TerraBKK Research ได้รวบรวมผลประกอบการกลุ่ม "ธนาคาร (Bank)" ประจำไตรมาส 2 ปี 2559 ย้อนหลังไปจนถึงปี 2555 โดยในกลุ่มนี้มีทั้งหมด 11 บริษัท ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยตัวเลขทางการเงินที่เราได้รวบรวมมา ได้แก่ รายได้ อัตรากำไรสุทธิ อัตราผลตอบแทนจากส่วนของสินทรัพย์ อัตรากำไรต่อหุ้น และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน โดยตัวเลขเหล่านี้จะมีจุดประสงค์ในการบอกถึงสถานะการดำเนินงานที่แตกต่างกัน ตัวเลขทางการเงินเหล่านี้น่าจะช่วยให้ท่านที่สนใจที่จะติดตามผลการดำเนินงานได้รู้ถึงการเติบโตของแต่ละบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันว่าบริษัทใดสามารถสร้างผลประกอบการได้ดีกว่ากันเมื่อเทียบกับในอดีต สำหรับผลการดำเนินงานปี Q2/2559 มีรายละเอียดดังนี้

ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขการเงินในอดีต ดังนั้นผลประกอบการในอนาคตอาจจะไม่เหมือนกับในอดีตก็ได้เช่นกัน นักลงทุนควรที่จะศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุน

รายชื่อบริษัทในกลุ่มธนาคารที่ซื้อขายในตลาด SET

  1. BAY : ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  2. BBL : ธนาคารกรุงเทพ
  3. CIMBT : ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
  4. KBANK : ธนาคารกสิกรไทย
  5. KKP : ธนาคารเกียรตินาคิน
  6. KTB : ธนาคารกรุงไทย
  7. LHBANK : บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป
  8. SCB : ธนาคารไทยพาณิชย์
  9. TCAP : บริษัท ทุนธนชาต
  10. TISCO : บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป
  11. TMB : ธนาคารทหารไทย

จากการสำรวจผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ TerraBKK Research พบว่า ธนาคารที่สร้างผลตอบแทนได้สูง รายได้ กำไรเติบโต และมีความสามารถในการทำกำไร ได้แก่ KKP, LHBANK และ BAY

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

รายได้ (Revenue) รายได้ของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 2 ของปี 2559 TerraBKK Research พบว่า รายได้ของหลาย ๆ ธนาคารในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้วยังโตต่อเนื่อง โดยบริษัทที่มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นเรียงลำดับจากโตมากไปน้อยได้ดังนี้ LHBANK (+12.68% Y-o-Y), SCB (+6.05% Y-o-Y), KKP (+4.82% Y-o-Y), KBANK (+3.71% Y-o-Y), BAY (+3.01% Y-o-Y),CIMBT (+2.69% Y-o-Y) และ BBL (+1.30% Y-o-Y) ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทที่รายได้โตต่อเนื่องคือ KABNK, SCB, BAY,CIMBT และ LHBANK ส่วนปีนี้ TISCO รายได้ตกลงมากที่สุดในกลุ่มลบไป -6.94%

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin : NPM) จากการสำรวจพบว่า หลายบริษัทในกลุ่มธนาคารมีอัตรากำไรสุทธิลดลงโดยบริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิมากกว่า 20% ได้แก่ LHBANK, SCB, KKP, TISCO, KTB และ BBL แต่ถ้าหากดูแนวโน้มแล้ว SCB มี NPM ที่ลดลจากปีก่อน 2 ปีติดต่อกัน

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset : ROA) เป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์เพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่บริษัทยิ่ง ROA มีค่ามากแสดงว่า บริษัทสามารถนำสินทรัพย์ที่ตนเองมีอยู่นำมาสร้างผลตอบแทนได้มาก สำหรับธุรกิจธนาคารจะแตกต่างจากธุรกิจอื่นคือทรัพย์สินจะค่อนข้างมากทำให้ ROA อยุ่ในระดับที่ต่ำกว่าธุรกิจประเภทอื่น โดยอยู่ที่ประมาณ 1-2% เท่านั้น โดย KKP มี ROA สูงถึง 2.17% สูงที่สุดของกลุ่ม ส่วน CIMBT 0.47% ต่ำที่สุดของกลุ่ม

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

อัตราผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) เป็นตัวชี้วัดถึงความสามารถในการสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น ยิ่งตัวเลขมากยิ่งดี บริษัทที่มีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนมากกว่า 10% และมีแนวโน้ม ROEสูงขึ้น ได้แก่ LHBANK, KKP และ BAY ส่วน BBL และ CIMBT มี ROE ต่ำกว่า 10%

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

กำไรต่อหุ้น (Earning per Share : EPS) กำไรต่อหุ้นเป็นอัตราส่วนที่บอกถึงผลตอบแทนของกำไรสุทธิต่อหนึ่งหุ้น บริษัทที่มีการเติบโตของกำไรสุทธิมากก็จะแสดงถึงความสามารถในการรับรู้กำไรต่อหนึ่งหุ้นที่มากขึ้นด้วย ดังนั้นเราจะให้ความสำคัญกับการเติบโตของกำไรต่อหุ้นเป็นหลัก บริษัทที่มีการเติบโตกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) มากกว่า 15% ได้แก่ LHBANK (+100% Y-o-Y), KKP (+73.86% Y-o-Y), BAY (+22.03% Y-o-Y) และ TISCO (+20.80% Y-o-Y) ส่วนบริษัทที่มี EPS โตต่อเนื่อง ได้แก่ KKP, TCAP, BAY, LHBANK และ KTB

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

หนี้สินต่อทุน (Debt to Equity) อัตราหนี้สินต่อทุนควรอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการระดมทุนจากส่วนของหนี้สินมาก ๆ จะทำให้มีต้นทุนทางการเงินค่อนข้างมากและมีความเสี่ยงมากกว่า นอกจากนั้นบริษัทที่มีหนี้สินมาก ๆ จะไม่สามารถขอกู้จากสถาบันการเงินได้ ทำให้บริษัทต้องหันมาระดมทุนจากผู้ถือหุ้นผ่านการออกหุ้นเพิ่มทุน ส่งผลให้จำนวนหุ้นมากขึ้น ถ้าบริษัทเอาเงินเพิ่มทุนไปแต่ไม่สามารถสร้างกำไรได้ดีจะส่งผลให้กำไรต่อหุ้นลดลงจากจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่จะไม่ชอบที่กำไรต่อหุ้นของตนเองลดลงในที่สุดมันจะถูกสะท้อนออกมายังราคาหุ้นที่ลดลง แต่สำหรับธุรกิจธนาคารหนี้สินจะมากอยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดา มีภาระหนี้ที่นำไปสร้างรายได้ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ หุ้นกู้ เป็นต้น ทำให้ DE Ratio สูงกว่าปกติ โดย TCAP, LHBANK, CIMBT, KTB, TMB มี DE สูงเรียงจากมากไปน้อย - เทอร์ร่า บีเคเค

อัตรากำไรสุทธิ จะแสดงถึง ความสามารถในการทำกำไรสุทธิของบริษัท เป็นการวัดความสามารถของบริษัทในการควบคุมรายจ่ายทุกประการทั้งดอกเบี้ยและภาษีเมื่อเทียบกับยอดขาย หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูงแสดงว่าบริษัทสามารถเปลี่ยนยอดขายให้เป็นกำไรสุทธิได้มาก

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) แสดงถึง สัดส่วนของเงินทุนจากการกู้ยืมต่อเงินทุนจากเจ้าของธุรกิจถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่าบริษัทมีการกู้ยืมเงินในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกับอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์

อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset:ROA) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมของบริษัท เป็นการวัดความสามารถในการนำสินทรัพย์ทั้งหมดของธุรกิจใช้ในการสร้างยอดขายและควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดสุทธิจากภาษีแต่ก่อนหักต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยจ่ายสุทธิจากภาษีที่ประหยัดได้) อัตราส่วนที่สูงแสดงว่าบริษัทมีความสามารถสูงในการนำสินทรัพย์ไปสร้างกำไรจากการดำเนินงาน

อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรให้แก่เงินทุนของผู้ถือหุ้น หากค่าที่ได้จากการคำนวณสูงแสดงว่าผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับเงินปันผลและผลตอบแทนที่สูง

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน แหล่งข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก