สรุป ผลประกอบการ ปี 2559 “กลุ่มบรรจุภัณฑ์”
สรุป ผลประกอบการ ปี 2559 “กลุ่มบรรจุภัณฑ์” พบว่า โพลีเพล็กซ์(PTL) ทำรายได้สูงสุดในกลุ่ม 1.23 หมื่นล้านบาท ขณะที่บริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขรายได้สูงสุด คือ นิปปอน แพ็ค(NPP) ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจากปีก่อน ด้านอัตราส่วนกำไร ROE และ ROA 3 อันดับสูงสุด ยังคงตกเป็นของ สหมิตรถังแก๊ส(SMPC) ,ทานตะวันอุตสาหกรรม(THIP) และ อลูคอน(ALUCON) อย่างเหนียวแน่นด้านกระแสเงินสดสุทธิสูงสุด คือ ทีพีบีไอ(TPBI) 337.5 ล้านบาท ด้านอัตราปันผลสูงสุดจะเป็น ทีพีบีไอ(TPBI) 7.76% ส่วนแนวโน้มความเสี่ยง D/E สูงสุด คือไทยฟิล์มอินดัสตรี่(TFI) 2.34 เท่า
TerraBKK Research สังเกตการณ์ ผลประการ บริษัทมหาชนในกลุ่มอุตสาหกรรม “บรรจุภัณฑ์” จำนวน 17 บริษัท เปรียบเทียบพื้นฐานด้านราคา พบว่า บริษัทธุรกิจกลุ่มบรรจุภัณฑ์มักมี market cap. (ราคาปิดของหุ้น X ปริมาณหุ้นจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์) ของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้มีตั้งแต่หลักร้อยไปจยหลักหมื่นล้านบาท โดยบริษัทมหาชนทีมีขนาดระดับหมื่นล้านบาท ได้แก่ โพลีเพล็กซ์(PTL) และ อลูคอน(ALUCON) ขณะที่ อัตราส่วน P/E (การเปรียบเทียบราคาตลาดของหุ้นสามัญต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นสามัญตัวนั้น ๆในรอบ 12 เดือน) เฉลี่ย 10.5-22.5 เท่า อัตราส่วนสูงสุดจะเป็น ไทยบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์(TPP)อัตราส่วน P/BV (การเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นสามัญต่อมูลค่าทางบัญชีของหุ้นสามัญตัวนั้น ๆ) เฉลี่ย 1-3 เท่า อัตราส่วนสูงสุดจะเป็น สหมิตรถังแก๊ส(SMPC)อัตราเงินปันผลตอบแทน (การเปรียบเทียบเงินปันผลต่อหุ้นเทียบกับราคาตลาดของหุ้นสามัญตัวนั้น ๆ) เฉลี่ย 2-4% โดยบริษัทที่มีอัตราปันผลสูงสุด คือ ทีพีบีไอ(TPBI) 7.76%
TerraBKK Researchรวบรวมผลประกอบการ ปี 2559 ของกลุ่มอุตสาหกรรม “บรรจุภัณฑ์”ทั้งสิ้น 17 บริษัทประกอบด้วยตัวเลขและอัตราส่วนทาการเงิน ได้แก่ รายได้ (Revenue) ,อัตรากำไรสุทธิ (NPM) ,กำไรต่อหุ้น (EPS) , เงินสดสุทธิ (Net Cash Flow ) , อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE),อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) และหนี้สินต่อทุน ( D/E) รายละเอียดดังนี้
1. รายได้ (Revenue)ของกลุ่มอุตสาหกรรมกลุ่มบรรจุภัณฑ์ปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่เป็นบริษัทมหาชนที่สร้างตัวเลขรายได้อยู่ในระดับพันล้านบาทต่อปี ซึ่งเพียงบริษัทเดียวที่มีตัวเลขรายได้สูงระดับหมื่นล้านบาท ทิ้งห่างจากกลุ่ม นั้นคือ โพลีเพล็กซ์(PTL) ทำรายได้สูงสุดในกลุ่ม 1.23 หมื่นล้านบาท และบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขรายได้สูงสุด คือ นิปปอน แพ็ค(NPP) ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจากปีก่อน (ปี 58= 350.95 ล้านบาท ,ปี59 = 1,020.76 ล้านบาท)
2.อัตรากำไรสุทธิ ( Net Profit Margin : NPM)ปี2559 ของอุตสาหกรรมนี้ ส่วนใหญ่มีการปรับตัวดีขึ้น โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอัตรากำไรสุทธิราว 6.2% โดย 3 อันดับแรกที่มีอัตราส่วนกำไรสุทธิดีที่สุด ได้แก่ อลูคอน(ALUCON) 17.2% , อุตสาหกรรมถังโลหะไทย(TMD) 15.9% และ สหมิตรถังแก๊ส(SMPC) 15%ขณะเดียวกัน บริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือ ไทยฟิล์มอินดัสตรี่(TFI) พลิกตัวเลขจากบวกไปเป็นติดลบ (ปี 58= 0.7% ,ปี59= -6.81%)
3. กำไรต่อหุ้น (Earning per Share : EPS) สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมกลุ่มบรรจุภัณฑ์ในช่วงปี 2559 นี้ มีช่วงตัวเลขค่อนข้างกว้าง เนื่องจากราคาหุ้นในตลาดของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ มีตั้งแต่หลักต่ำบาทไปจนถึงหลักร้อยบาทต่อหุ้น ทั้งนี้ สำหรับบริษัทที่มีตัวเลขกำไรต่อหุ้นปี 2559 สูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ทานตะวันอุตสาหกรรม(THIP) 40.5 บาทต่อหุ้น ,อลูคอน(ALUCON) 24.76 บาทต่อหุ้น และไทย โอ.พี.พี. (TOPP) 18.23 บาทต่อหุ้น
4. อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) ปี 2559 ของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ มีค่าเฉลี่ยราว 7.35% โดย 3 อันดับแรกที่มีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นดีที่สุด ได้แก่ สหมิตรถังแก๊ส(SMPC) 45.9% ,ทานตะวันอุตสาหกรรม(THIP) 26.4% และ อลูคอน(ALUCON) 22.2% ขณะเดียวกัน บริษัทที่มีเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นโดดเด่น 3 อันดับ ได้แก่ เอ.เจ.พลาสท์ (AJ) (ปี 58= 0.12%,ปี 59= 3.76%), สาลี่ พริ้นท์ติ้ง(SLP) (ปี 58= 4.4% ,ปี 59= 7.35%) และ อุตสาหกรรมผ้าเคลือบพลาสติกไทย (TCOAT) (ปี 58= 6.16% ,ปี 59= 9.56%)
5. อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset : ROA)ของกลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ปี 2559 นี้ พบทั้งตัวเลขดีขึ้นและแย่ลงเมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาพรวมปี 2559 มีค่าเฉลี่ยราว 8% สำหรับ 3 อันดับแรกที่มีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สูงสุด ได้แก่ สหมิตรถังแก๊ส(SMPC) 34.9%, ทานตะวันอุตสาหกรรม(THIP) 25.3% และ อลูคอน(ALUCON) 20.6%
6. เงินสดสุทธิ (Net Cash Flow ) แสดงการเคลื่อนไหวของเงินทุนผ่านการดำเนินงานของบริษัททั้ง 3 กิจกรรม อันได้แก่ กิจกรรมดำเนินงาน ,กิจกรรมลงทุน,กิจกรรมจัดหาเงิน บริษัทที่มีกระแสเงินสดสุทธิสูงสุด ได้แก่ ทีพีบีไอ(TPBI) 337.5 ล้านบาท ทั้งนี้ หากผลลัทธ์ออกมาเป็นตัวเลขติดลบแสดงว่า ขณะนั้นบริษัทมีสถานะเงินสดไหลออกมากกว่าเงินสดไหลเข้า จุดนี้เองอาจส่อสัญญาณขาดสภาพคล่องในการดำเนินงานได้ ทั้งนี้พบว่า 3 อันดับแรกที่มีตัวเลขเงินสดสุทธิติดลบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ศรีไทยซุปเปอร์แวร์(SITHAI), โพลีเพล็กซ์(PTL) และ ฝาจีบ(CSC) ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากกิจกรรมลงทุน เช่น เงินสดจ่ายจากการซื้อที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ , เพิ่มขนาดเงินลงทุนระยะสั้น เป็นต้น กิจกรรมจัดหาเงิน เช่น คืนเงินกู้ยืมระยะยาวสถาบันการเงิน เป็นต้น
7. หนี้สินต่อทุน ( Debt to Equity: D/E )ของกลุ่มบรรจุภัณฑ์ปี 2559 นี้ เกือบทุกบริษัทในกลุ่มนี้ มีค่าไม่เกิน 2 เท่า ถือว่ามีการบริหารความเสี่ยงด้านโครงสร้างเงินทุนค่อนข้างดี มีเพียงไทยฟิล์มอินดัสตรี่(TFI) 2.34 เท่า มีความเสี่ยงที่สุดในกลุ่มนี้ --เทอร์ร่า บีเคเค
บทความโดย : TerraBKKเคล็ดลับการลงทุน TerraBKKค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.