จากลักษณะสังคมที่ผู้คนห่างเหินกันในปัจจุบัน ทำให้สถาบันครอบครัวไทยที่เป็นหน่วยพื้นฐานและเป็นหน่วยที่สำคัญที่สุดของสังคมอ่อนแอลงอย่างมาก เด็กและคนชราค่อนข้างเหงาและว้าเหว่ ขาดคนดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาคนรุ่นใหม่ที่ขาดความมั่นคงทางจิตใจ ขาดความอดทนรอคอย และความสามารถในการแก้ปัญหาในชีวิตต่ำลง ผู้สูงอายุ ที่มีจำนวนมากขึ้นอยู่กับความเหงา และมีปัญหาโรคซึมเศร้ามากขึ้น ขณะนี้ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ ที่รุนแรง และคาดว่าน่าจะใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นตัวเป็นปรกติได้ หลังเทศกาลสงกรานต์ผู้คนจำนวนไม่น้อยอาจไม่ได้กลับไปทำงานที่เดิมอีก เพราะถูกเลิกจ้าง ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ลำบากและสำคัญที่แต่ละคนต้องใช้กำลังใจอย่างสูง เพื่อมิให้เกิดความท้อแท้ ตั้งสติ แก้ไขปัญหาไปทีละเปลาะ ทีละขั้น ทีละตอน เพื่อที่จะนำนาวาชีวิตของตนเองและครอบครัวฝ่าวิกฤตไปให้ได้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวพระราชทานให้สังคมไทยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีประ โยชน์อย่างสูง ถ้าคนไทยนำไปถือปฏิบัติ กินใช้อย่างประหยัด กินอยู่อย่างพอเพียง จะช่วยให้แต่ละคนดำเนินชีวิตรอดผ่านวิกฤตไปได้และมีเวลาให้แก่กันและกันมากขึ้น ทั้งในครอบครัวและในชุมชน ครอบครัวที่แข็งแรงจะช่วยให้ทุกคนฝ่าวิกฤตในชีวิตไปได้ ในอดีตคนในครอบครัวมีเวลาให้กันมาก มีความใกล้ชิดเข้าอกเข้าใจกันดี สิ่งยั่วยุจากภายนอกก็มีไม่มาก ทำให้ปัญหาครอบครัวและสังคมไม่รุน แรงมากนัก ต่างกับปัจจุบัน สถาบันครอบครัวอ่อนแอลง นอกจากนี้สถาบันการศึกษาพัฒนาคนและสถาบันศาสนาที่เป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางใจของผู้คนในสังคมก็อ่อนแอลงเช่นกัน ทำให้ปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคมรุนแรงกว่าในอดีต แนวทางแก้ไขปัญหาที่สำคัญ เร่งด่วน และเริ่มต้นได้เลยคือ การทำครอบครัวให้แข็งแรง โดยการให้เวลาแก่กัน มีกิจ กรรมร่วมกัน โดยไม่ต้องใช้เงินทองมากมาย อาทิ การออกกำลังกายในสวนสาธารณะ การจ่ายตลาด ทำกับข้าวร่วมกัน ทำความสะอาดบ้านร่วมกัน ทำบุญตักบาตรร่วมกัน การมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน จะช่วยเพิ่มความใกล้ชิด ความสัมพันธ์ ความเข้าใจกัน และให้กำลังใจแก่กัน นอกจากการให้เวลาแก่กันแล้ว สมาชิกในครอบครัวก็ควรเพิ่มเติมความรู้ ความเข้าใจทางด้านจิตวิทยาของคนวัยต่างๆ เพื่อช่วยให้การพูดคุยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ดียิ่งขึ้น
บางคนอาจจะคิดว่าเรื่องครอบครัวทำไมต้องศึกษาหา ความรู้ด้วย เราก็เติบโตมาในครอบครัว เห็นมาตั้งแต่เด็ก ทำไมจะไม่รู้ว่าควรทำตัวอย่าง ไร ในความเป็นจริงก็คือ ถ้าเราต้องการผลลัพธ์ของครอบครัวให้ออกมาดี บรรยากาศดี การมีความรู้ที่ถูกต้องจะช่วยให้การดูแลและแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า เพราะครอบครัวแต่ละครอบ ครัว และแต่ละช่วงเวลาเป็นโจทย์คนละข้อ ต้องการวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน ครอบครัวที่มีลูกเล็ก ครอบครัวที่มีลูกเป็นเด็กโต เด็กวัยรุ่น ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ มีปัญหาสุขภาพ ปัญหาสมองเสื่อมหรือซึมเศร้า ก็ต้องการวิธีการดูแลที่แตกต่างกัน เด็กคือหน่อไม้อ่อนที่กำลังเติบโต หากดูแลให้ดีก็จะเป็นสมาชิกที่ดี มีคุณภาพของครอบครัวและสังคม ขณะที่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นผู้สูงอายุ เป็นผู้มีพระคุณ การได้มีโอกาสแสดงความกตัญญูกตเวที ดูแลท่านให้มีความสุข ไม่ว้าเหว่ ได้รับความอบอุ่นจากลูกหลาน ก็เป็นความงามอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมไทยเรา ถ้าทุกคนปฏิบัติได้ เราคงจะได้เห็นครอบครัวไทย ชุมชนไทย และสังคมไทยที่แข็งแรง และมีแต่ความเข้าใจกันกลับคืนมาเช่นในอดีต บทความโดย นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลจาก : “ครอบครัว” กับการดูแลสุขภาพจิต