ในปัจจุบันในหลายวงการเริ่มให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญากันมากขึ้น ถึงแม้ทรัพย์สินประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้แต่ก็มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ ในวันนี้ TerraBKK Research จึงขอนำเสนอข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ให้ท่านผู้อ่านทุกคนได้ทราบกัน ซึ่งโดยหลักแล้วเจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ มีอยู่ 6 ประการ ดังนี้

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

1. ทำซ้ำ การทำซ้ำ หมายถึง การคัดลอก การเลียนแบบ การจัดทำสำเนางาน การทำแม่พิมพ์ การบันทึกเสียง และหรือการบันทึกภาพไม่ว่าจะทั้งหมดแต่บางส่วนของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ตนเป็นเจ้าของอยู่ แต่ขอให้สังเกตนิดนึงว่าบางครั้งเจ้าของลิขสิทธิ์กับเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นอาจเป็นคนละกันก็ได้ เจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้นที่จะมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ ส่วนเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์อาจมีเพียงกรรมสิทธิ์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น นายดำเป็นศิลปินวาดภาพบนผืนผ้าใบขึ้นมา 1 รูป แน่นอนว่ารูปภาพดังกล่าวย่อมเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายทันทีที่ได้ทำขึ้นโดยไม่ต้องทำการจดทะเบียนหรือดำเนินการตามขึ้นตอนของกฎหมายแต่อย่างใด และนายดำย่อมผู้สร้างสรรค์ย่อมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในรูปภาพดังกล่าว หากต่อมานายดำขายภาพนั้นให้กับนายแดง ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของนายดำไม่ได้โอนไปยังนายแดงด้วย นายแดงมีเพียงกรรมสิทธิ์คือเจ้าของรูปภาพดังกล่าวเท่านั้น แต่นายแดงไม่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะมีอำนาจทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่รูปภาพดังกล่าวเฉกเช่นนายดำได้ เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ท่านผู้อ่านต้องแยกให้ดีว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเป็นเพียงเจ้าของทรัพย์สินเพราะผลในทางกฎหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

2. ดัดแปลง การดัดแปลง หมายถึง การทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนที่เป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

ตัวอย่างเช่น นายดำนักวาดการ์ตูนได้นำวรรณกรรมเรื่อง Harry potter มาดัดแปลงวาดเป็นหนังสือการ์ตูนของตนเอง และนำไปจัดพิมพ์วางขายโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก J.K. Rowling เป็นต้น

3. เผยแพร่ต่อสาธารณชน การเผยแพร่ต่อสาธารณชน หมายถึง การทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนโดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพ การก่อสร้าง หรือการจำหน่าย

ตัวอย่างเช่น นายดำได้นำม้วนเทปภาพยนตร์ของนายแดงมานำออกฉายกลางแปลงให้กับประชาชนที่มาร่วมงานวัดได้เข้าชมโดยมีการเก็บค่าใช้จ่าย โดยนายดำไม่ได้รับอนุญาตจากนายแดงซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์นั้น เป็นต้น

4. ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานนั้นจำกัดไว้ที่งาน 4 ประเภทเท่านั้น คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง นั่นย่อมหมายความว่าผู้ที่ซื้องานอันมีลิขสิทธิ์ 4 ประเภทดังกล่าวนี้ไป นอกจากจะไม่สามารถทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่แล้ว ยังไม่สามารถนำงานอันมีลิขสิทธิ์ออกให้ผู้อื่นเช่าได้อีกด้วย

ตัวอย่างเช่น ร้านให้เช่าวีดิโอ ก่อนที่จะนำภาพยนตร์ที่ตนซื้อมานำออกให้ลูกค้าเช่าได้นั้นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์นั้นๆก่อน ซึ่งอาจจะทำให้รูปแบบของสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์กับเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น เป็นต้น

5. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น

ตัวอย่างเช่น นายดำเจ้าของรูปถ่ายซึ่งได้ถ่ายรูปจากประสบการณ์การเดินทางของตนเอง ได้อนุญาตให้สถาบันศิลปกรรมแห่งหนึ่งนำรูปถ่ายของตนนำออกแสดงให้ประชาชนได้รับชมโดยเก็บค่าเข้าชมได้ แต่มีข้อแม้ว่าค่าเข้าชมครึ่งนึงนั้นจะต้องมอบให้กับองค์กรสาธารณกุศล ดังนี้ องค์กรสาธารณกุศลดังกล่าวย่อมเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากรูปถ่ายซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของนายดำ เป็นต้น

6. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตามข้อ 1. ถึง ข้อ 5.

เจ้าของลิขสิทธิ์นอกจากจะมีสิทธิต่างๆตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ยังมีสิทธิในการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งของตนต่องานอันมีลิขสิทธิ์ได้อีกด้วย ไม่ว่าจำเป็นการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางาน หรือให้ประโยชน์อันเกิดจากงานลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่นก็ได้ ซึ่งอาจเป็นการให้สิทธิโดยเด็ดขาด หรือไม่เด็ดขาดก็ได้ หรืออาจเป็นการให้สิทธิแก่ผู้อื่นแต่เพียงผู้เดียวในชั่วระยะเวลาหนึ่งก็ได้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงเป็นรายๆ ไป

โดยสรุปคือ งานไม่ว่าจะเป็น งานวรรณกรรม โปรแกรมคอมพิวเตอร์ นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่ภาพแพร่เสียง รวมถึงการแสดงของนักแสดง ผลงานที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์งานเหล่านั้นย่อมเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทั้งสิ้น บุคคลใดที่ต้องการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานในผลงานดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนเสมอ มิฉะนั้นท่านอาจเข้าข่ายกระทำการอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ไม่ว่าจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นความผิดทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญา

สุดท้ายนี้ขอฝากเอาไว้ว่าหากท่านผู้อ่านไม่มั่นใจว่างานใดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ท่านต้องทำให้มั่นใจได้ว่าการกระทำของท่านต่องานอันมีลิขสิทธิ์นั้นไม่ได้ทำไปเพื่อแสวงหากำไรและให้อ้างอิงแหล่งที่มาของงานนั้นให้ชัดเจน เท่านี้ก็เพียงพอต่อการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะเอาให้ชัวร์ การได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นย่อมเป็นการกระทำที่ปลอดภัยที่สุด - เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก