กองทุนระดับร้อยล้านพันล้านเขาบริหารกันอย่างไร : ตอนที่ 3 ขั้นตอนการทำ Asset Allocation
ในบทความที่ผ่านมาได้มีการแนะนำการทำ Asset Allocation แล้ว ในบทความนี้จะลงรายละเอียดขั้นตอนในการทำ Asset Allocation กันครับ
ขั้นตอนในการทำ Asset Allocation
- วางเป้าหมายในการลงทุนให้ชัดเจน ว่าต้องการนำผลตอบแทนไปทำอะไร และต้องการผลตอบแทนปีละกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป้าหมายนี้จะต้องเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ (ไม่ใช่ตั้งเป้าสูงเกินจริง) และสอดคล้องกับแผนในการใช้เงินในอนาคต
- พิจารณาความเสี่ยงที่รับได้ (โดยไม่มีความลำเอียง) นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้มาก แต่เมื่อถึงเวลาที่มีความผันผวนเกิดขึ้นอาจจะไม่สามารถทนความผันผวนนั้นได้ ดังนั้นจึงควรที่จะประเมินความเสี่ยงที่รับได้โดยถามตัวเองว่าเงินทุนก้อนนี้ถ้าหากต้องสูญเสียไปจะสามารถรับความสูญเสียนั้นได้หรือไม่
- ข้อจำกัดในการลงทุน เช่นถ้าหากว่าต้องมีการใช้เงินก้อนในระยะเวลาข้างหน้า ระหว่างที่ลงทุนอยู่ จะต้องนำเข้ามาพิจารณาด้วย
- คาดการณ์ ผลตอบแทน ความผันผวน ของสินทรัพย์หลักที่จะลงทุน รวมถึงความสัมพันธ์ของผลตอบแทน (correlation) ของสินทรัพย์แต่ละคู่ด้วยว่าไปในทิศทางเดียวกันหรือตรงกันข้ามกัน ซึ่งเราชอบที่จะเห็นความสัมพันธ์ของผลตอบแทนของสินทรัพย์แต่ละคู่ไปในทิศทางตรงกันข้ามกันมากกว่า เนื่องจากจะเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดี
- นำข้อสมมุติฐานจากข้อ 4 มาคำนวณหาสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม (สัดส่วนที่ทำให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ภายใต้ความเสี่ยงที่จำกัด) ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยการทำ optimization (การหาสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมที่สุด)
- ปรับสัดส่วนการลงทุนตามสภาวะเศรษฐกิจและข้อมูลปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องอาศัยการประเมินสถานการณ์ทางด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคแล้วปรับให้เป็นกลยุทธ์เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการปัจจุบัน
- เลือกกองทุนภายใต้สัดส่วนที่วางแผนเอาไว้ เช่นถ้าหากเราต้องการจะลงทุนในหุ้น 30% ของพอร์ต ก็จะต้องพิจารณาเฟ้นหากองทุนที่มีผลประกอบการที่ดี มีนโยบายการลงทุนอยู่ในภูมิภาคที่เราต้องการ ซึ่งขั้นตอนนี้ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ถึงแม้ว่าเราจะเลือกสัดส่วนการลงทุนได้ดี แต่ถ้าเลือกลงทุนในกองทุนที่ไม่ดีก็จะทำให้ไม่ได้ผลตอบแทนดีตามที่ได้วางแผนไว้
- ทำตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด ในระหว่างที่เราลงทุนอยู่จะมีความผันผวนในตลาดทุนที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ แต่เราก็ต้องอดทนและปฏิบัติตามแนวทางที่ได้วางกลยุทธ์ไว้แล้ว
ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์, CFA.
บทความโดย เทอร์ร่า บีเคเค ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์, CFA.
Email : tanapoom@uchicago.edu
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.