" 34 ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยที่เกิดใหม่ลดลงกว่าปีละ 200,000 คน "

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ สังคมสูงวัย (aging society) มาตั้งแต่ปี 2547 และมีท่าที่ที่จะเพิ่มจำนวนของผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่ สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ในปี 2574 โดยประชากรสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนถึง 20% ของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว ซึ่งสถานการณ์แบบนี้คล้ายๆกับที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประชากรสูงอายุเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของผู้สูงวัยนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงวัยในประเทศไทย

จากการพิจารณาภาพรวมของตลาดอสังหาฯ ผู้สูงอายุ TerraBKK Reserch มองว่าสามารถจำแนกประเภทการพัฒนาอสังหาฯได้ 5 ประเภท ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตขึ้นอีกมากใน 5-10 ปีนี้ โดยจะขอนำเสนอในเชิงความแตกต่าง เพื่อให้สามารถพิจารณาความเหมาะสมของการอยู่อาศัยที่แตกต่างกันได้

1. บ้านพักหรือสถานสงเคราะห์คนชรา (Residential Home)

เกิดขึ้นมานานแล้ว และปัจจุบันมีทั้งหมดกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ โดยดำเนินการภายใต้หน่วยงานทางราชการ ให้บริการที่พักสำหรับคนชราที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แต่ไม่มีคนดูแลและยากจน โดยไม่มีความต้องการการดูแลจากพยาบาลวิชาชีพมากนัก

2. สถานรับดูแลผู้สูงอายุหรือสถานบริบาลผู้สูงอายุ (Nursing Home)

อีกหนึ่งประเภทของที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยที่เติบโตขึ้นจนเห็นได้ชัด ในปัจจุบันเกิดขึ้นแล้วกว่า 60 แห่ง โดยจะอยู่ในเมืองใหญ่ที่ใกล้สถานพยาบาล มีการให้บริการทางการแพทย์ สุขภาพ และการดูแล เพื่อผู้สูงวัยที่มีอาการป่วยไม่มากนัก แต่ไม่สามารถอาศัยลำพังอยู่ที่บ้านได้ มีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะทางการพยาบาลดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

เดอะ นิม แคร์ โฮม - คล้ายสถานพยาบาลขนาดย่อม มีบริการจากแพทย์และพยาบาลวิชาชีพดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมเจ้าหน้าที่บริการคอยให้ความช่วยเหลือ

เพอร์เฟ็ค เนิร์สซิ่ง โฮม - บ้านขนาดใหญ่ให้บริการผู้สูงวัยโดยเฉพาะ มีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่คอยให้บริการตลอด 24 ชม.

เออีซี เฮลตี้ เซ็นเตอร์ แอนด์ เนิร์สซิ่ง โฮม - ศูนย์ดูแลผู้สูงวัยทั้งชั่วคราวและประจำ มีบริการกายภาพบำบัดด้วยสระน้ำ มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลบริการตลอด 24 ชม.

3. เซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ (Serviced Apartment)

โดยส่วนใหญ่มักดำเนินการโดยโรงพยาบาล โดยจะมีทำเลติดอยู่กับโรงพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงวัยที่ต้องพักอาศัยในระยะยาวและเข้ารับการรักษาจากโรงพยาลอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มลูกค้าหลักมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่นชาวญี่ปุ่น ที่เข้าสู่ในยุคสังคมสูงวัยสุดยอดเต็มรูปแบบ และนิยมเข้ามาพักรักษาตัวในประเทศไทย

โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท2 - สำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงวัยโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท2 อยู่ในการบริการของโรงพยาบาล โดยเป็นห้องพักเพื่อให้เลือกใช้บริการทั้งแบบชั่วคราวและประจำ

ริเรอิ เซอร์วิส อพาร์ตเม้นท์ - บริษัทให้บริการด้านสุขภาพและการแพทย์จากประเทศญี่ปุ่น ให้บริการเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ พร้อมเจ้าหน้าที่คอยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

วิภาวดีทาวเวอร์ - เซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ในเครือโรงพยาบาลวิภาวดี บริการแบบโรงแรม สำหรับญาติและผู้สูงวัยที่ต้องการอยู่ใกล้สถานพยาบาล

4. บ้านเดี่ยว

โครงการบ้านเดี่ยวสำหรับผู้สูงวัยนั้นยังเติบโตไม่มาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปในรูปแบบของชุมชน (Community) เสียมากกว่า เนื่องจากการพัฒนาบ้านสำหรับผู้สูงวัยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นโครงการระดับพรีเมี่ยม เพราะว่าใช้เนื้อที่มากกว่าโครงการบ้านทั่วไป การออกแบบที่เฉพาะเจาะจงในด้านวัสดุ การจัดแปลนภายในและนอกบ้าน การวางระดับของเครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้บ้านเดี่ยวสำหรับผู้สูงวัย จะเติบโตในรูปแบบของการปรับโครงสร้างบ้านเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เป็นบ้านสำหรับตัวเองในวัยเกษียณ หรือบ้านสำหรับครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกในบ้านเป็นผู้สูงวัย เป็นต้น เหมาะสำหรับครอบครัวใหญ่ที่มีบุคคลดูแลผู้สูงอายุในบ้าน

เวลเนส ซิตี้ - ชุมชนสุขภาพในจังหวัดอยุธยา มีศูนย์ดูแลสุขภาพและบริการทางการแพทย์อื่นๆรองรับ ปัจจุบันเปิดมาถึงเฟสที่ 3 แล้ว

ณุศา มาย โอโซน - บ้านเดี่ยวระดับ Luxury บนที่ดินที่อากาศดีที่สุดอีกแห่งของประเทศไทย (เขาใหญ่) ให้บริการสุขภาพครบวงจร ภายใต้บริษัท PANACEE MEDICAL CENTER

วิลล่า มีสุข - บ้านเดี่ยวสำหรับผู้สูงวัยชั้นดี ตั้งอยู่อำเภอแม่ริม ทำเลที่เป็นพื้นที่พักผ่อนของผู้สูงอายุในระดับโลก 

5. อาคารชุดเพื่อผู้สูงวัย

เป็นที่อยู่อาศัยที่น่าจะเติบโตที่สุดในอนาคต เห็นได้ชัดจากยอดจองอาคารชุดสำหรับผู้สูงวัยที่มีคนอายุ 55 ปีขึ้นไป แห่มาจองกันอย่างรวดเร็ว เหตุผลที่ผู้สูงวัยควรอาศัยอยู่ในอาคารชุดนั้นมีด้วยกันหลายประการ เนื่องจากอาคารชุดเป็นที่พักอาศัยแบบ compact ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อมอยู่แล้ว ทั้งในด้านทำเล บริการ และความปลอดภัย เป็นต้น อาคารชุดส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้พื้นอยู่ในระนาบเดียวกัน ตามหลัก Universal Design ทำให้ไม่เป็นอันตรายและตรงกับหลักการออกแบบที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ พื้นที่ส่วนกลางก็เป็นสวนหย่อมหน้าบ้านสำหรับหย่อนใจ และ มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงวัยได้มากกว่าคอนโดมิเนียมทั่วไป เช่นกรณีที่อุปกรณ์ในห้องชำรุดก็มีช่างประจำโครงการหรือนิติบุคคลคอยดูแล อีกทั้งศักยภาพด้านทำเลที่ตั้งของอาคารชุดที่ไม่ไกลจากสถานที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพยาบาล อาคารชุดจึงเป็นอีกหนึ่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสำหรับผู้สูงวัยที่ไม่มีครอบครัว ไม่ได้อยู่แบบครอบครัวใหญ่ ต้องการอยู่ใกล้กับลูกหลานในเมือง และสามารถดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้น สำหรับอาคารชุดเพื่อผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ควรพิจารณาเลือกอาคารชุดที่มีเจ้าหน้าที่การพยาบาลดูแลตลอดเวลา พร้อมให้การช่วยเหลือกรณีมีเหตุฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีกิจกรรมต่างๆให้เข้าร่วมเพื่อสร้างสังคมให้ผู้สูงวัย ไม่ต้องเหงาอยู่แต่ในห้องพัก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคซึมเศร้า

ริม ลิฟวิ่ง - อาคารชุดตั้งอยู่นครราชสีมา (โคราช) จัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

ลุมพินี วิลล์ ราชพฤกษ์-บางแวก - ห้องชุดสำหรับผู้สูงอายุจะอยู่บริเวณชั้น 4-6 โดยออกแบบให้มีการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุและผู้อยู่อาศัยทั่วไป 

จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาท์ตี้ - อาคารชุดที่ถือว่าจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกและส่วนกลางมาให้อย่างครบครัน เอื้อต่อกิจกรรมของผู้สูงวัย รวมไปถึงกิจกรรมของคนต่างเจเนอเรชั่นที่สามารถทำร่วมกันได้ด้วย นอกจากนั้นในด้านของที่ตั้งโครงการ ยังเหมาะกับครอบครัวที่ลูกหลานยังต้องทำงานในตัวเมือง แต่ก็สามารถกลับมาเยี่ยมพ่อแม่ได้อย่างสะดวกสบาย โดยโครงการประกอบด้วย ส่วนหลัก 3 ส่วน คือ Active Living ส่วนที่พักอาศัย Aged Care Center อาคารสำหรับผู้ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ภายในประกอบด้วยศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบรายวัน (Day Care) และ แบบพักค้างคืน (Nursing Home) คลินิกรักษาโรคทั่วไป และศูนย์กายภาพ Clubhouse & Wellness Center มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อาทิ สปา ฟิตเนส สระว่ายน้ำ และบริการทางการแพทย์เพื่อป้องกัน รักษา และฟื้นฟู ทั้งนี้ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาท์ตี้ (Jin  Wellbeing County) เป็นโครงการล่าสุด ที่กำลังอยู่ในกระแสความสนใจของคนไทย เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ตลาดที่อยู่อาศัยวัยเกษียณในอเมริกา เติบโตถึง 250,00-270,000 ล้านดอลลาร์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุนั้นเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเติบโตของประชากรสูงอายุนั้นมีทีท่าว่าจะเพิ่มจำนวยนมากขึ้นนั่นเอง ในขณะเดียวกันกลับพบว่า ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุนั้น จะมีความยืดหยุ่นและไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมากนัก โดย National Investment Center of the Senior Housing & Care Industry (NIC) หรือ ศูนย์การลงทุนสำหรับอุตสากรรมที่อยู่อาสัยและการดูแลผู้สูงอายุแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่าตลาดของที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 250,000-270,000 ล้านเหรียญ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 22,000 แห่ง มีกว่า 2.9 ล้านคน โดยมีปัจจัยที่ขับเคลื่อนความต้องการตลาดที่อยู่อาศัยผู้สูงวัยอยู่ 3 ปัจจัยหลักๆ ได้เแก่

  • ประชากร - มีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 สหรัฐอเมริกาจะมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปถึง 21% หรือจำนวน 74 ล้านคน ซึ่งไม่แตกต่างกับการคาดการณ์ประชากรสูงอายุในประเทศไทยมากนัก
  • การดูแลด้านความจำ - กลุ่มประชากรที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุ จะให้ความสำคัญกับการดูแลสมองและความจำ อีกทั้งยังมีสถิติของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ถึง 4 ล้านคนในปัจจุบัน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มถึง 13.8 ล้านคนในปี 2050
  • ภูมิศาสตร์ด้านการอยู่อาศัย - โดยกลุ่มผู้สูงวัยมีแนวโน้มว่ามีความต้องการที่อยู่อาศัยกระจายไปจากเมืองใหญ่ๆ โดยจะเริ่มอยู่ห่างจากตัวเมืองมากขึ้น เนื่องจากหลีกหนีความวุ่นวายและต้องการอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ

34 ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยที่เกิดใหม่ลดลงกว่าปีละ 200,000 คน

หนึ่งในตัวบ่งชี้ด้านสังคมผู้สูงอายุคือ “ดัชนีการสูงวัย (Aging index)” ซึ่งเป็นการแสดงการเปรียบเทียบโครงสร้างประชากรระหว่างการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มประชากรวัยเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งจะเป็นกลุ่มประชากรที่มีอัตราการเติบโตทดแทนกัน หมายความว่าเมื่อประชากรวัยเด็กเติบโตจะไปทดแทนการสูญสิ้นของประชากรสูงอายุนั่นเอง ซึ่งการตีความค่าดัชนีคือ เมื่อค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 หมายความว่ามีประชากรสูงอายุน้อยกว่าวัยเด็ก และหากค่าดัชนีเกินกว่า 100 จะหมายความว่าจำนวนประชากรสูงอายุมากกว่าประชากรเด็กนั่นเอง โดยสามารถแบ่งระดับของสังคมสูงวัยได้ ดังนี้

  • สังคมเยาว์วัย (young society) ค่าดัชนีการสูงวัยต่ำกว่า 50
  • สังคมสูงวัย (aged society) ค่าดัชนีการสูงวัยระหว่าง 50-119.9
  • สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (completed aged society) ค่าดัชนีการสูงวัยระหว่าง 120-199.9
  • สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super aged society) ค่าดัชนีการสูงวัยตั้งแต่ 200 ขึ้นไป

ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มสังคมสูงวัย โดยจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทยช่วงปี 2553-2583 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า ของสำนักบริหารงานทะเบียน กรมการปกครอง จำแนกสถิติจำนวนการเกิด อัตราการเกิด และอัตราการเจริญพันธ์ โดยในอดีตช่วงปี พ.ศ.2506-2526 มีจำนวนการเกิดมากกว่า 1 ล้านคน แต่ในปี พ.ศ.2556 มีจำนวนการเกิดเพียงแค่ 800,000 คน และในอีก 20 ปีข้างหน้าจะลดเหลือเพียงแค่ 600,000 คน ซึ่งหมายความว่าจะมีคนวัยทำงานน้อยลงแต่จำนวนประชากรสูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น

13 ปีข้างหน้า 69 จังหวัดในประเทศไทย จะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์และระดับสุดยอด

จากปี 2556 จังหวัดในประเทศไทยส่วนใหญ่ได้เข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยเรียบร้อยแล้ว มีเพียง 9 จังหวัดเท่านั้นที่ยังไม่ก้าวข้ามและยังอยู่ในกลุ่ม สังคมเยาว์วัย แต่ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปี เหลือจังหวัดที่ยังเป็นสังคมเยาว์วัยเพียงแค่ 5 จังหวัด และมีจังหวัดที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เพิ่มอีก 6 จังหวัด เป็นจำนวนทั้งหมด 7 จังหวัด และจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆในทุกๆปี จนในปี พ.ศ.2573 หรืออีกเพียง 12 ปีข้างหน้่า จะมีจังหวัดที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์จำนวน 42 จังหวัด และเข้่าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดจำนวน 27 จังหวัด หรือจะพูดอย่างรวบรัดอย่างง่ายได้ว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์และระดับสุดยอดไปแล้วถึง 89% - เทอร์ร่า บีเคเค

#พร้อมยัง?นโยบายที่อยู่อาศัยสังคมสูงวัย(AgeingSociety)
#รวมแบบบ้านผู้สูงอายุดาวน์โหลดฟรี
#8ไอเดียสร้างสินค้าผู้สูงอายุ
#6มาตรฐานบ้านพักผู้สูงอายุ

บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก