สงครามมันสมอง การแย่งชิง แรงงาน ข้ามประเทศ
สงครามครั้งสุดท้ายที่มวลมนุษยชาติได้เผชิญ ผ่านมากว่า 70 ปีแล้ว ปัจจุบันอำนาจในกำมือของผู้ที่เหนือกว่านั้นไม่ใช่ยุทโธปกรณ์อีกต่อไป แต่เป็นการแย่งชิงทรัพยากรข้อมูลและเครือข่าย ดังที่เราจะเห็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ของโลกในยุคนี้เป็น เช่น Mark Zuckerberg เจ้าพ่อ Social Network หรือบุคคลทรงอิทธิพลที่สุดในจีนอย่าง Jack Ma เจ้าพ่อ E-Commerce ยักษ์ใหญ่ Alibaba ทั้งสองต่างเป็นผู้ครอบคลองทรัพยากรและเครือข่ายข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดด้วยกันทั้งสิ้น
แต่เรากำลังจะพูดถึงสงครามการแย่งชิงที่จะเกิดขึ้นแน่ๆในอีก 20 ปี ข้างหน้า ซึ่งก็คือ การแย่งชิงทรัพยากรบุคคล นั่นเอง
หลายผลงานวิจัยพูดเป็นทำนองเดียวกันว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรทั่วโลกจะมีระดับการศึกษาสูงขึ้น สิ่งที่เป็นตัวการของการเปลี่ยนแปลงคือ ความสามารถในการเข้าถึงเครือข่ายข้อมูลอย่างอินเตอร์เน็ต ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วในอนาคตจะมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในการเข้าถึงข้อมูลถึง 3 GB ต่อวันเลยทีเดียว เห็นได้ชัดจากสารานุกรมออนไลน์อย่าง Wikipedia ที่เปิดตัวปี 2544 ได้มีจำนวนบทความอัพลงเพิ่มขึ้นถึง 3.5 ล้านคนในปี 2554 การเปิดกว้างในการเข้าถึงคลังความรู้นี้จะทำให้ประชากรโลกได้รับการศึกษาระดับประถม จากในปัจจุบัน 88% จะเพิ่มขึ้นเป็น 91% และจบมัธยมศึกษาจาก 50% เป็น 55% ในอีก 20 ปีข้างหน้าFuture trends and market opportunities in the world's largest 750 cities : How the global urban landscape will look in 2030, Oxford Economics
Brain gain & Brain drain
ปี 2030 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า เป็นช่วงปีที่คาดการณ์ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งในด้านประชากร เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และที่สำคัญคือ การจ้างงาน โดยคาดว่าจะมีการเปลี่ยนพนักงานถึง 58.6 ล้านคนในช่วงปี 2010-2030 เนื่องจากมีการเกษียณอายุของกลุ่ม Babyboomers เป็นจำนวนมาก แต่ตำแหน่งงานที่ว่างอยู่กว่า 90 ล้านตำแหน่ง และเป็นงานใหม่ไปซะ 1 ใน 3 แต่ตำแหน่งงานเหล่านี้จะไม่ถูกปล่อยทิ้งว่างไว้นาน เนื่องจากจะถูกทดแทนด้วยแรงงานจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเป็นแรงงานที่มีทักษะใหม่ๆ และสูงขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน แต่ถึงจะมีตำแหน่งว่างล้นเหลือขนาดนี้ก็ยังมีหลายประเทศที่ยังขาดแคลนแรงงานอยู่เหมือนกัน นั่นก็เพราะว่าตำแหน่งงานที่ขาดแคลนนั้นมีคุณสมบัติสูงกว่าดิม เช่นในกลุ่มธุรกิจประเภทวิศวกรรมและการดูแลสุขภาพ
ภาพจาก : Trend Compendium 2030, Roland Berger
สิ่งที่ตามมาก็คือ การโยกย้ายของแรงงาน หรือ มันสมอง ของแต่ละประเทศ โดยทุนมนุษย์ที่ทรงคุณภาพจะโยกย้ายไปสู่ประเทศที่มีสภาพแวดล้อมการทำงานและการอยู่อาศัยที่ดีกว่า ทำให้ภาวะ สมองไหล นั้นเกิดขึ้นจนเป็นสถานการณ์ระดับนานาชาติ โดยคาดว่าจะมีการเติบโตของจำนวนคนที่ทำงานระหว่างประเทศถึง 50% ในอีก 20 ปี ทำให้องค์กรใหญ่ๆหลายแห่งทั่วโลก เริ่มวางกลยุทธ์การจ้างงานใหม่ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งเท่านั้น โดยการกระชับความสัมพันธ์และให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อดึงดูดแรงงานกลุ่มใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดในอนาคต เพื่อรองรับการขยายขีดจำกัดด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการแข่งขันในโลกธุรกิจ
สิ่งที่มนุษย์ทำไ้ด้ดีกว่า AI มีแค่การขาย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Oxford ได้เปรยไว้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ อัลกอริทึมของระบบคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์จะมีศักยภาพที่สามารถทดแทนตำแหน่งงานในภาคอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 97-99% โดยพัฒนาการของ AI นี้ สามารถทำให้ระดับของอสังหาริมทรัพย์เป็นมากกว่าการ “ขาย” และอาชีพอย่างนายหน้าหรือเซลล์ก็คงจะต้องหนาวๆร้อนๆกันบ้างล่ะทีนี้ ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและพฤติกรรมผู้บริโภค ที่จะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงาน, ทักษะ และรูปแบบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นประกอบกับการโยกย้ายของแรงงาน ทำให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว รายงานของ McKinsey (2014) ชี้ว่าประชากรเมืองที่สามารถสร้างรายได้ 1.6 พันล้านคน จะสามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ดีภายในปี 2025 หนึ่งในเทรนด์ที่เป็นสิ่งใหม่ก็คือ อสังหาริมทรัพย์แบบ sharing economy ซึ่งสามารถสร้างรายได้ถึง 3.3 แสนล้านเหรียญ โดยเฉพาะการแบ่งพื้นที่สำนักงานในช่วงเวลาที่ไม่มีการใช้งานมาสร้างรายได้ ซึ่งในอนาคตอันใกล้ก็จะมากินส่วนแบ่งในตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างแน่นอน
มีหลายประเด็นเหลือเกินที่จะเข้ามากระทบกับโครงสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการที่ AI จะสามารถทำงานได้รวดเร็ว ปลอดภัย แม่นยำกว่ามนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มของระบบเศรษฐกิจทำให้การจ้างงานและโครงสร้างองค์กรเปลี่ยน โดยทักษะที่จะถูกมองหามากขึ้นในอนาคตจะเป็นกลุ่มงานบริการ งานเชิงเทคนิค งานด้านสุขภาพ เป็นต้น
ภาพจาก : http://www.news.com.au/
บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก