สรุป ผลประกอบการ ปี 2559 “กลุ่มโรงแรม”
สรุป ผลประกอบการ ปี 2559 กลุ่มโรงแรม พบว่า โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา(CENTEL) ซึ่งมี Market cap. ใหญ่สุด ปิดรายได้ไปกว่า 1.99 หมื่นล้านบาท ทำกระแสเงินสดสุทธิสูงสุดในกลุ่ม ขณะที่ แชงกรี-ลา โฮเต็ล(SHANG) ทำอัตรากำไรสุทธิสูงสุด 24.26% ด้าน ดิ เอราวัณ กรุ๊ป(ERW) ก็มีแนวโน้มตัวเลขการเงินดีขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายอัตราส่วนการเงิน
TerraBKK Researchสังเกตการณ์ ผลประกอบการ บริษัทมหาชนกลุ่มอุตสาหกรรม “กลุ่มโรงแรม” จำนวน 10 บริษัทเปรียบเทียบพื้นฐานด้านราคา พบว่า บริษัทมหาชนอุตสาหกรรมนี้มักมี market cap. (ราคาปิดของหุ้น X ปริมาณหุ้นจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์) เฉลี่ยราว 2,650- 15,000 ล้านบาท และบริษัทมหาชนที่มี market cap. มากที่สุด คือ โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา(CENTEL) ราว 47,925 ล้านบาท ขณะที่ อัตราส่วน P/E (การเปรียบเทียบราคาตลาดของหุ้นสามัญต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นสามัญตัวนั้น ๆในรอบ 12 เดือน) มีช่วงเฉลี่ยกว้างมาก 27.3-190.3เท่า อัตราส่วนสูงสุดจะเป็นเอเชียโฮเต็ล (ASIA) อัตราส่วน P/BV (การเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นสามัญต่อมูลค่าทางบัญชีของหุ้นสามัญตัวนั้น ๆ) เฉลี่ย 0.95-3.45 เท่า อัตราส่วนสูงสุดจะเป็นโอเอชทีแอล(OHTL) อัตราเงินปันผลตอบแทน (การเปรียบเทียบเงินปันผลต่อหุ้นเทียบกับราคาตลาดของหุ้นสามัญตัวนั้น ๆ) เฉลี่ย 1-2 % โดยบริษัทที่มีอัตราปันผลสูงสุดจะเป็น แชงกรี-ลา โฮเต็ล(SHANG) 2.9%
TerraBKK Researchรวบรวม ผลประกอบการ บริษัทปี 2559 ของกลุ่มอุตสาหกรรม “โรงแรม ”จำนวน 10 บริษัทประกอบด้วยตัวเลขและอัตราส่วนทาการเงิน ได้แก่ รายได้ (Revenue) ,อัตรากำไรสุทธิ (NPM) ,กำไรต่อหุ้น (EPS) , เงินสดสุทธิ (Net Cash Flow ) , อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE),อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) และหนี้สินต่อทุน ( D/E ) รายละเอียดดังนี้
1. รายได้ (Revenue) ของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม ปี2559 ที่ผ่านมา TerraBKK Research พบว่ามีทั้งบริษัทที่สามารถสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้นและลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทที่สามารถทำรายได้สูงโดดเด่นของกลุ่ม จะเป็นโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา(CENTEL)ระดับหมื่นล้านบาท รองลงมาจะเป็น ดิ เอราวัณ กรุ๊ป(ERW) และ ดุสิตธานี(DTC) และ บริษัทที่มีเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของรายได้เพิ่มขึ้นสูงสุดจากปีก่อน ได้แก่ โอเอชทีแอล(OHTL)เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7% และ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป(ERW)เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6% จากปีก่อน
2.อัตรากำไรสุทธิ ( Net Profit Margin : NPM) ปี 2559 ของอุตสาหกรรมนี้ โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอัตรากำไรสุทธิราว 6.8% โดย 3 อันดับแรกที่มีอัตราส่วนกำไรสุทธิดีที่สุด ได้แก่ แชงกรี-ลา โฮเต็ล(SHANG) 24.26% ,โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย)(ROH) 12.26% และโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา(CENTEL) 9.28% ขณะเดียวกัน TerraBKK Research สังเกตเห็นบริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิลดลงอย่างเห็นได้ชัด นั้นคือเอเชียโฮเต็ล (ASIA) 0.26% (ปี58 = 21.71%)
3. กำไรต่อหุ้น (Earning per Share : EPS)สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม ปี 2559 นี้มีทั้งตัวเลขที่ปรับตัวดีขึ้นและแย่ลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ TerraBKK Research เห็นบริษัทที่มีตัวเลขกำไรต่อหุ้น ปี 2559 สูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ โอเอชทีแอล(OHTL)10.11 บาทต่อหุ้น ,แชงกรี-ลา โฮเต็ล(SHANG) 4.44 บาทต่อหุ้น และ ลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ โฮเท็ล(LRH) 2.28 บาทต่อหุ้น
4. อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) ปี 2559 ของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ มีค่าเฉลี่ยราว 5.25% TerraBKK Research พบว่า 3 อันดับแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ โฮเท็ล(LRH) และ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป(ERW) รวมทั้ง แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) ที่สามารถพลิกจากตัวเลขติดลบกลายมาเป็นตัวเลขบวกได้ ขณะเดียวกัน บริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นลดลง3 อันดับแรก เมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ เอเชียโฮเต็ล (ASIA) , ดุสิตธานี (DTC) และ แชงกรี-ลา โฮเต็ล(SHANG)
5. อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset : ROA)ของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรมนี้ TerraBKK Research โดยภาพรวมปี 2559 มีค่าเฉลี่ยราว 4.75% สำหรับ 3 อันดับแรกที่มีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สูงสุด ได้แก่โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย)(ROH) 12.75%, โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา(CENTEL) 10.92% และโอเอชทีแอล(OHTL) 9.84% โดยแมนดารินโฮเต็ล(MANRIN) ปรับตัวเพิ่มสูงสุด และ เอเชียโฮเต็ล (ASIA) ปรับตัวลงแรงที่สุด เมื่อเทียบกับปีก่อน
6. เงินสดสุทธิ (Net Cash Flow ) แสดงการเคลื่อนไหวของเงินทุนผ่านการดำเนินงานของบริษัททั้ง 3 กิจกรรม อันได้แก่ กิจกรรมดำเนินงาน ,กิจกรรมลงทุน,กิจกรรมจัดหาเงิน โดยบริษัทที่มีเงินสดสุทธิโดดเด่นได้แก่ โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา(CENTEL) ด้วยตัวเลขราว 700 ล้านบาททั้งนี้ หากผลลัทธ์ออกมาเป็นตัวเลขติดลบ TerraBKK Research อธิบายว่า ขณะนั้นบริษัทมีสถานะเงินสดไหลออกมากกว่าเงินสดไหลเข้า จุดนี้เองอาจส่อสัญญาณขาดสภาพคล่องในการดำเนินงานได้ ซึ่งพบว่า 3 อันดับแรกที่มีตัวเลขเงินสดสุทธิติดลบมากที่สุด ได้แก่ แชงกรี-ลา โฮเต็ล(SHANG) , และ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป(ERW) และ ลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ โฮเท็ล(LRH) ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากกิจกรรมจัดหาทุน เช่น เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน , เงินปันผลจ่าย , ดอกเบี้ยจ่าย เป็นต้น
7. หนี้สินต่อทุน ( Debt to Equity : D/E ) ของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรมปี 2559 นี้ส่วนใหญ่มีค่าไม่เกิน 2 เท่า ถือว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ทั้งนี้ พบ 2 บริษัทที่สังเกตเห็นตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นั้นคือ แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) และโอเอชทีแอล(OHTL) --เทอร์ร่า บีเคเค
บทความโดย : TerraBKKเคล็ดลับการลงทุน TerraBKKค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.