ความเสี่ยงและผลตอบแทน จากการลงทุน
ใครหลายๆคนที่คิดจะลงทุนต่างก็มองที่ "ผลตอบแทน" จากการลงทุนเป็นอันดับแรกๆ ว่าเราจะทำอย่างไรให้เงินที่ตนเองลงทุนไปแล้วให้ได้ผลตอบแทนกลับมาให้สูงที่สุดในระยะเวลาอันสั้น จนลืมนึกถึงความเสี่ยงที่จะต้องแบกรับจากการลงทุนนั้นๆ ความเป็นจริงแล้วการลงทุนที่ถูกต้องเราควรจะต้องมองให้เห็นถึง "ความเสี่ยง" จากการลงทุนก่อน ก่อนที่เราจะเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ชิ้นนั้น ความเสี่ยงในที่นี้อาจจะหมายถึงความผันผวนของผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ ทำให้ต้องหันกลับมามองถึงตัวเราเองก่อนว่าเราสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยขนาดไหนเพื่อที่จะนำไปเลือกสินทรัพย์สำหรับการลงทุนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด โดยสามารถแยกลักษณะของการรับความเสี่ยงได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- Risk lover (ชอบความเสี่ยง) เป็นลักษณะของผู้ที่ชอบการลงทุนที่มีความผันผวนสูงกล้าได้กล้าเสีย รับความผันผวนของการขึ้นลงของผลตอบแทนได้ค่อนข้างมาก ทำให้การเลือกรูปแบบสินทรัพย์ที่จะลงทุนมีความหลากหลายและได้รับผลตอบแทนที่สูงควบคู่กับความเสี่ยงที่จะขาดทุนมากขึ้นอีกด้วย
- Risk averse (หลีกเลี่ยงความเสี่ยง) เป็นลักษณะของผู้ที่กลัวความเสี่ยงไม่ชอบอะไรที่เสี่ยงมากๆ ไม่ชอบความผันผวนของผลตอบแทน กลัวการขาดทุน ทำให้ช่องทางสำหรับการลงทุนของคนประเภทนี้จะเป็นในลักษณะที่ได้รับผลตอบแทนที่แน่นอน แต่เนื่องจากความเสี่ยงที่ต่ำ ทำให้ผลตอบแทนต่ำตามไปด้วย
จากคำกล่าวสำหรับการลงทุนที่คุ้นหู ว่า… “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” แล้วความเสี่ยงเหล่านั้นมีอะไรบ้าง?
- ความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk) เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน หรือความเสี่ยงที่เกิดจากลักษณะทางธุรกิจ
- ความเสี่ยงทางด้านการเงิน (Financial Risk) เป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับการสร้างภาระผูกพันทางด้านการเงิน แล้วบริษัทไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยตามภาระผูกพันได้
- ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity Risk) เกิดจากการไม่สามารถเปลี่ยนจากสินทรัพย์เป็นเงินสดได้ในเวลาที่รวดเร็ว
- ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน (Interest Rates Risk)
- ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Risk) ยิ่งในภาวะที่เงินเฟ้อสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงก็จะยิ่งลดลง
โดยสินทรัพย์แต่ละประเภทมีการจัดอันดับของความเสี่ยงสำหรับการลงทุนที่แตกต่างกัน ดังนี้
สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ จะเป็นสินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอทุกๆปี แต่ต้องแลกมาด้วยอัตราผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ ได้แก่ เงินฝากออมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินหลัง หุ้นกู้ของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงสูง(ดูได้จากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ) หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ปลอดภาระหนี้ (จากการใช้เงินสดในการลงทุน ทำให้ไม่มีภาระในการชำระหนี้)
สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลาง จะเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนของผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงขึ้นในระดับหนึ่ง แต่มีความผันผวนของราคา สินทรัพย์เหล่านั้นได้แก่ สินค้าโภคภัณฑ์ (ทองคำ, โลหะมีค่า เป็นต้น) อสังหาริมทรัพย์ที่มีภาระหนี้ต่ำ
สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง จะเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนของราคาค่อนข้างสูงมาก เช่นสินทรัพย์จำพวก ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) อสังหาริมทรัพย์ที่มีการขอกู้ค่อนข้างสูงแต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของแต่ละบุคคลด้วย
TerraBKK Research ขอแนะนำว่าการบริหารพอร์ตการลงทุนควรจัดสัดส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆให้เหมาะสมกับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลด้วย