การจดจำและนำไปใช้ได้จริงเป็นส่วนสำคัญของการศึกษา ถ้าหากเราได้รับความรู้มาแต่ไม่นานก็ลืม แน่นอนว่าความรู้เหล่านั้นย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ดังนั้น “เทคนิคในการเรียนรู้และจดจำ” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรทราบไว้ ถ้าคุณกำลังอยากจะ “เรียนรู้” อะไรสักอย่าง ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าความรู้นั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรกคือความรู้แบบวิชาการเช่น ภาษา คณิตศาสตร์ หรือวิชาชีพ แบบที่สองคือทักษะการเรียนรู้ สถานการณ์การศึกษาในปัจจุบันนั้นน่าเป็นห่วงเพราะทุกคนมัวแต่ไปโฟกัสความรู้แบบแรก และนักเรียนนักศึกษารวมทั้งคนทั่วไปส่วนใหญ่ไม่สามารถจดจำความรู้ได้หมดจดครบถ้วน เรียกได้ว่าเรียนแค่ไม่กี่นาทีก็ลืมเพราะขาดทักษะและวิธีการที่ถูกต้องในการเรียนรู้ Annie Murphy Paul ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาได้วิเคราะห์ไว้ว่า “พ่อแม่ผู้ปกครองและสถาบันการศึกษาต่างให้ความสนใจแต่ความรู้แบบแรก เราพอใจที่จะพูดถึงข้อมูล สถิติ ตัวเลข และหลักการ แต่กลับมองข้ามคำแนะนำใน “การเรียนรู้” ให้ได้ผลอย่างแท้จริง” จากการวิจัยการศึกษาพบว่าความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษานั้นย่ำแย่ลงทุกวัน การท่องจำด้วยวิธีการผิดๆ ไม่ได้ช่วยเพิ่มพูนความรู้หรือช่วยให้สามารถนำความรู้ที่มีอยู่ไปใช้งานได้จริงแต่อย่างใด ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การฝึกฝนทักษะในการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เพื่อช่วยจดจำสิ่งที่เคยเรียนมา Henry Roediger และ Henry Roediger นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันและผู้เขียนหนังสือ Make It Stick: The Science Of Successful Learning ได้แจกแจง “ทฤษฎีการเรียนรู้” ไว้ 4 ข้อดังต่อไปนี้ บังคับให้ตัวเองจดจำ ในยามที่เรารู้สึกว่าการเรียนรู้นั้นยากเกินไป นั่นเป็นเพราะเราอยู่ในจุดสูงสุดของความสามารถเฉพาะตัวแล้ว เช่นเดียวกับการยกน้ำหนัก น้ำหนักมากที่สุดที่เรายกไหวย่อมทำให้เกิดความแข็งแรงอย่างถึงที่สุดเท่าที่ร่างกายจะทำได้ ดังนั้นเมื่อเรียนรู้อย่างเต็มที่แล้วจึงควรบังคับให้ตัวเองจดจำ แม้ฟังดูเหมือนง่ายแต่จริงๆ แล้วมันค่อนข้างยาก วิธีการที่ดีที่สุดวิธีการหนึ่งคือการจดบันทึกเช่นการทำการ์ดเตือนความจำและหมั่นหยิบมาท่องอย่างสม่ำเสมอ ต้องเชี่ยวชาญ เมื่อเราได้รับความรู้อะไรบางอย่างแล้วก็ควรจะจำและนำไปใช้ให้ได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นถ้าหากคุณกับลังจะขึ้นเครื่องบินแล้วต้องเดินออกไปยังประตู B44 การอ่านป้ายว่าเราต้องไปประตู B44 นั้นใครๆ ก็ทำได้ แต่เมื่อเดินออกจากจุดเช็คอิน แวะพักผ่อนซื้อของ สักพักคุณก็อาจจะลืม ดังนั้นคุณต้องนึกให้ออกว่าประตูที่ต้องไปคือ B44 และที่สำคัญคือต้องหาทางไปให้ถูกต้อง มิเช่นนั้นความรู้ที่เคยได้รับมาก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เชื่อมสิ่งเก่าและสิ่งใหม่เข้าด้วยกัน Make It Stick เขียนไว้ว่า “ยิ่งคุณสามารถอธิบายความรู้ใหม่ที่ได้รับมาโดยนำไปเชื่อมโยงกับความรู้เก่าที่มีได้มากเท่าไหร่ คุณยิ่งเข้าใจและจดจำ ‘ความรู้ใหม่’ ได้ดีขึ้นเท่านั้น” การโยงสิ่งหนึ่งเข้ากับสิ่งที่เราจดจำได้ดีอยู่แล้วจะช่วยให้เรานึกออกได้ง่ายขึ้นในครั้งต่อไป หาจุดเชื่อมโยงและความคล้ายคลึงระหว่างสิ่งต่างๆ เช่นอาจจะใช้การยกตัวอย่างให้ตรงกับสิ่งของในชีวิตประจำวัน แล้วจะพบว่าการจดจำสิ่งแปลกใหม่ให้ได้นั้นไม่ยากเลย ครุ่นคิดและมองย้อนกลับไป จากการศึกษาของ Harvard Business School พบว่า คนที่ใช้เวลาในการคิดย้อนไปถึงผลสำเร็จในแต่ละวันจะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้มากกว่าคนอื่นถึง 22.8%
Francesca Gino อาจารย์ประจำสถาบันธุรกิจฮาร์วาร์ดได้ให้ข้อสรุปไว้ว่า “เวลาที่คนเรามีโอกาสนึกย้อนไปถึงสิ่งที่ทำในแต่ละวัน สมรรถภาพในการทำงานจะเพิ่มขึ้น ผู้คนจะรู้สึกมั่นใจถ้าหากได้นึกถึงสิ่งที่ทำสำเร็จไปแล้ว และพวกเขาก็จะเพิ่มความสนใจในการเรียนรู้หรือทำสิ่งใหม่ๆ ครั้งต่อไปเช่นกัน” เพียงแค่ทำตามวิธีการเหล่านี้ ไม่ว่าการเรียนรู้สิ่งต่างๆ จะดูยากเย็นเพียงใด คุณก็จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน Source : BusinessInsider

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลจาก :