เจ้าหนี้-ลูกหนี้ รู้ไว้ไม่เสียหาย ! ทรัพย์สินอะไรยึดได้-ยึดไม่ได้ หากโดนฟ้องร้องต้องทำอย่างไร ?
เจาะลึกกฎหมายลูกหนี้ เจ้าหนี้ โดนฟ้องร้องต้องทำอย่างไร ทรัพย์สินอะไรอายัดไม่ได้ แล้วถ้าไม่มีทรัพย์สินอะไรเลยจะทำอะไรได้บ้าง ?
ถือเป็นประเด็นที่สร้างความเปลี่ยนแปลงกับกลุ่มลูกหนี้และเจ้าหนี้พอสมควร หลังมีการประกาศใช้กฎหมายใหม่ในการห้ามอายัดเงินดือนของลูกหนี้ หากลูกหนี้มีเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 10,000 บาท ซึ่งทางกรมบังคับคดีก็ได้ออกมาแจ้งว่า กฎหมายการอายัดทรัพย์ฉบับใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแค่วันที่ 4 กันยายน 2560 เป็นต้นไป (อ่านข่าว ประเดิมกฎหมายใหม่ ลูกหนี้เงินเดือนไม่เกิน 2 หมื่นบาท สั่งอายัดเงินเดือนไม่ได้)
วันนี้เราจึงจะมาเจาะลึกรายละเอียดของกฎหมายยึดทรัพย์ฉบับใหม่กันว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกับทุก ๆ คน ไม่เฉพาะแค่กลุ่มลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เท่านั้น เพราะในปัจจุบันมีช่องทางที่ช่วยให้เราทำธุรกิจหรือซื้อสิ่งของต่าง ๆ ได้สะดวกและง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต หรือสินเชื่อต่าง ๆ ทำให้นำไปสู่การเป็นหนี้อย่างไม่รู้ตัว
จะโดนยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เกิดจากอะไรบ้าง ?
กรณีที่ทรัพย์สินของเราจะถูกยึด หรือโดนอายัดนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ และเจ้าหนี้ดำเนินการฟ้องร้องจนชนะคดีแพ่ง แล้วหลังจากนั้นลูกหนี้ไม่ไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด เวลานั้นศาลจึงจะออกหมายบังคับคดีให้มีการยึดทรัพย์ หรืออายัดทรัพย์ของลูกหนี้ได้
ทั้งนี้ มีเพียงเจ้าพนักงานของกรมบังคับคดีเท่านั้น ที่เป็นผู้ที่มีหน้าที่เข้ามายึด หรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไป ซึ่งจะนำทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ยึดได้นั้นไปทำการยื่นคำขอต่อศาลให้มีคำสั่งขายทอดตลาด เพื่อจะได้นำเงินที่ขายของได้มาชำระหนี้ให้โจทก์หรือเจ้าหนี้ต่อไปนั่นเอง
แล้วมีทรัพย์สินอะไรบ้าง ? ที่เจ้าหนี้สามารถยึด หรืออายัดได้
ถึงแม้ว่าเจ้าหนี้จะชนะคดีแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสามารถยึดทรัพย์ของลูกหนี้ได้ทุกอย่าง ดังนั้น เรามาดูกันมามีอะไรบ้างที่เจ้าหนี้สามารถยึดได้โดยชอบธรรม หรืออะไรบ้างที่หากยึดไปแล้วผิดกฎหมาย
ทรัพย์สินที่สามารถยึดได้
- ของมีค่า เครื่องประดับทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น เพชร พลอย นาฬิกา และของสะสมที่มีมูลค่า
- บ้าน ที่ดิน และถึงแม้ว่าจะยังติดจำนองอยู่ก็สามารถที่จะยึดได้เช่นกัน
- รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ และไม่ได้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ
- เงินในบัญชีเงินฝาก หรือเงินปันผลจากการลงทุน ๆ
- ทรัพย์สินที่เป็นการลงทุน อาทิ หุ้น ทองคำ ตราสารหนี้ หรือ กองทุน
- เงินเดือนจากการทำงานของลูกหนี้ที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ แต่ต้องมีรายได้เกินกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ถึงจะยึดได้
ทรัพย์สินที่ไม่สามารถยึดได้
- ของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ ที่มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท (หากเกินสามารถถูกยึดได้)
- เครื่องมือในการประกอบอาชีพของลูกหนี้ ที่มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 100,000 บาท (หากเกินสามารถถูกยึดได้)
- ทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย เช่น รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ที่ติดไฟแนนซ์
- สัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ ที่จำเป็นต้องใช้ทำหน้าที่ช่วยเหลือแทนอวัยวะของลูกหนี้
- เงินเดือน ค่าจ้าง บํานาญ บําเหน็จ เบี้ยหวัดของลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ จะไม่สามารถทำการยึดหรืออายัดได้ หรือหากเป็นเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ แล้วเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท ก็ยึดหรืออายัดไม่ได้เช่นกัน
- เงินเบี้ยเลี้ยงชีพ
- รายได้ที่บุคคลอื่นมอบให้เพื่อเลี้ยงชีพ แต่ต้องมีจำนวนไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน (หากเกินสามารถถูกยึดได้)
- บำเหน็จ หรือรายได้อื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน ของพนักงานที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ ที่มีจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท (หากเกินสามารถถูกยึดได้)
- เงินฌาปนกิจสงเคราะห์
ทำอย่างไรได้บ้าง ? เมื่อกำลังจะโดนยึดทรัพย์
หากเราถูกฟ้องร้องโดยเจ้าหนี้ และกำลังจะถูกยึดทรัพย์นั้น มีตัวเลือกหลายทางที่สามารถจะทำได้ตามนี้
1. ชำระหนี้
เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพราะเมื่อปัญหาเกิดขึ้นมาจากการที่เราไปติดค้างชำระหนี้ แน่นอนว่าปัญหาก็สามารถที่จะแก้ได้ด้วยการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ให้ครบเช่นเดียวกัน
2. ต่อสู้คดี
การต่อสู้คดีในชั้นศาลก็เป็นอีกทางเลือกที่สามารถทำได้ หากเรามีเหตุผลที่เพียงพอ ก็มีโอกาสที่ศาลจะช่วยต่อรองให้ได้รับผลประโยชน์ที่ดีขึ้น รวมทั้งหากหนี้ดังกล่าวมาด้วยความไม่เป็นธรรม ก็สามารถที่จะยื่นฟ้องเจ้าหนี้คืนได้ ซึ่งศาลจะสั่งระงับการบังคับคดีเอาไว้ชั่วคราว เพื่อให้เราต่อสู้คดีต่อไป
3. ขอประนอมหนี้
ลูกหนี้มีสิทธิที่จะขอประนอมหนี้กับเจ้าหน้าที่ หากทรัพย์สินที่โดนยึดไปยังไม่มีการขายทอดตาด
4. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าทรัพย์สินที่ถูกยึดนั้นถูกต้องหรือไม่
กรณีที่ลูกหนี้แพ้คดีและถึงขั้นตอนการยึดหรืออายัดทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ก็ควรจะตรวจสอบด้วยว่าทรัพย์สินที่ถูกยึดไปนั้น ดำเนินการถูกต้องตามกระบวนกันหรือไม่ และมีการประเมินราคาต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ เพื่อที่จะได้ไม่เสียประโยชน์ในส่วนนี้
ถ้าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดเลย จะทำยังไง ?
ในกรณีที่พนักงานบังคับคดีได้เริ่มกระบวนการบังคับคดีแล้ว (ภายในเวลา 10 ปี นับแต่วันพิพากษา) แต่ในช่วงเวลานั้นลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่สามารถยึด หรืออายัดได้เลย พนักงานก็จะไม่สามารถดำเนินการยึดทรัพย์อะไรได้
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าลูกหนี้จะรอดตัวไปได้ตลอด เพราะหากในอนาคตเกิดพบว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินที่สามารถยึดได้ขึ้นมา พนักงานบังคับคดีก็สามารถดำเนินการยึด หรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวได้ทันที โดยไม่มีกำหนดเวลาหมดอายุจนกว่าลูกหนี้จะชำระเงินครบตามจำนวน
เพราะฉะนั้นก่อนจะสร้างหนี้ขึ้นมา ก็ควรจะคิดให้ดี ๆ ว่าเรามีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้หรือไม่ เพราะหากโดนฟ้องร้องขึ้นมา โอกาสที่จะชนะคดีนั้นน้อยเหลือกเกิน รวมถึงการที่จะพ้นภาระไม่ต้องจ่ายหนี้ที่ก่อไว้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยเช่นกัน
สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กรมบังคับคดี หรือโทร. 0 2881 4999
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด