กองทุนระดับร้อยล้านพันล้านเขาบริหารกันอย่างไร : ตอนที่ 1 Asset Allocation
เราคงจะสงสัยว่าคนที่มีเงินเยอะๆเขาบริหารจัดการเงินกันอย่างไร เพื่อรักษาความมั่งคั่งให้คงอยู่ในระยะยาว ในบทความนี้เราจะลองไปส่องดูวิธีการบริหารเงินของเหล่ากองทุนที่บริหารเงินให้คนกลุ่มนี้กันครับ หลักการโดยทั่วๆไป การบริหารเงินกองทุนขนาดใหญ่จะต้องมีการทำสิ่งที่เรียกว่า Asset Allocation ซึ่งในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกันครับ
อะไรคือ Asset Allocation?
คือการแบ่งสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างผลตอบแทน และความเสี่ยง ซึ่งการจัดสรรนี้จะต้องคำนึงถึง เป้าหมายในการลงทุน ความเสี่ยงที่สามารถรับได้ และระยะเวลาในการลงทุนของนักลงทุนแต่ละคน
สินทรัพย์ที่จะนำมาทำ Asset Allocation นั้นแบ่งได้เป็นสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง?
สินทรัพย์หลักมักจะถูกแบ่งเป็น 4 ประเภทได้แก่ หุ้น ตราสารหนี้ เงินสด และสินทรัพย์ทางเลือก
- หุ้น (Equity) หมายถึงหุ้นสามัญที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หลักทั้งในไทยและต่างประเทศ (ไม่รวมหุ้นในบริษัทเอกชนที่ไม่ได้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์) โดยยังสามารถแบ่งได้อีกตามภูมิภาค เช่น หุ้นไทย หุ้นเอเชีย หุ้นอเมริกา หุ้นยุโรปเป็นต้น หรืออาจจะแบ่งตามกลยุทธ์การลงทุนเช่นหุ้นคุณค่า หรือหุ้นเติบโต เป็นต้น จุดเด่นของหุ้น : ก็คือมักจะให้ผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าตราสารประเภทอื่น แต่ข้อเสียคือมีความผันผวนสูงมากกว่า
- ตราสารหนี้ (Fixed Income) หมายถึงใบกู้ยืมเงินที่ออกโดยบริษัทเอกชน หรือรัฐบาล เพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชน โดยมีการให้ดอกเบี้ย (เรียกว่า coupon) เป็นระยะๆ และคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนดสัญญา จุดเด่นของตราสารหนี้ : ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยสม่ำเสมอ แต่จะมีความเสี่ยงจากการที่ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ได้
- เงินสด (Cash and Equivalent) หมายถึงเงินสด และเงินฝากธนาคาร หรื่อตราสารระยะสั้นที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว ข้อดีของเงินสด : มีสภาพคล่องสูง สามารถเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ประเภทอื่นได้อย่างรวดเร็ว แต่ข้อเสียคือให้ผลตอบแทนต่ำ
- สินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Assets) หมายถึงสินทรัพย์อื่นที่นอกเหนือจากสินทรัพย์หลักที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ยกตัวอย่างเช่นอสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ เป็นต้น
เมื่อเราจัดสินทรัพย์ออกเป็นประเภทต่างๆแล้ว ก็จะต้องมี กระบวนการในการจัดสรรน้ำหนักการลงทุนให้แก่สินทรัพย์แต่ละประเภท โดยมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงดังต่อไปนี้
- เป้าหมายในการลงทุน (investment goal) ซึ่งนักลงทุนแต่ละคนจะมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน บางคนต้องการที่ให้พอร์ตเติบโตเร็ว บางคนแค่ต้องการที่จะมีรายได้สม่ำเสมอจากดอกเบี้ย สิ่งเหล่านี้จะต้องนำมาคิดในการวางแผนการลงทุนต่อไป
- ความเสี่ยงที่สามารถรับได้ (risk tolerance) การที่เราคาดหวังผลตอบแทนสูงจากการลงทุนนั้นจะต้องคิดอยู่เสมอว่าความเสี่ยงก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งนักลงทุนจะต้องประเมินความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของนักลงทุนเป็นรายๆไปด้วย ยกตัวอย่างเช่นนักลงทุนที่ยังอยู่ในวัยทำงาน ก็จะสามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่า เนื่องจากยังมีรายได้ในอนาคตอีกมาก เทียบกับนักลงทุนที่อยู่ในวัยเกษียณก็จะสามารถรับความเสี่ยงได้น้อยกว่า เนื่องจากไม่มีแหล่งรายได้ในอนาคตนั่นเอง
- ระยะเวลาในการลงทุน (time horizon) นักลงทุนที่มีระยะเวลาในการลงทุนยาว เช่นคนที่พึ่งเริ่มต้นทำงานใหม่ๆและยังไม่มีแผนที่จะใช้เงินรายได้จากการลงทุนนั้นในระเวลาอันสั้น ส่วนนักลงทุนที่มีระยะเวลาในการลงทุนสั้นยกตัวอย่างเช่นคนวัยทำงานในวัยใกล้เกษียณหรือคนที่มีแผนที่จะใช้จ่ายเงินจากการลงทุน ทำให้มีระยะเวลาในการลงทุนสั้นกว่ากลุ่มแรกเป็นต้น
- ข้อจำกัดต่างๆในการลงทุน (constraints) แต่ละคนอาจจะมีความต้องการบางอย่างที่เป็นข้อจำกัดในการลงทุน เช่นบางคนต้องการนำเงินทุนออกมาใช้ก่อนเพื่อส่งลูกไปเรียนต่างประเทศเป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้จะต้องนำมาคิดในการวางแผนการลงทุนเช่นกัน
ในบทความถัดๆไปเราจะมาลงรายละเอียดถึงวิธีการในการทำ Asset Allocation กันครับ
ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์, CFA.
บทความโดย เทอร์ร่า บีเคเค ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์, CFA.
Email : tanapoom@uchicago.edu