พลิกมอง ‘คุณภาพชีวิตมากกกว่ามูลค่า” สมการ ‘พื้นที่สาธารณะ’ สู่การพัฒนาเมืองยั่งยืน
เรากำลังอยู่ในยุคที่การเติบโตของเมืองกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ไปพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของประชากร ประเด็น “การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ” กลายเป็นแนวทางที่หลายภาคส่วนในหลายจังหวัดให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น เพราะนี่คือทางออกของการรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ดีที่สุด
สิ่งที่ตามมามากมาย คือ การพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพเราต้องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะแค่ไหน? ต้องทำอะไรบ้าง? และใครคือคนที่มีสิทธิในการพัฒนาส่วนนี้?
คุณยศพล บุญสม แห่ง บริษัท ฉมา โซเอน จำกัด ภูมิสถาปัตย์ที่มีความเชี่ยวชาญและสนใจการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Friends of the River (FOR) ที่มีบทบาทในการระดมความคิดเห็นทุกเสียงเพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะของเมือง ตลอดจนเป็นกระบอกเสียงในการขับเคลื่อนชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้มาจุดประกายความคิด และชวนให้เราฉุกคิด เกี่ยวกับประเด็นสำคัญนี้ บนเวทีสัมมนา “TREA TALKS REAL ESTATE 2017” ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่วมกับ TERRA BKK ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจมากมาย
มุ่งที่ ‘คุณภาพชีวิต’ คือการพัฒนาที่แท้จริง
การพัฒนา คืออะไร? คือสิ่งที่คุณยศพลเปิดประเด็น เมื่อมองกรุงเทพฯ ทุกคนเห็นอาคารสวยงาม วัดทุกอย่างเป็น GDP ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ แต่หากมองที่คุณภาพชีวิต คนกรุงเทพฯ กลับอยู่กับอากาศเป็นพิษ, ห้อง 27.5 ตารางเมตร, วิวป่าคอนกรีต, อาหารปนเปื้อน, พื้นที่สีเขียว 3 ตารางเมตรต่อคน และเมื่อเทียบอัตราการเติบโตของสิ่งปลูกสร้างมากมายกับพื้นที่สีเขียว-พื้นที่สาธารณะถือว่าต่ำมาก และแม้พื้นที่สาธารณะที่ให้ประชาชนได้ใช้ กลับถูกล้อมกรอบด้วยข้อจำกัด-กฎห้าม
แต่เมื่อหันกลับมามองชีวิตชาวบ้านดอยตุง ซึ่งแน่นอนว่าดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจคงเทียบไม่ได้กับกรุงเทพฯ แต่คุณภาพชีวิตของพวกเขาตรงข้ามกับชาวกรุงเทพ ทุกคนมีส่วนในการพัฒนา มีส่วนร่วมในการพลิกฟื้นผืนป่า ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ เอื้อประโยชน์ในการทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพพื้นฐานของพวกเขา นี่คือคุณภาพชีวิตของดอยตุงที่เปลี่ยนไปแล้วสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาทุกวันนี้ “ทิ้งใครไว้ข้างหลังบ้าง...มันทำลายหรือทำร้ายใครบ้างหรือเปล่า”
คุณภาพที่ชีวิตแย่ลง เพราะผู้คนกำลังการให้ “มูลค่า” หรือ “คุณค่า” ? เพราะการพัฒนาที่แท้จริง ไม่ได้วัดจากตัวเลข GDP หรืออาคารที่เติบโตอยู่มากมาย แต่ควรมุ่งไปที่การส่งเสริมคุณภาพชีวิต ซึ่งจะเกิดขึ้นจริงได้นั่น ขึ้นอยู่กับว่าคนในพื้นที่ให้ความสำคัญกับอะไร?
ระหว่าง มูลค่า, คุณค่า หรือ คุณภาพชีวิต?
ความล้มเหลวของการพัฒนา อันเกิดจากการแยกส่วน
ความล้มเหลวของการพัฒนานี้ คุณยศพลได้วิเคราะห์ถึงต้นตอย้อนกลับไปถึงการพัฒนา 3.0 จะเห็นได้ว่าเป็นการพัฒนาแบบแยกส่วนกัน (Exclusion) แยกคนออกจากธรรมชาติ ภาครัฐ และเป็นการพัฒนาในลักษณะ Top Down คือ จากรัฐ ลงมาที่เอกชน>>ชุมชน ประชาชน>ธรรมชาติ เกิดการปฏิบัติตามโดยไม่รู้เป้าหมาย เช่น โครงการทางเดินเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น ก่อให้เกิดความความเลื่อมล้ำทางสังคม
ยกตัวอย่างในอดีตคนไทยเคยอยู่ร่วมกับแม่น้ำ ธรรมชาติ แต่ถึงวันนี้กลับไม่รู้วิธีการปรับตัว น้ำกลายเป็นภัยพิบัติ เพราะปัจจุบันการออกแบบพัฒนาไปโดยไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมหรือแสดงทัศนคติ
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความล้มเหลว
1.มองการพัฒนาเมืองอย่างแยกส่วน
2.ไม่มอง ‘เมือง’ เป็นเครื่องมือต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
3.ขาดความรู้ นวัตกรรม เครื่องมือ นโยบาย ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
4.ไม่บูรณาการศาสตร์และกลไกที่เกี่ยวข้อง
5.ไม่มอง ‘ประชาชน’ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ทิ้งคนและธรรมชาติไว้ข้างหลัง
“ความท้าทายและคุณค่ายุค 4.0 ในอนาคตผู้คนจะอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น มีภัยพิบัติที่ต้องรับมือ เราจะมีความท้าทายทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ผู้คนจะอยากมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเมืองในการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ กันมากขึ้น ข้อมูลความรู้กำลังจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศและเมืองต่อจากนี้”
3 ข้อเสนอเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อการพัฒนาเมือง
อย่างไรก็ตามคุณยศพลได้เสนอแนวทางในการแปรเปลี่ยนการพัฒนาแบบเดิมอย่าง Exclusion มาเป็น Inclusive เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริงและยั่งยืนไว้ 3 ประการ ได้แก่
1.Help to Collaborate : รู้จักนำภูมิปัญญาความรู้ในท้องถิ่นมาสร้างคุณค่า ขอเพียงเข้าใจ “คุณค่า” ที่ทุกคนต่างมี ก็สามารถสร้างเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ในชุมชนได้ เช่น การนำความรู้ด้านเครื่องจักรสานในชุมชนมาสร้างศาลาได้ 2.From Top Down to Engagement : รัฐ เอกชน ประชาชนควรมาอยู่บนโต๊ะเดียวกัน ในการนำเสนอความคิด ความฝัน ข้อจำกัด เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันอย่างเข้าใจ
3.From CSR to Investment : อนาคตไม่ได้มาด้วยตัวเอง แต่เกิดจากลงทุนระยะยาว ที่มาจากความร่วมมือของทุกคน ภาครัฐ เอกชน ประชาชน ก่อเกิดนวัตกรรมพัฒนาเมือง เหมือนอย่างที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก และภรรยาร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิวิจัยช่วยรักษาโรคและฟื้นฟูภัยพิบัติต่างๆ
การหล่อรวมเป็นหนึ่งหรือที่เรียกว่า Inclusive ทั้งในเชิงทัศนคติและบวนการของคนและธรรมชาติ หุ้นส่วนในการพัฒนายังคงเป็นคนกลุ่มเดิม (คือ รัฐ เอกชน ประชาชน ธรรมชาติ) หากแต่การเลือกหุ้นส่วนก็เหมือนเลือกคู่ชีวิต เพียงแต่ทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานของ 1.ความเท่าเทียมกัน (ระหว่างรัฐ เอกชน ประชาชน ชุมชน) 2.แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน 3.ร่วมคิดร่วมตัดสินใจ 4.เคารพในความแตกต่างหลากหลาย
“มันเป็นคำถามสำคัญที่จะถามตัวเองว่า ต่อจากนี้เราจะพัฒนาแบบไหน พัฒนาเพื่อตักตวง พัฒนาเพื่อไม่เบียดเบียน พัฒนาเพื่อจรรโลงให้เจริญขึ้น สุดท้ายอยู่ที่พลังของพวกเราทุกคนที่มาเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาร่วมกัน”
แท้จริงแล้ว “เมือง” คือ “ระบบนิเวศน์” ไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้าง ต้องสร้างเมืองเพื่อคนและธรรมชาติ ให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน = การพัฒนาเพื่อความเจริญอย่างแท้จริง
ข้อมูลจากงาน TREA TALKS REAL ESTATE 2017 วันที่ 29 มิถุนายน 2560
บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก