5 ทำเล เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ
“ การเปลี่ยนแปลง ในบางครั้งนั้นหมายถึงการสร้างโอกาสที่ยิ่งใหญ่ ” จากจุดที่เล็กที่สุดหรือแม้แต่จุดที่ใหญ่คับฟ้า ทุกๆสิ่งบนโลกต่างล้วนข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องใหญ่ๆ ในระดับ “เมือง” ด้วยเช่นกัน ย้อนกลับไปประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว พื้นที่ที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางทั้งด้านธุรกิจและแหล่งงานของชาวกรุงเทพ คงหนีไม่พ้น เยาวราชและเจริญกรุง ที่แม้แต่ปัจจุบันก็ยังคงเหลือร่องรอยของความคึกคักในเชิงพาณิชยกรรมให้เห็นกันได้อย่างชัดเจนแต่ถึงแม้ย่านเยาวราชและเจริญกรุงจะเคยยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็ไม่อาจหนีพ้นความเปลี่ยนแปลงไปได้ เพราะถ้าหากพูดถึงพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ หรือที่เรียกกันว่า CBD (Central Business District) ของคนกรุงเทพในปัจจุบันแล้วละก็ ทุกคนคงร้องเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องเป็น สีลม สาทร เพลินจิต สุขุมวิทหรือสยาม อย่างแน่นอน ในด้านวิวัฒนาการของความเป็นเมือง (Urbanization) เพื่อควบคุมความเจริญให้มีความสมดุลแล้ว จึงต้องมีการคิดเผื่อในเรื่องของการกระจายความเจริญสู้พื้นที่อื่นเพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่นจนเกินไป ดังนั้น การมีเมืองหลายศูนย์กลาง (Polycentric) เพื่อรองรับการพัฒนาจึงเป็นเรื่องที่ตามมา TerraBKK Research จะพาไปดูกันว่า มีพื้นที่ในย่านใดบ้าง ที่น่าสนใจและครองตำแหน่ง New Lifestyle Hub ของมหานครกรุงเทพเอาไว้
พระราม9 : ขึ้นแท่น New CBD ของกรุงเทพมหานคร ขึ้นแท่นตัวเต็งผู้ครอบครองตำแหน่ง New CBD ไปแล้วสำหรับพื้นที่ย่าน “อโศก - พระราม9 - รัชดา” เพราะปัจจุบันทำเลแห่งนี้ได้กลายเป็นที่จับตามองจากกลุ่มทุนทั้งภายในไทยและต่างประเทศ เนื่องจากยังมีที่ดินว่างเปล่าหลายแปลงที่ยังรอคอยผู้พัฒนามาจับจอง และที่ดินของรัฐบาลเองก็เริ่มทยอยปล่อยออกมาให้เอกชนได้มีส่วนได้ร่วมพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับกฎหมายผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 ที่กำหนดให้อยู่ในเขตผังเมืองสีน้ำตาล ย.9 และเขตผังเมืองสีแดง พ.5 เป็นสัญญานที่ชี้ชัดว่าการพัฒนาของย่านนี้นั้นจะไม่หยุดอยู่แค่ปัจจุบันอย่างแน่นอน ทำเลทองเพราะไปได้ทั่วสารทิศ ใกล้ชิด CBD เป็นทำเลที่เป็นศูนย์รวมทางด้านการคมนาคมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมานคร เพราะทำเลนี้เพียงทำเลเดียวสามารถเชื่อมต่อออกไปได้ทั่วทุกสารทิศ ซึ่งช่องทางที่สำคัญที่ช่วยทำให้พื้นที่นี้เป็นทำเลทองของการคมนาคมได้แก่ ทางด่วนศรีรัช , รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) , รถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS)และโครงการในอนาคต รถไฟฟ้าสายสีส้ม การเกิดใหม่ของแหล่ง Office Building และ LifestyleService การพัฒนาในด้านแหล่งงานและการตอบสนอง lifestyle ในย่านนี้ยังคงเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดนิ่ง ทั้งโครงการที่เสร็จแล้วและกำลังดำเนินการ อย่าง AIA Capital Center, โครงการอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแห่งใหม่, Unilever Tower (Unilever Headquarter) ,The Ninth Tower , The Street ,G Tower, SHOW DC ,โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (สาขาใหม่)และ Singha Complex – Mix Used Development “รัชดา - ห้วยขวาง” ทำเลยอดฮิตนักธุรกิจจีน “สถานีพระราม9 - สถานีห้วยขวาง” กลายเป็นทำเลสุดฮิตของนักลงทุนชาวจีน ด้วยการที่มีแม่เหล็กดึงดูดที่สำคัญอย่าง สถานฑูตจีน ธนาคารแห่งประเทศจีน และ Duty Free สำหรับทัวร์จีน (ข้างอาคาร Unilever) อีกทั้งยังมีโครงการคอนโดมิเนียมจาก “เทียนเฉิน” การจับมือร่วมทุนกันระัหว่างประเทศไทย - จีน ซึ่งเป็นโครงการแรกที่จีนได้เข้ามาลงทุนในย่านพระราม9 และอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยตอกย้ำว่าชาวจีนนิยมอาศัยอยู่่ในทำเลนี้คือ การจับจองห้องชุดในหลายๆโครงการ ที่เห็นได้ชัดคือโครงการ “เบ็ล แกรนด์ พระราม 9 (Belle Grand Rama 9)” ที่ถูกสถานทูตจีนจับจองเพื่อเป็นที่พักสำหรับเจ้าหน้าที่สถานฑูตจีนกว่า 50 ครอบครัวอีกด้วย Mega Project เพิ่มมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ทำเลทอง- มักกะสันคอมเพล็กซ์ : ที่ดินมักกะสันจำนวน 497 ไร่ ที่ถูกนำมาเปิดประมูลให้แก่ภาคเอกชนพัฒนาโครงการ ปัจจุบันโครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์อยู่ในโครงการ PPP Fast Track ของรัฐบาล ซึ่งน่าจะได้เห็นความชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในอนาคต
- รถไฟฟ้าสายสีส้ม : อีกหนึ่งแผน PPP Fast Track ของทางกรุงเทพมหานคร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอเปิดประมูล ถ้าหากเปิดประมูลและก่อสร้าง จะช่วยเสริมศักยภาพที่ดินบริเวณให้เพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง เนื่องจากพาดผ่านสองจุดสำคัญ คือ บริเวณสถานีศูนย์วัฒนธรรมและบริเวณถนนพระราม9 นั่นเอง
- แผนพัฒนาที่ดินศูนย์ซ่อมบำรุงของ รฟม.ห้วยขวาง ถนนพระราม 9 : บริเวณที่ดินศูนย์ซ่อมบำรุงมีขนาดใหญ่ถึง 1,000 ไร่ ซึ่งใหญ่มากพอที่จะเหลือพื้นที่ว่างเปล่าจำนวนมาก ทาง รฟม. จึงมีแผนจัดสรรที่ดินดังกล่าวให้ภาคเอกชนนำไปพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ได้ จากการคาดการณ์ของ รฟม. ที่ดินผืนนี้จะสามารถสร้างรายได้ได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท
การเติบโตของคอนโดมิเนียม จาก โซน MRT เพชรบุรี ไปจนถึงโซน MRT ห้วยขวาง มีการเพิ่มขึ้นของราคาคอนโดมิเนียม (Capital Gain) ประมาณ 4.2-11% ต่อปี ซึ่งปัจจุบันคอนโดมิเนียมมือสองบริเวณย่านนี้มีราคาประมาณ 100,000-172,000 บาทต่อตารางเมตร อัตราค่าเช่าประมาณ 15,000-42,000 บาทต่อเดือน สามารถสร้างผลตอบแทนจากการเช่าได้เฉลี่ย 5.0-6.3% ต่อปีเลยทีเดียว หาก “ย่านอโศก - พระราม9 - รัชดา” เป็นตัวเต็งสำหรับตำแหน่ง New CBD ก็คงจะไม่ผิดอะไร เพราะความพร้อมทั้งในด้านแหล่งงาน การเดินทาง และ Lifestyle นั้นได้เติบโตขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในอนาคตพื้นที่ย่านพระราม9 คงจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ใหม่ที่ช่วยเติมเต็มสีสันให้กับการใช้ชีวิตของกรุงเทพมหานครได้อย่างแน่นอน
มนต์เสน่ห์ของเจ้าพระยา : ทวงบัลลังก์ “แลนด์มาร์คเมืองไทย” ยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านอาจทำให้บทบาทของเจ้าพระยานั้นลดทอนลงไปตามกาลเวลา ก่อนหน้านี้ไม่นานเจ้าพระยาเริ่มคลับคล้ายเป็นเพียงแค่สายน้ำที่ช่วยในการสัญจรและล่องเรือรับชมทิวทัศน์รอบแม่น้ำเท่านั้น จนกระทั่งบริเวณริมเจ้าพระยา ได้รับการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์และศูนย์การค้า ภาพของเจ้าพระยา “แลนด์มาร์ค” สำคัญของพระนครจึงได้กลับมาฉายชัดอีกครั้ง และเป็นเจ้าพระยารูปแบบใหม่ที่ผสม ความร่วมสมัย ได้อย่างกลมกล่อมพอดี “ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” เพิ่มเสน่ห์และคุณค่าการอยู่อาศัย การตั้งถิ่นฐานในอดีตมักจะพบเห็นได้มากที่บริเวณริมแม่น้ำ เช่นเดียวกันกับเจ้าพระยา ที่ได้มีการเพิ่มบทบาทของพื้นที่ริมน้ำมากขึ้น พิสูจน์ได้จากการจัดทำ “แผนแม่บทวิสัยทัศน์แห่งแม่น้ำเจ้าพระยา” ซึ่งเป็นโครงการที่ทางภาครัฐและเอกชนเห็นพ้องต้องกันในด้านการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ดำเนินการระหว่าง พ.ศ.2555 -2563 รวมมูลค่ากว่า 142,000 ล้านบาท โดยในส่วนของกรุงทเพฯ พื้นที่พัฒนาอยู่บริเวณตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร บนวิสัยทัศน์การพัฒนา “เชื่อมเมืองสู่น้ำ อนุรักษ์ภูมิทัศน์วัฒนธรรม” มหากาพย์การลงทุนฉบับใหม่เพิ่มมูลค่าให้ทำเลทอง นับตั้งแต่โครงการ ASIATIQUE The Riverfront ได้เปิดตัว สร้างความฮือฮาและผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยการันตีจากสถิติการเข้ามาใช้บริการทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่มากกว่ากลุ่มเป้าหมายที่คาดไว้ถึง 2-3 เท่าตัว โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทย 60% ชาวต่างชาติ 40% ซึ่งรายละเอียดโครงการบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งปัจจุบันและในอีก 3 ปี มีดังนี้
- ASIATIQUE The Riverfront ทุนจดทะเบียน 7,000 ล้านบาท เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน
- ASIATIQUE2 ทุนจดทะเบียน 2,000-3,000 ล้านบาท เป็นโครงการ Mixed-Use Development
- ICONSIAM ทุนจดทะเบียน 50,000 ล้านบาท เป็นโครงการ Mixed-Use Development
- Yodpiman River Walk ทุนจดทะเบียน 1,500 ล้านบาท
- The Landmark Waterfront ทุนจดทะเบียน 29,000 ล้านบาท เป็นโครงการ Mix-Used Development
อดปฏิเสธไม่ได้ว่า ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ที่ใครๆต่างก็อยากมีไว้ในครอบครองด้วยกันทั้งสิ้น เหตุผลนี้จึงมากเพียงพอที่จะทำให้มูลค่าของที่ดินในบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้นสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรถ้าพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะได้ตำแหน่งพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาไว้ในครอบครอง บางนา : การก้าวข้ามสู่ศูนย์การค้าระดับภูมิภาค ถ้าให้เปรียบเปรยในแง่ของการวางพื้นที่ยุทธศาสตร์เมืองแบบโบราณ ก็คงเปรียบได้ว่า “บางนา” เป็นดั่งหัวเมืองชั้นในที่มีความสำคัญทั้งการเป็นเมืองหน้าด่าน บทบาทของบางนาในปัจจุบันก็ยังคงเป็นเสมือนเงาของกรุงเทพ เมื่อกรุงเทพพัฒนาบางนาก็ย่อมก้าวหน้าตามไปด้วย จึงเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่จะทำให้ Developer ทั้งหลายให้ความสำคัญกับพื้นที่นี้ หัวเมืองด้านการค้า เนื่องจากพื้นที่บางนามีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมาก อีกทั้งยังมีสถานศึกษาและแหล่งงานที่เติบโตอย่างรวดเร็ว การรองรับในด้านบริการและการค้าจึงไม่ได้เป็นที่คลาดสายตาไปจากนักลงทุน ศักยภาพพื้นที่ของบางนา สามารถดึงดูดกำลังซื้อที่ไม่ใช่แค่เฉพาะกรุงเทพและในบางนาเอง แต่ยังครอบคลุมไปถึงจังหวัดปริมณฑลอื่นๆ ได้อีกด้วย โดย Mega Project จากภาคเอกชนที่ได้เปลี่ยนภาพให้บางนากลายเป็น Regional Shopping Center (ศูนย์การค้าระดับภูมิภาค) มีดังนี้
- Mega Bangnaหรือที่คุ้นตามากกว่าในนาม IKEA เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่บนเนื้อที่โครงการกว่า 250 ไร่
- The Bangkok Mallโครงการศูนย์การค้า ที่มีขนาดใหญ่กว่า Siam Paragon ถึง 3 เท่า อีกทั้งยังพ่วงไปด้วยสวนน้ำและสวนสนุก บนเนื้อที่โครงการกว่า 100 ไร่
- ยึดโยงพื้นที่สำคัญด้วยคมนาคมทางบก: เส้นทางเข้าออกบางนาสามารถgเชื่อมฝั่งตะวันออก (Eastern Seaboard) และ เชื่อมจากสนามบินสุวรรณภูมิสู่รถไฟฟ้า BTS หมอชิต-แบริ่ง ในอนาคต
- ศูนย์กลางการเดินทางระหว่างประเทศ : โครงการขยายปรับปรุงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส2 เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้กว่า 60 ล้านคนภายในปี 2562
- ส่วนรองรับสำหรับคนทำงานในพื้นที่สีม่วง
ข้อดีของบางนาคือ ติดกับสมุทรปราการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมซึ่งเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ ผนวกกับโครงการ Mega Project ทำให้บางนา มีแนวโน้มการเติบโตได้อีกไกล เห็นได้จากศูนย์การค้าระดับ “Regional Shopping Center” ที่พยายามยึดหัวหาดเพื่อแย่งชิงอุปสงค์และเป็น “การกีดกันการเข้ามาของคู่แข่ง (Barrier to Entry)” และมีแนวโน้มการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น
รังสิต : มหานครตอนเหนือของกรุงเทพ ในอดีต ปัจจัยที่สำคัญในการอพยพของผู้คนเข้าสู่บริเวณ “ทุ่งรังสิต” มีจุดเริ่มต้นจากการขุดคลองเพื่อส่งเสริมการทำเกษตรกรรม ทำให้บริเวณทุ่งรังสิตกลายเป็น ที่ดินผืนทอง ปัจจุบันย่านรังสิตไม่ได้เป็นเรื่องเกษตรกรรมอีกต่อไป แต่เป็นพื้นที่สำคัญทั้งในภาคอุตสาหกรรม การค้าส่งและบริการ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ สถานศึกษาระดับแนวหน้า ที่อยู่อาศัยทางเลือกใหม่ และเป็นพื้นที่การเชื่อมต่อการคมนาคมที่สำคัญระหว่างเมืองหลวงและเมืองรอบนอกอีกด้วย พื้นที่ของคนรุ่นใหม่หลากหลายสถาบัน เนื่องจากรังสิตเป็นพื้นที่ที่มีสถานศึกษาชั้นนำหลายแห่ง มีจำนวนนักเรียนนักศึกษาและบุคลากรกว่าแสนคน ทั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี ซึ่งทำให้เกิดแม่เหล็กดึงดูดการพัฒนาในด้านการตอบสนองไลฟ์สไตล์และการบริการภายในบริเวณสถานศึกษาเหล่านั้นด้วย ตลาดแหล่งงานและการค้าขนาดใหญ่ ยุทธศาสตร์ด้านพื้นที่รังสิตนั้นสามารถเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคอื่นๆได้อย่างสะดวก เป็นที่ตั้งของ ตลาดไท ตลาดกลางค้าส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่มีผู้ประกอบการกว่า 3,500 ราย ตลาดสี่มุมเมือง ที่ตอบสนองการจับจ่ายใช้สอยของคนในระดับย่านได้อย่างครบถ้วน และแหล่งงานด้านอุตสาหกรรมที่สำคัญอย่าง นิคมอุตสาหกรรมนวนครซึ่งเป็นแหล่งรวมคนทำงานตั้งแต่ระดับบริหารไปจนถึงแรงงานหลายหมื่นคน การคมนาคมที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ที่ไม่ไกลจากเมืองหลวง อีกทั้งยังเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อไปภาคอื่นๆได้อย่างสะดวก จึงทำให้รังสิตได้กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกเลือกในด้านการพัฒนาการคมนาคม อาทิเช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-รังสิต และ รังสิต-ธรรมศาสตร์ Highlight สำคัญของโครงการย่านรังสิตโครงการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร2 (Terminal 2) เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 11.5 ล้านคนต่อปี สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต2 มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาทปัจจุบันอยู่ในระหว่างการวางแผน การพลิกโฉม Lifestyle Center ทุกระดับ เนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกด้านของย่านรังสิต ทำให้ปัจจุบันชาวรังสิตไม่จำเป็นต้องเข้าไปในเมืองใหญ่เพื่อหา Lifestyle Service อีกต่อไป อีกทั้งยังเป็นอีกหลายพื้นที่ที่ Developer ได้จับจองและพร้อมจะพัฒนา ดังนี้
- Future City & ZPELL มูลค่าก่อสร้าง 5,300 ล้านบาทเป็นโครงการศูนย์การค้าที่ยกระดับ Brand ของสินค้ามากขึ้นเทียบเท่ากับศูนย์การค้าย่านใจกลางเมืองกรุงเทพ
- The Hub-Zeer มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท เป็นศูนย์การค้าด้าน IT ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
- BoBae Rangsit เฟส 2 มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท ศูนย์การค้าปลีกส่งเสื้อผ้าขนาดใหญ่
- Mega Rangsit หรือ IKEA บนที่ดินขนาด 900 ไร่ ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของการชะลอโครงการ เนื่องจากยังติดข้อจำกัดการพัฒนาในด้านผังเมือง
- Central M มูลค่าโครงการ 13,700 ล้านบาท ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของการชะลอโครงการ เนื่องจากยังติดข้อจำกัดการพัฒนาในด้านผังเมือง
ด้วยเหตุผลหลายประการดังกล่าว จึงทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่านรังสิตเป็นพื้นที่ที่มาความพร้อมทั้งในด้านแหล่งงาน การค้า บริการ สถานศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้รังสิตในปัจจุบันกลายเป็น “มหานครตอนเหนือของกรุงเทพ” อย่างสมบูรณ์
บางใหญ่ : ประตูสู่เขตเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) การพลิกโผครั้งสำคัญของ บางใหญ่ ทำเลที่ถูกจับจ้องว่าเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่จะสร้าง Lifestyle แห่งใหม่ใกล้กรุงเทพ เมื่อเม็ดเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมได้พาดผ่านบริเวณนี้ ทำให้ช่องทางการเชื่อมโยงของบางใหญ่นั้นไปได้ไกลถึงประเทศเมียนมาร์ ซึ่งปัจจัยนี้เองที่ทำให้ทำเลบางใหญ่ได้ดึงดูดสายตา Developer จำนวนมากได้อย่างง่ายดาย เปิดประตูการค้าสู่ตะวันตก บางใหญ่กลายเป็นทำเลที่จะพาการพัฒนาให้ก้าวไปได้ไกลกว่าเดิม เมื่อภาครัฐได้พัฒนาช่องทางการคมนาคมให้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยการันตีทิศทางการเจริญเติบโตของเมืองได้อย่างดี
- รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน ช่วยย่นระยะทางระหว่างกรุงเทพและต่างจังหวัดได้มากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่ม Traffic ให้กับทำเลย่านบางใหญ่ ให้มีศักยภาพรองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคตอีกด้วย
- Motorway สายบางใหญ่ – บ้านโป่ง – กาญจนบุรี เป็นแผนของกรมทางหลวง ลดระยะเวลการเดินทางระหว่าง จ.นนทบุรี - จ.กาญจนบุรี เหลือเพียง 55 นาที ทางผ่านของเส้นทางการท่องเที่ยวและเชื่อมไปถึงพื้นที่เศรษฐกิจทวายทางฝั่งเมียนมาร์ได้อีกด้วย
ศูนย์รวมสุดยอด Lifestyle แห่งอนาคต เมื่อบางใหญ่ไม่ได้ีเป็นพื้นที่ที่รองรับเฉพาะระดับเมืองแต่ไปไกลถึงในระดับอาเซียน ทำให้เกิดแม่เหล็กที่ดึงดูดกลุ่มผู้ใช้งานที่หลากหลายที่จะเปลี่ยนบางใหญ่ให้เป็น Regional Gateway ระดับประเทศ
- Central Westgate ศูนย์การค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพโซนตะวันตก ภายใต้แนวคิด “เมืองศูนย์รวมสุดยอด lifestyle แห่งอนาคตของเอเชีย” ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 13 ล้านคน
- MEGA west บางใหญ่ ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการวางแผนโครงการ
- Sothern Economic Corridor (SEC) เส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญสามารถเชื่อมระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา-เวียดนาม
ความน่าสนใจของทำเลบางใหญ่อยู่ที่การเป็นทางพาดผ่านของเส้นทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าหากโครงการพัฒนาต่างๆได้สำเร็จลุล่วงแล้ว ความคิดของการเป็น เมืองศูนย์รวมสุดยอด lifestyle แห่งอนาคตของเอเชียในย่านบางใหญ่ ก็จะไม่ใช่แค่จินตนาการอีกต่อไป -- เทอร์ร่า บีเคเค
บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก