI, SEAFCO: SEAFCO, TRC: TRC CONSTRUCTION และ SRICHA: SRIRACHA CONSTRUCTION ตามลำดับ ถ้าเปรียบเทียบกับช่วงที่ผ่านมาบริษัท SYNTEC เป็นบริษัทเดียวที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จากที่เคยมี ROE ต่ำเพียง -5.94%

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

กำไรต่อหุ้น (Earning per Share : EPS) สำหรับอุตสากรรมนี้กำไรต่อหุ้นส่วนใหญ่จะลดลง บริษัทที่มีกำไรต่อหุ้นเติบโตต่อเนื่องมีเพียงบริษัทเดียว ได้แก่ SYNTEC : SYNTEC ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า +60.00% ส่วนบริษัทที่มีกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว คือ UNIQ : UNIQUE

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

หนี้สินต่อทุน (Debt to Equity) หนี้สินต่อทุนของบริษัทควรจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่า ซึ่งจะหมายถึงสุขภาพทางการเงินดี และยังสามารถก่อหนี้เพิ่มได้โดยไม่ต้องเพิ่มทุน แต่บริษัทที่มีหนี้สินต่อทุนมากกว่า 2 เท่าแสดงว่า วินัยทางการเงินเริ่มไม่ค่อยดีบริษัทไม่สามารถควบคุมสัดส่วนในการระดมทุนได้ดีนัก สำหรับอุตสาหกรรมนี้บริษัทที่มี D/E Ratio เกิน 2 เท่า มีด้วยกันหลายบริษัท ได้แก่ UNIQ : UNIQUE, NWR : NAWARAT PATANAKARN, TPOLY: THAI POLYCONS , PREB: PRE-BUILT, CK : CH. KARNCHANG, TTCL : TOYO-THAI, ITD : ITALIAN-THAI, PLE : POWER LINE ENGINEERING

อัตรากำไรสุทธิ จะแสดงถึง ความสามารถในการทำกำไรสุทธิของบริษัท เป็นการวัดความสามารถของบริษัทในการควบคุมรายจ่ายทุกประการทั้งดอกเบี้ยและภาษีเมื่อเทียบกับยอดขาย หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูงแสดงว่าบริษัทสามารถเปลี่ยนยอดขายให้เป็นกำไรสุทธิได้มาก

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) แสดงถึง สัดส่วนของเงินทุนจากการกู้ยืมต่อเงินทุนจากเจ้าของธุรกิจถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่าบริษัทมีการกู้ยืมเงินในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกับอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์

อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset:ROA) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมของบริษัท เป็นการวัดความสามารถในการนำสินทรัพย์ทั้งหมดของธุรกิจใช้ในการสร้างยอดขายและควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดสุทธิจากภาษีแต่ก่อนหักต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยจ่ายสุทธิจากภาษีที่ประหยัดได้) อัตราส่วนที่สูงแสดงว่าบริษัทมีความสามารถสูงในการนำสินทรัพย์ไปสร้างกำไรจากการดำเนินงาน

อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรให้แก่เงินทุนของผู้ถือหุ้น หากค่าที่ได้จากการคำนวณสูงแสดงว่าผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับเงินปันผลและผลตอบแทนที่สูง

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ แหล่งข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก