กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เน้นรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ เมาแล้วขับ การขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งจะเห็นได้จากผลสำรวจทัศนคติความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโรคและภัย สุขภาพ หรือดีดีซีโพล(DDC Poll) ของกรมควบคุมโรค เรื่อง “อุบัติเหตุในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว” ที่พบว่าประชาชนร้อยละ 17.2 เคยขับรถหลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วเกิดอุบัติเหตุหรือเกือบเกิดอุบัติเหตุ, ประชาชนร้อยละ 21.1 เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะเดินทางบนรถทั้งเป็นผู้ขับขี่หรือผู้โดยสาร, ประชาชนร้อยละ 25.8 เคยใช้โทรศัพท์ขณะขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุหรือเกือบเกิดอุบัติเหตุ และประชาชนร้อยละ 19.4 เคยขับรถขณะง่วงนอนแล้วเกิดอุบัติเหตุหรือเกือบเกิดอุบัติเหตุ นพ.อำนวย กล่าวอีกว่า ขอแนะนำ 5 วิธีง่ายๆ แก้ง่วงนอนขณะขับรถทางไกล ดังนี้ 1.หาเครื่องดื่มมาช่วยเพิ่มความสดชื่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น ที่สามารถเพิ่มความสดชื่นและทำให้ตื่นตัวได้เป็นอย่างดี 2.หาของกินระหว่างขับ เช่น มันฝรั่ง ลูกอม หมากฝรั่ง นอกจากจะคลายหิวแล้ว ยังช่วยร่างกายตื่นตัวอีกด้วย 3.สร้างความสดชื่นด้วยการลดอุณหภูมิ ปรับความเย็นแอร์ลงหรือเร่งพัดลมแรงขึ้นหันเข้าหาตัว หรือลดกระจกลงเพื่อรับอากาศจากภายนอกบ้าง และควรเตรียมผ้าชุบน้ำไว้เช็คหน้าด้วย 4.เปิดเพลงฟัง จะช่วยสร้างความครื้นเครงและทำให้ตื่นตัวขณะขับรถ 5.ขยับร่างกายเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ การขับรถนานจะทำให้มีอาการง่วง การได้ขยับร่างกายเล็กๆน้อยๆ จะช่วยลดการเมื่อยล้า และเมื่อรู้สึกปวดเมื่อยให้ส่ายหัวบ้าง ยกมือ ยกแขน หรือเลื่อนเบาะที่นั่ง ปรับผนักพิง เพื่อไม่ให้อยู่ท่าเดิมนานๆ
อธิบดีคร. กล่าวว่า หากเกิดอาการง่วงนอน อ่อนเพลีย ก็ควรนอนหลับสักพัก แต่ต้องระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดจากการนอนเปิดแอร์และปิดกระจกในรถยนต์ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยพบว่ามีการเสียชีวิตจากการเปิดแอร์นอนในรถเกือบทุกปีอย่างน้อยปีละประมาณ 1-2 ราย ซึ่งอันตรายเกิดจากในขณะที่เราสตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้ ปิดกระจกมิดชิด เท่ากับว่าเป็นการนอนดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) โดยที่ก๊าซพิษเหล่านั้นจะไหลเวียนมาจากระบบแอร์ของรถยนต์ ที่มีการดูดอากาศจากภายนอกมาหมุนเวียนภายในรถ ทำให้คนที่นอนอยู่ในรถขาดอากาศหายใจ และอาจเสียชีวิตได้ ถ้าหากรู้สึกง่วงมากๆ และจำเป็นต้องนอนพักในรถยนต์ ควรหาที่จอดในที่โล่ง เมื่อจอดรถยนต์แล้วดับเครื่องยนต์ แง้มกระจกลงสักนิด 2-3 ซม. เพื่อระบายอากาศและรับลมจากภายนอก ห้ามเปิดแอร์และปิดกระจกโดยเด็ดขาด ให้ใช้พัดลมแอร์ช่วยให้หลับ ซึ่งพัดลมแอร์จะดูดอากาศมาหมุนเวียนในห้องโดยสาร แม้จะไม่เย็นเหมือนแอร์แต่ก็ทำให้หลับได้เช่นกัน และควรนอนพอให้หายอ่อนเพลียประมาณ 30-40 นาที เมื่อพร้อมแล้วจึงเดินทางต่อ

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.yaklai.com “5 เคล็ดลับ” ก่อน ขับรถ แก้ปัญหาง่วงเหงาหาวนอน