เมื่อ 1-2 ปีก่อน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหุ้นกลุ่มที่ร้อนแรงในตลาดหุ้นไทย คือ หุ้นในกลุ่มพลังงานทดแทน มีหลายบริษัทที่หันมาทำ โครงการพลังงานทดแทน ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนธุรกิจใหม่ ทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นมีหลายบริษัทที่ราคาตกลงมามาก

จริงๆแล้ว ธุรกิจพลังงานทดแทน นั้น มีโอกาสและความเสี่ยงอย่างไรบ้าง ก่อนอื่นผมขอแบ่งบริษัทเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ

  1. บริษัทที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ และบริษัทที่รับติดตั้งและขายอุปกรณ์
  2. บริษัทที่เป็นผู้พัฒนาโครงการ (หรือเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีมาใช้) เพื่อสร้างโรงไฟฟ้า

เนื่องจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยส่วนใหญ่จะเป็นข้อ 2 ในบทความนี้ผมจะเน้นในส่วนนี้ก่อน

ความเสี่ยงของการเป็นบริษัทพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน
  1. ใบอนุญาตรับซื้อไฟฟ้า (PPA) เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ขึ้นอยู่กับภาครัฐเป็นคนอนุมัติ การเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือการเปลี่ยนผู้มีอำนาจอนุมัติจึงเป็นความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
  2. ราคารับซื้อไฟฟ้า ถึงแม้จะได้รับใบอนุญาตแล้ว แต่ถ้าราคารับซื้อต่ำเกินไปก็อาจจะทำให้ขาดทุนได้ ผู้ที่ทำโครงการจะต้องคำนวณต้นทุนมาเป็นอย่างดี เพื่อที่จะไม่ขาดทุนเวลาผลิต
  3. ราคาของวัตถุดิบ ในกรณีของพลังงานลม แดด น้ำ อาจจะไม่ต้องกังวลมากนักเนื่องจากไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ แต่ในกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นจำเป็นจะต้องซื้อวัตถุดิบเพื่อเผาไหม้ ราคาวัตถุดิบจะผันผวนตามอุปสงค์และอุปทานในขณะนั้น ถ้าราคาวัตถุดิบถีบตัวสูงกว่าราคาขายไฟฟ้าแล้ว คงจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
  4. ความสม่ำเสมอ เช่นถ้าทำโรงไฟฟ้าพลังงานลมแล้วลมพัดน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือทำโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแต่ไม่สามารถจัดหาขยะมาป้อนโรงงานได้
  5. เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าและต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาแข่งขันอยู่เสมอ เห็นได้ชัดจากราคาแผงโซล่าร์เซล ที่ต่ำลงเรื่อยๆ จนทำให้ผู้ผลิตแผงรายใหญ่ของจีนถึงกับขาดทุน ลองนึกภาพว่าถ้าเราเป็นผู้ผลิต ลงทุนกับโรงงานมูลค่าหมื่นล้านแล้วอีกไม่นานมีเทคโนโลยีใหม่มาซึ่งดีกว่าและถูกกว่า คงจะทำให้แข่งขันในตลาดได้ยากมาก
  6. อุปกรณ์ที่ติดตั้งไปแล้วอาจจะมีการเสื่อม ทำให้กำลังการผลิตลดลงไม่เป็นไปตามเป้า หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษามากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นผู้ผลิตแผงโซล่าร์โฆษณาว่าแผงใช้ได้ 25 ปี แต่ในความเป็นจริงแล้วแผงมีการเสื่อมและกำลังการผลิตลดลง 5 เปอร์เซนต์ทุกปี ถึงแม้ว่าผู้ผลิตจะมีการรับประกัน แต่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าผู้ผลิตจะยังอยู่ไปอีก 25 ปี
  7. ที่ดินที่นำมาทำโครงการ จะต้องอยู่ในทำเลที่เหมาะสม เช่นพลังแสงอาทิตย์ก็ต้องมีแดดแรงสม่ำเสมอ พลังงานลมก็ต้องมีลมพัดแรงทั้งปี พลังงานขยะก็ต้องอยู่ใกล้แหล่งขยะ นอกจากนี้ควรจะต้องอยู่ใกล้สายส่งไฟฟ้าอีกด้วย มิฉะนั้นจะต้องมีการลงทุนสายส่งเพิ่มขึ้นมาอีก

ความเสี่ยงทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนควรพิจารณาก่อนที่จะลงทุน ว่าบริษัทนั้นๆ มีความสามารถในการบริหารจัดการสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ดีเพียงใด ตัวเลขที่ผู้บริหารแจ้งให้นักลงทุนทราบอาจจะยังไม่เพียงพอ นักลงทุนควรจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียด

ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์, CFA.

บทความโดย เทอร์ร่า บีเคเค ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์, CFA. Email : tanapoom@uchicago.edu