“อย่าปล่อยให้ปัญหาเงินทุนขาดแคลน เป็นอุปสรรคเริ่มต้นธุรกิจ Startup ”

จากทิศทางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ ด้วยรูปแบบ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ใน 3 มิติสำคัญ ได้แก่ เปลี่ยนการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่ “สินค้าเชิงนวัตกรรม” , เปลี่ยนการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่ “การขับเคลื่อนด้วยภาคนวัตกรรมเทคโนโลยี” รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่ “ภาคบริการ” ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใต้โมเดลที่มีชื่อว่า “Thailand 4.0” ซึ่งนั้นเอง เป็นเหตุผลให้เชื่อว่า จะเกิดแพลทฟอร์มการสร้าง “New Startups” หลากหลายสาขา ในประเทศไทยมากขึ้น อาทิเช่น เทคโนโลยีการเกษตร (Agritech) , เทคโนโลยีสุขภาพ (Healthtech) , เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotech) , เทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) ,อี –คอมเมิร์ซ (E–Commerce) หรือ เทคโนโลยีการท่องเที่ยว (Traveltech) เป็นต้น
แน่นอนว่าเรื่องราวของเงินทุน ย่อมเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเริ่มต้นหรือดำเนินธุรกิจเหล่านี้ให้อยู่รอดต่อไปได้ ทางภาครัฐเอง ก็เล็งเห็นความสำคัญนั้น ไม่ได้นึงดูดายแต่อย่างใด TerraBKK Research สังเกตจาก โครงการสนับสนุน SMEs Startup จากหน่วยงานภาครัฐ อาทิเช่น โครงการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) , โครงการสินเชื่อประชารัฐเพื่อ SMEs ของ สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) เป็นต้น การร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธนาคารพาณิชย์ ทางด้านสินเชื่อ SMEs Startup ต่างๆ นอกจากนี้ยังมี แหล่งเงินทุนจากกลุ่มทุนเอกชนอื่น ๆ ที่พร้อมให้การสนับสนุนและเดินเคียงข้าง SMEs Startup รายละเอียดดังนี้

โครงการสนับสนุน SMEs Startup จากภาครัฐ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559 ที่ผ่านมา คณะทำงานด้านส่งเสริม SMEs & Start-up ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ สร้างสัญญาณที่ดีสำหรับแนวทางการส่งเสริม SMEs เน้นย้ำการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน อย่างการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกลุ่มภาคี 66 หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาคเอกชน , หน่วยงานภาครัฐ , สถาบันการศึกษา ,สถาบันการเงิน และบริษัทเอกชน ภายใต้ “สานพลังประชารัฐ ส่งเสริมวิสาหกิจ SMEs Start-up & Social Enterprises” ขับเคลื่อน 3 กลุ่มผู้ประกอบการ ได้แก่ กลุ่ม SMEs เช่น โครงการ Big Brother (พี่ช่วยน้อง), โครงการส่งเสริม SMEs เข้าถึงแหล่งทุน, โครงการ SMEs connect to the world, ส่งเสริม Branding SMEs ฯลฯ กลุ่ม Startup และ Innovation Driven Enterprise (IDE) เช่น การสนับสนุนและพัฒนาระบบนิเวศ (Eco-System) , การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (IDE Start-up)ฯลฯ รวมทั้ง กลุ่ม Social Enterprise (SE) เช่น การสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมและเศรษฐกิจฐานราก , การสนับสนุนด้านการเงิน (SE Funding) เป็นต้น เชื่อว่าการเริ่มต้นที่ดีครั้งนี้ ย่อมเป็นแนวทางส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ SMEs Startup อย่างแน่นอน
TerraBKK Research พบว่า สำหรับภาครัฐเอง ก็มีหน่วยงานที่รับบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับ SMEs Startup เช่นกัน อาทิเช่น บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) , สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) เป็นต้น เกิดเป็นโครงการดี ๆ ที่ให้การสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนในการเริ่มต้นธุรกิจ SMEs Startup โดยขอยกตัวอย่างโครงการล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2559 และยังคงดำเนินโครงการต่อไป จนกว่าจะเต็มวงเงินงบประมาณ รายละเอียดดังนี้
โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Start-up & Innovation ของ บสย.
จากมติ ครม.เห็นชอบดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Start-up & Innovation เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ( บสย. ) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 17 สถาบันการเงิน ด้วยวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถยื่นขอค้ำประกันสินเชื่อได้จนถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2561 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน โดยมีข้อมูลเบื้องต้นดังนี้
ลักษณะผู้ประกอบการที่สามารถเข้าร่วมได้
  • กรณี SMEs ที่เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ (ค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท) - SMEs ผู้ประกอบการรายใหม่ อายุกิจการไม่เกิน 3 ปี - SMEs ผ่านการฝึกอบรมหรืออยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเข้าร่วมการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการธุรกิจ จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานที่ บสย. เห็นชอบ
  • กรณี SMEs ที่เป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมเทคโนโลยี - ธุรกิจที่มีนวัตกรรม หรือสินค้า/บริการ/กระบวนการ แตกต่างจากเดิม โดยธนาคารเป็นผู้รับรองและยืนยัน (ค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท) - ธุรกิจที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยี ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติจากหน่วยงานรัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (SIPA) หรือ หน่วยงานที่ บสย. เห็นชอบ (ค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท)
วงเงินค้ำประกัน
  • ประเภทบุคคลธรรมดา : วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย ทั้งผู้ประกอบการใหม่ (Start-up SMEs) และผู้ประกอบการนวัตกรรมเทคโนโลยี (Innovation SMEs)
  • ประเภทนิติบุคคล : กรณีผู้ประกอบการใหม่(Start-up SMEs) วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย หากเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมเทคโนโลยี(Innovation SMEs) วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย
ระยะเวลาค้ำประกันและอัตราค่าธรรมเนียม ระยะเวลาการค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 10 ปี คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1-2 ต่อปีตลอดอายุ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคาร โดยฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อปีแรก

โครงการสินเชื่อประชารัฐเพื่อ SMEs ของ SMI
สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต(SMI) จับมือกับ 15 ธนาคาร ร่วมโครงการ “สินเชื่อประชารัฐเพื่อ SME” ด้วยวงเงินงบประมาณรวม 10,000 ล้านบาท ระยะสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 7 ปี โดยการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของธนาคาร โครงการนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 และจะดำเนินไปจนกว่าครบวงเงินงบประมาณ โดยมีข้อมูลเบื้องต้นดังนี้
  • ลักษณะผู้ประกอบการที่สามารถเข้าร่วมได้ กลุ่มลูกค้า SME ทีต้องการเงินทุนหมุนเวียน หรือเงินลงทุนในกิจการ
  • วงเงินสินเชื่อ วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 2 ล้านบาท
  • ระยะเวลาสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการกู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี สำหรับ 2 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 4.00% ต่อปี จากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว MRR (Minimum Retail Rate) หลักการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อและหลักประกันขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละธนาคาร

ส่งต่อ สินเชื่อ SMEs Startup ภาคธนาคารพาณิชย์

ภาคธนาคารพาณิชย์สานต่อโครงการภาครัฐที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทย SMEs Startup ใน รูปแบบสินเชื่อหลากหลายประเภท ตามวัตถุประสงค์ใช้เงินของเหล่า SMEs Startup อาทิเช่น เงินทุนสำหรับการปรับปรุงเครื่องจักรธุรกิจ , เงินทุนเพื่อการเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ , เงินทุนสำหรับการขยายขนาดธุรกิจ ไปตลอดจน ผู้ประกอบการ SMEs Startup ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ อาจมีหลักประกันไม่เพียงพอตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธนาคารพาณิชย์ เปิดโอกาสให้ บสย. เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อ สร้างความมั่นใจแก่ธนาคารพาณิชย์ในการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ง่ายมากขึ้น
TerraBKK Research ขอกล่าวว่า ผู้ประกอบการ SMEs Startup ไม่ควรปล่อยให้ปัญหาเงินทุน เป็นอุปสรรคในการเริ่มต้นธุรกิจ Startup โดยสามารถเลือกใช้สินเชื่อได้เลยว่า ต้องการสินเชื่อระยะสั้นหรือระยะยาว ต้องการสินเชื่อของธนาคารใด วงเงินสินเชื่อจะอยู่ในช่วงหลักแสนบาทไปจนถึงหลักสิบล้านบาท ระยะเวลาสินเชื่อ 2-10 ปี อัตราดอกเบี้ยตามแต่ธนาคารกำหนด ด้านหลักประกันจะเป็นการค้ำประกันของ บสย. รวมทั้ง ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ เงินฝาก พันธบัตร ฯลฯ โดยจะขอยกตัวอย่างสินเชื่อหลากหลายธนาคารพาณิชย์ ดังนี้

กลุ่มทุนเอกชน พร้อมเดินเคียงข้าง SMEs Startup

นอกจากความช่วยเหลือจากโครงการภาครัฐและการสนับสนุนสินเชื่อจากภาคธนาคารพาณิชย์แล้ว TerraBKK Research พบว่า ยังมีทางเลือกแหล่งเงินทุนอื่นสำหรับเหล่า SMEs Startup นั้นคือ บริษัทเงินทุนหรือองค์กรเอกชน ที่ให้ความสนใจและสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์ดี ๆ ไม่จำกัดเฉพาะแค่ด้านนวัตกรรม แต่อาจหมายรวมถึงธุรกิจสาขาอื่น ๆ ด้วย อาทิเช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) , ยูนิจิน เวนเจอร์ส (Unigin Ventures) และ ดิจิทัล เวนเจอร์ส (Digital Ventures) ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ , โครงการ Krungsri Uni Startup จากธนาคารกรุงศรีฯ และ กองทุน 500 Tuk Tuks เป็นต้น รายละเอียดดังนี้
  • สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
    สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นองค์กรมหาชนที่มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงห่วงโซอุปทาน (Supply Chain) เป็นห่วงโซ่มูลค่า ( Value Chain) โดยให้ความสำคัญกับนิยาม “นวัตกรรม (Innovation)” คือ สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม องค์กรนี้จัดทำโครงการสนับสนุน SMEs หลากหลายรูปแบบ รวมทั้งโครงการสนับสนุนเงินทุนแก่ SMEs Startup ด้วยเช่นกัน
    “โครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” เป็นรูปแบบเงินให้เปล่า วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี สำหรับ SMEs Startup ที่มีโครงการนวัตกรรมอยู่ระหว่างทดลองทดสอบ มีโมเดลต้นแบบหรือนำร่อง รวมทั้ง การต่อยอดงานวิจัยหรือพัฒนาสิ่งประดิษฐ์หรือสิทธิบัตรที่ผ่านการประเมินทางเทคโนโลยีแล้ว เป็นต้น
  • ยูนิจิน เวนเจอร์ส ( Unigin Ventures )
    ยูนิจิน เวนเจอร์ส (Unigin Ventures) เป็นองค์กรเอกชนที่พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs Startup ในประเทศไทยที่มีไอเดียและศักยภาพในการทำธุรกิจหลากหลายสาขา อาทิเช่น สาขาการผลิต , สาขาสื่อและสิ่งพิมพ์, สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร, สาขาการแพทย์ เป็นต้น
    ผู้ประกอบการ SMEs Startup ที่สนใจสามารถติดต่อผ่านหน้าเว็บไซต์ยูนิจิน เวนเจอร์ส โดยธุรกิจที่ได้รับการคัดเลือก จะแบ่งประเภทตามช่วงอายุของธูรกิจ อาทิเช่น ช่วงเริ่มต้น (EARLY STAGE) จะได้รับการช่วยเหลือลักษณะเป็นที่ปรึกษาและเงินทุนสนับสนุน1-5 แสนบาท หากเป็น ช่วงขยายธุรกิจ (SERIES STAGE) จะเป็นลักษณะช่วยเหลือด้านการตลาดประชาสัมพันธ์และสนับสนุนเงินทุนไม่จำกัดวงเงิน สำหรับ ช่วงสูงสุดของธุรกิจ (MEZZANINE STAGE) จะเป็นลักษณะที่ปรึกษาเข้าจดทะเบียนในตลาดทุน หรือการขยายไปยังสายธุรกิจใหม่ ฯลฯ และสนับสนุนเงินทุนไม่จำกัดวงเงิน เป็นต้น
  • ดิจิทัล เวนเจอร์ส ( Digital Ventures )
    ดิจิทัล เวนเจอร์ส ( Digital Ventures ) เป็นบริษัทสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 โดยเน้นความสำคัญในด้านการลงทุน การค้นคว้านวัตกรรม รวมถึง การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs Startup ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้าน Fintech เป็นสำคัญ ภายใต้การดำเนินงานบริษัทที่ถูกแบ่งเป็นหน่วยงานย่อย แน่นอนว่า ย่อมต้องมีหน่วยงานย่อยสนับสนุนรองรับด้าน SMEs Startup ด้วยเช่นกัน
    Digital Ventures Accelerator (DVA) เป็นโครงการบ่มเพาะความรู้พื้นฐานของการเป็นผู้ประกอบการอย่างเข้มข้น เป็นโครงการคัดเลือกผู้ประเกอบการ SMEs Startup สาขา financial technology และสาขาอื่น ๆ ในประเทศไทย ซึ่งเปิดตัวและรับสมัคร Batch 0 ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของปีที่ผ่านมา โดย10 ทีมสุดท้ายที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับ ทุนมอบให้เปล่า 300,000 บาท และเมื่อจบโครงการ มีโอกาสที่จะได้รับเงินทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท จากธนาคารไทยพาณิชย์อีกด้วย สำหรับผู้ประกอบการ SMEs Startup ที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการในปี 2560 นี้ ไม่ควรพลาดติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
  • โครงการ Krungsri Uni Startup
    ธนาคารกรุงศรีร่วมมือกับบริษัทในเครือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) เดินหน้าพร้อมสนับสนุนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิตอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาแอพพลิเคชั่นทางการเงิน หรือ Fintech Ecosystem สร้างความก้าวหน้าให้แก่ประเทศไทย
    โครงการ Krungsri Uni Startup เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 เป็นโปรแกรม Startup ระดับมหาวิทยาลัยแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย เปิดโอกาสให้นักศึกษาปี 3-4 จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ทีมละ 3-5 คนพร้อมด้วยอาจารย์ที่ปรึกษา 1 ท่าน ส่งผลงานการพัฒนาแอพพลิเคชั่นทางการเงินส่งเข้าประกวด 8 ทีมสุดท้ายที่ได้รับการคัดเลือก จะได้เข้ารับการอบรมจากผู้เชียวชาญด้าน Startup รวมทั้งรางวัลและเงินสนับสนุนต่าง ๆ มากมาย สำหรับปี2560 นี้ จะเปิดรับสมัครเดือนใดต้องติดตาม
  • 500 Tuk Tuks
    500 Tuk Tuks เป็นกองทุนย่อยในเครือ 500 Startups ของสหรัฐอเมริกา วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุนและส่งเสริมบริษัทด้าน Tech Startup ในประเทศไทยให้ก้าวต่อไปอย่างแข็งแรง เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 ด้วยมูลค่ากองทุน 300 ล้านบาทหรือ 10 ล้านเหรียญ ภายใต้การบริหารกองทุนโดยคุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ และ คุณกระทิง พูนผล
    ปัจจุบัน 500 Tuk Tuks ได้ทำการลงทุนบริษัท Startup ได้เรียบร้อยแล้ว 2 Batch รวม 20 บริษัท ในหลากหลายแวดวงธุรกิจ อาทิเช่น Claim Di – Mobile Application สำหรับการเคลมประกัน , Finnomena บริการด้านข้อมูลและเครื่องมือสำหรับนักลงทุน , Hubba ธุรกิจ Co-Working Space , stockRadars แอพตามหาหุ้นเด่น เป็นต้น สามารถติดตามข่าวสารได้ทางเฟสบุ๊ค 500 TukTuks และ เว็บไชต์ 500.co/500tuktuks-fund--เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก