ปี 2558 ผ่านไปเข้าสู่ปี 2559 ผลประกอบการไตรมาส 1 ได้ประกาศออกมาครบทุกบริษัท ก็ถึงเวลาของ TerraBKK Research ที่จะได้อัพเดทผลประกอบการของไตรมาส 1 ประจำปี 2559 ของกลุ่มอุตสาหกรรม “ค้าปลีก” มีด้วยกันทั้งหมด 19 บริษัท ที่อยู่ในตลาด SET เท่านั้น ไม่ได้นำบริษัทในตลาด MAI เข้ามาวิเคราะห์ด้วย ในปี 2559 นี้ เรามาดูกันว่าผลงานของแต่ละบริษัทจะเป็นเช่นไร TerraBKK Research ได้รวบรวมข้อมูลมาดังต่อไปนี้

จากการสำรวจผลประกอบการกลุ่มค้าปลีก ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 พบว่า บริษัทที่มีการเติบโตทั้ง รายได้และกำไรสุทธิ รวมถึงมีตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี บริษัทเหล่านั้นคือ BIG, GLOBAL, KAMART, CPALL และ HMPRO เป็นต้น

รายได้ (Revenue) ในสภาวะที่หลายๆ คนต่างก็บ่นกันว่าเศรษฐกิจไม่ดี คนซื้อของน้อยลง แต่เมื่อเราดูรายได้ค้าปลีกแล้วกลับเติบโตต่อเนื่องสวนกระแสกับสภาวะเศรษฐกิจ ค้าปลีกที่ทางเรานำเสนอส่วนใหญ่จะมาจากหลายธุรกิจไม่ว่าจะเป็น ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก ค้ากล้องถ่ายรูป ค้าสินค้าไอที รวมถึงบริษัทขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงาม เป็นต้น เมื่อเราดูรายได้ของแต่ละบริษัทพบว่า บริษัทที่มีรายได้มากที่สุด คือ CPALL รายได้ไตรมาสเดียวสูงถึง 108,786 ล้านบาท รองลงมาคือ MAKRO รายได้ 42,578 ล้านบาท และอันดับสาม คือ BIGC รายได้ 32,890 ล้านบาท แต่ถ้าเราดูเรื่องการเติบโตของบริษัท (Revenue Growth) พบว่า บริษัท BEAUTY (+45.39% Y-o-Y), BIG (+42.09% Y-o-Y), MC (+26.25% Y-o-Y) และ SPC (+22.57% Y-o-Y) เป็นต้น

อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin : NPM) เป็นอัตราส่วนที่บอกถึงความสามารถในการทำกำไรของกิจการ (Profitability) ในกลุ่มค้าปลีกบริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิมากที่สุด คือ BEAUTY (24.39%) อันดับที่สองคือ KAMART (20.21%) อันดับที่สาม คือ MC (17.60%) บริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือ KAMART, BIG, GLOBAL ส่วนบริษัทที่อัตรากำไรสุทธิลดลง คือ MC, SPC, MAKRO, CSS และ IT

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset : ROA) เป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกิจการ (Efficiency) ว่า บริษัทสามารนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปสร้างผลตอบแทนได้มากน้อยขนาดไหน ยิ่ง ROA มีค่ามากแสดงว่าดี แต่ถ้า ROA ต่ำแสดงว่าไม่ดี บริษัทที่มี ROA อยู่ในระดับสูงมากกว่า 10% ได้แก่ BIG (40.59%), BEAUTY(38.11%), KAMART (28.28%), MC (15.86%), MAKRO (14.57%), ROBINS (12.63%), MEGA (12.27%), HMPRO (10.91%) และ COM7 (10.43%) ตามลำดับจากมากไปน้อย

อัตราผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) เป็นตัวชี้วัดถึงความสามารถในการสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น ยิ่งตัวเลขมากยิ่งดี บริษัทที่มีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนมากกว่า 15% ได้แก่BIG (75.21%), CPALL (38.04%), BEAUTY (37.33%), HMPRO (34.20%), KAMART (32.39%), COM7 (23.40%), HMPRO (21.25%), MC (18.09%), MEGA (16.55%), ROBINS (16.47%) และ BIGC (15.26%) ตามลำดับจากมากไปน้อย

กำไรต่อหุ้น (Earning per Share : EPS) กำไรต่อหุ้นเป็นอัตราส่วนที่บอกถึงผลตอบแทนของกำไรสุทธิต่อหนึ่งหุ้น บริษัทที่มีการเติบโตของกำไรสุทธิมากจะแสดงถึงความสามารถในการรับรู้กำไรต่อหนึ่งหุ้นที่มากขึ้นด้วย ดังนั้นเราจะให้ความสำคัญกับการเติบโตของกำไรต่อหุ้นเป็นหลัก บริษัทที่มีการเติบโตกำไรต่อหุ้นมากที่สุด (EPS Growth) คือ BIG (+250%), LOXLEY (+150%), GLOBAL (+85.71%), KAMART (+66.67%), CPALL (+18.42%), HMPRO (+16.67%), ROBINS (+12.73%), COL (+12.50%), SINGER (+11.11%), SPC (+9.88%), MEGA (+8.33%) และ BIGC (+4.57%)

หนี้สินต่อทุน (Debt to Equity) อัตราหนี้สินต่อทุนควรอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจาก การระดมทุนจากส่วนของหนี้สินมากๆ จะไม่ค่อยดีเนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินค่อนข้างมากและมีความเสี่ยงมากกว่า นอกจากนั้นบริษัทที่มีหนี้สินมากๆ จะไม่สามารถขอกู้จากสถาบันการเงินได้ทำให้บริษัทต้องหันมาระดมทุนจากผู้ถือหุ้นผ่านการออกหุ้นเพิ่มทุน ส่งผลให้จำนวนหุ้นมากขึ้น ถ้าบริษัทเอาเงินเพิ่มทุนไปแต่ไม่สามารถสร้างกำไรได้ดีจะส่งผลให้กำไรต่อหุ้นลดลงจากจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่จะไม่ชอบที่กำไรต่อหุ้นของตนเองลดลงในที่สุดมันจะถูกสะท้อนออกมายังราคาหุ้นที่ลดลง บริษัทที่มีอัตรากำไรต่อหุ้นเกิน 2 เท่า จะเป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงจะออกหุ้นเพิ่มทุน บริษัทเหล่านั้นได้แก่ CPALL (6.91 เท่า) และ MAKRO (2.12 เท่า) แต่อัตราหนี้สินต่อทุนของ CPALL มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง - เทอร์ร่า บีเคเค

อัตรากำไรสุทธิ จะแสดงถึง ความสามารถในการทำกำไรสุทธิของบริษัท เป็นการวัดความสามารถของบริษัทในการควบคุมรายจ่ายทุกประการทั้งดอกเบี้ยและภาษีเมื่อเทียบกับยอดขาย หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูงแสดงว่าบริษัทสามารถเปลี่ยนยอดขายให้เป็นกำไรสุทธิได้มาก

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) แสดงถึง สัดส่วนของเงินทุนจากการกู้ยืมต่อเงินทุนจากเจ้าของธุรกิจถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่าบริษัทมีการกู้ยืมเงินในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกับอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์

อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset:ROA) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมของบริษัท เป็นการวัดความสามารถในการนำสินทรัพย์ทั้งหมดของธุรกิจใช้ในการสร้างยอดขายและควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดสุทธิจากภาษีแต่ก่อนหักต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยจ่ายสุทธิจากภาษีที่ประหยัดได้) อัตราส่วนที่สูงแสดงว่าบริษัทมีความสามารถสูงในการนำสินทรัพย์ไปสร้างกำไรจากการดำเนินงาน

อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรให้แก่เงินทุนของผู้ถือหุ้น หากค่าที่ได้จากการคำนวณสูงแสดงว่าผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับเงินปันผลและผลตอบแทนที่สูง

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน แหล่งข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก